วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

น้ำลดตอผุด! เงินหาย2หมื่นล้าน มาร์คทำสัญญาขาย1.9ล้านตัน ขายจริงแค่2พันตัน


กลุ่มผู้อกหักส่งออกข้าวจากการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ผ่านมา เสนอ "กิตติรัตน์" ตรวจสอบสัญญาย้อนหลัง สงสัยรัฐเสียประโยชน์ เหตุเอกชนไม่มารับมอบข้าว เผย "เอ็มทีฯ" ได้รับสัญญาขายข้าวกว่า 1.9 ล้านตัน แต่ส่งออกจริงแค่ 2,000 ตัน ตั้งคำถามส่วนที่เหลือหายไปไหน

แม้ว่านางพรทิวา นาคาศัย กับนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี จะกลายเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับอดีตรองนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ผลการอนุมัติขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลเพื่อการส่งออกไม่น้อยกว่า 1.9 ล้านตัน มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท ให้กับบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ผู้ส่งออกข้าวในเครือเม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ อ.ม่วงสามสิบ ที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาท ยังไม่จบ

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้มีผู้ส่งออกข้าวที่ผิดหวังจากการเปิดประมูลดังกล่าว ได้เรียกร้องให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบสัญญาการซื้อขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลย้อนหลัง ในสมัยของนางพรทิวา นาคาศัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ระบายข้าวไปแล้ว 3-4 ล้านตัน จากเดิมที่มีสต๊อกอยู่ในระดับ 5-6 ล้านตัน ในเดือนมกราคม 2553

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ทยอยระบายสต๊อกข้าวเรื่อยมาจนถึงลอตสุดท้ายที่เปิดระบายในเดือนสิงหาคม 2553 และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เนื่องจากเป็นการเปิดประมูลเฉพาะกลุ่ม ส่งผลให้มีบริษัทผู้ส่งออกข้าวเพียง 4 รายเท่านั้นที่สามารถซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลได้ ประกอบด้วย บริษัทเอเชีย โกลเด้นท์ไรซ์ บริษัทนครหลวงค้าข้าว บริษัทข้าวไชยพร และบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด จำกัด

แหล่งข่าวกล่าวว่า 3 บริษัทแรกถือเป็นท็อปไฟฟ์ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของประเทศ และมีความสามารถที่จะเข้าถึงข้าวในสต๊อกรัฐบาลมาทุกสมัย ส่วนบริษัทเอ็มทีฯนั้นน่าสนใจมากกว่า เนื่องจากเป็นบริษัทขนาดเล็กและไม่เป็นที่รู้จักในวงการ แต่คว้าสัญญาซื้อขายข้าวไปได้ถึง 1.9 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าที่ 3 บริษัทข้างต้นได้รับ แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว เอ็มทีฯจะไม่สามารถหาเงิน 690 ล้านบาท มาวางค้ำประกันสัญญาซื้อขายข้าวทั้ง 1.9 ล้านต้นได้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ต่อมามีข้อน่าสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายข้าว ที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในขณะนั้น ได้อนุมัติให้เอ็มทีฯซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลได้อีกเป็นครั้งที่ 2 ในปริมาณ 450,000 ตัน มูลค่า 5,000 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่การทำสัญญาข้าวลอตแรก 1.9 ล้านตันก็แสดงให้เห็นแล้วว่า บริษัทไม่มีความสามารถในการหาเงินมาวางค้ำประกันได้

นอกจากนี้ ยังมีข้อน่าสังเกตว่าการขายข้าวให้เอ็มทีฯทั้ง 2 ลอต เป็นราคาที่เท่ากันทั้ง 2 ครั้ง ในราคาตันละ 12,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ราคาข้าวในตลาดขณะนั้นเคลื่อนไหวอยู่ในระดับตันละ 13,000-14,000 บาท นั่นหมายความว่า นอกจากจะให้โอกาสกับบริษัทนี้แล้ว ยังให้ขายข้าวในราคาที่รัฐขาดทุนด้วย

"การขายข้าวลอตที่ 2 ไม่ได้จบลง แค่นี้ เพราะมีกระแสข่าวว่า มีการนำเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของวิทยาลัยโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาให้บริษัทนี้วางค้ำประกันค่าข้าว แต่เรื่องก็เงียบไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่"

ล่าสุด ได้มีการตรวจสอบข้อมูลการส่งออกข้าวของคณะกรรมการตรวจข้าว-คณะกรรมการสาขาข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่า บริษัทเอ็มทีฯมีการส่งออกข้าวในระดับที่ต่ำ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการได้รับสัญญาซื้อขายข้าวจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา โดยปี 2553 มีปริมาณส่งออกข้าวไปเพียง 480 ตัน และช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 ส่งออก 1,430 ตัน รวมมีปริมาณการ ส่งออกข้าวไม่น่าเกิน 2,000 ตัน

รัฐบาลชุดที่ผ่านมาเปิดระบายข้าวใน สต๊อกครั้งสุดท้ายในช่วงเดือนสิงหาคม 2553 คาบเกี่ยวต้นปี 2554 มีปริมาณข้าวส่งออกประมาณ 4 ล้านตัน และหากคำนวณการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 600,000-700,000 ตัน จะต้องใช้เวลาประมาณ 5 เดือน (150 วัน) หรือส่งออกหมดไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ตามที่บริษัทผู้ส่งออกข้าวที่ได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลขอขยายระยะเวลารับมอบข้าวจาก 90 เป็น 150 วัน

"ตรงนี้เราอยากให้คุณกิตติรัตน์เข้ามาตรวจสอบการส่งออกข้าวของบริษัทที่ได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลในสมัยที่ผ่านมา ว่ามีการทำสัญญา การค้ำประกัน ทยอยรับมอบข้าวกันอย่างไร และมีการทิ้งสัญญาไม่มารับมอบข้าวหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้ว รัฐบาลจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ หากเกิดกรณีไม่ยอมวางค้ำประกัน หรือไม่มารับมอบข้าว มีการลงโทษหรือไม่ ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปแบบนี้" แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนกรณีการเปิดรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดใหม่ที่กำหนดไว้ว่า จะรับจำนำข้าวขาว 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาท ล่าสุดได้มีการเรียกประชุมเพื่อชี้แจงนโยบายการรับจำนำข้าวกับทุกภาคส่วน มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ปรากฏที่ประชุมไม่สามารถกำหนดแนวทางและวิธีการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/2555 ได้ เพียงแต่ปรับเลื่อนระยะเวลาเริ่มโครงการจำนำจาก 15 เป็น 7 ตุลาคมนี้แทน

ไม่มีความคิดเห็น: