วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แท็บเล็ตลดช่องว่างการศึกษา ครอบคลุมเด็กชาติพันธุ์


(16 สิงหาคม 2555 - โรงเรียนบ้านวังใหญ่ จ.กาญจนบุรี) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเสวนาวิชาการ เรื่อง ”แท็บเล็ตช่วยลดช่องว่างทางสังคมได้อย่างไร”  นายอธิวัฒน์ พันธ์ประชา ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาญจนบุรี เขต 1 กล่าวว่า พื้นที่ จ.กาญจนบุรี มีเด็กกลุ่มชาติพันธุ์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ สพป.กาญจนบุรี เขต 3 ซึ่งมีพื้นที่ติดชายแดนพม่ามีกลุ่มนักเรียนชาติพันธุ์ถึง11,322 คน คิดเป็น 45% ของนักเรียนทั้งหมด 25,190 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนชั้น ป.1 จำนวน 3,294 คน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ 1,604 คน คิดเป็น 43.35% โดยเด็กกลุ่มนี้ก็ได้รับแท็บเล็ตในโครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย เช่นเดียวกับเด็ก ป.1 ทั่วประเทศ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ที่โรงเรียนบ้านวังใหญ่ ได้รับแท็บเล็ต 25 เครื่อง ตามจำนวนนักเรียน ป.1 ที่มีอยู่

นายสุชิน เพ็ชรักษ์ นักวิชาการด้านการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ (ทวิภาษา) กล่าวว่า การที่เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับแท็บเล็ตเช่นเดียวกับเด็กไทย ทำให้เด็กไม่ถูกดีดออกจากการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ตามหลักสิทธิมนุษยชน และเห็นว่าควรให้นำแท็บเล็ตกลับบ้าน เพื่อพ่อแม่ผู้ปกครองจะได้เรียนรู้ด้วยและแท็บเล็ตจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว

ดร.ซินเธีย หม่อง ผอ.ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาส กล่าวว่า ในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 200,000 กว่าคน โดยในจำนวนนี้ 40% เป็นเด็กในวัยเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ และศูนย์พักพิงผู้อพยพ ซึ่งการที่เด็กกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งได้รับแท็บเล็ต ถือเป็นโอกาสดีที่จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน โดยได้เข้าถึงองค์ความรู้ตามการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และมักเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม การใช้แท็บเล็ตของเด็กกลุ่มนี้ยังติดปัญหาเรื่องของภาษาที่ใช้ในแท็บเล็ต ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ทั้งนี้เชื่อว่าปัญหาในจุดนี้คงจะเป็นอุปสรรคในระยะหนึ่ง แต่ต่อไปการเรียนในแท็บเล็ตอาจจะเป็นกลไกในการฝึกฝนให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาไทยได้รวดเร็วขึ้น



นายไมเคิล อัลเบิร์ต ผู้จัดการองค์กรไรท์ ทู เพลย์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เดินมาถูกทางแล้ว เพราะเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ช่วยสร้างทักษะการค้นคว้า และเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าการสอนแบบท่องจำเพียงอย่างเดียว ซึ่งโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะรอบตัวเราเต็มไปด้วยเทคโนโลยีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ให้เด็กได้เรียนรู้จากเทคโนโลยีตั้งแต่เล็ก เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นในอนาคต


นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากการเสวนาพบว่าแท็บเล็ตสามารถตอบโจทย์ทางการศึกษาได้ 2 ประเด็นคือ การเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้และคุณภาพการศึกษา ซึ่งเมื่อได้แท็บเล็ตมาแล้ว ไม่ใช่ใช้แท็บเล็ตสอนแบบเดิมๆ ไม่เช่นนั้นการศึกษาก็จะย่ำอยู่กับที่ เราต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ บูรณาการเรียนการสอน และออกแบบการเรียนรู้ให้ได้ อย่างไรก็ตามแท็บเล็ตไม่ใช้เครื่องมือที่เราสร้างขึ้นเพื่อความหรูหรา หรือบอกว่าเราไฮเทค แต่มันจะบอกว่าเราจะปฏิวัติการเรียนรู้ทางการศึกษา

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้าในการจัดสรรแท็บเล็ตนั้น ภายในเดือน ส.ค.นี้ จะสามารถจัดสรรแท็บเล็ต 400,000 เครื่อง ได้แล้วเสร็จ และจากนั้นจะจัดสรรในรอบต่อไปอีก 400,000 เครื่อง โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาออกแบบประมวลผล และสรุปปัญหาการใช้แท็บเล็ตหากมีเพื่อมาปรับปรุงต่อไป

Photo by JJ





ดูภาพถ่ายเพิ่มเติมได้ที่ Facebook.com/go6TV

ไม่มีความคิดเห็น: