วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ไขข้อข้องใจ "สไนเปอร์ - ปืนยิงนก?"




ตำรวจกองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย หรืออรินทราช 26 สาธิตการใช้ปืนซุ่มยิงระยะไกล  โดยกระบอกนี้เป็นปืนไรเฟิล ยี่ห้อเรมิงตัน 308 ปืนจากกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ใช้กระสุนขนาด 5.56 มิลลิเมตร ในการฝึกทบทวนยุทธวิธีประจำปีของหน่วยอรินทราช

พลซุ่มยิงหรือสไนเปอร์ ระดับครูฝึก  อธิบายคำจำกัดความ คำว่า สไนเปอร์ มีที่มาจากนายพรานอังกฤษที่ซุ่มยิงนกสไนป์ ซึ่งมีประสาทสัมผัสไวและรวดเร็ว และต่อมาถูกนำมาปรับใช้ยุทธวิธีของทหารและตำรวจ ในการพรางตัวและซุ่มยิงแบบหวังผลระยะไกลมากกว่า 100 เมตรขึ้นไป โดยสไนเปอร์จะทำงานร่วมกับบัดดี้คือพลชี้เป้า  และปืนที่นำมาใช้ยิงส่วนใหญ่เป็นปืนติดลำกล้อง เช่น M 16 ติดลำกล้อง / ซิกซาวเออร์ เอสเอสจี 3000 / เฮคเลอร์แอนด์คอช PSG1 และการปฏิบัติหน้าที่ของ 1 ชุดพลซุ่มยิง มีศักยภาพสามารถยับยั้งการเคลื่อนไหวของทหารได้หนึ่งกองพล นับว่าเป็นเครื่องมือทางยุทธวิธีทำให้ฝ่ายตรงข้ามขาดเสรีในการปฏิบัติ

พลซุ่มยิงหรือสไนเปอร์  เป็นที่กล่าวขวัญถึงมากเมื่อถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการกระชับวงล้อมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อช่วงปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และผลการชันสูตรพลิกศพส่วนใหญ่ระบุว่าเสียชีวิตด้วยกระสุนความเร็วสูง ดังที่ปรากฏภาพและคลิปภาพ

หลักฐานที่ตอกย้ำว่า มีการสไนเปอร์ในการขอคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุม ซึ่งขัดแย้งให้คำให้สัมภาษณ์ของผู้บัญชาการทหารบก เมื่อเว็บไซต์ประชาไท เผยแพร่เอกสารคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการและผู้อำนวยการ ศอฉ.เป็นผู้ลงนามในเอกสารลงวันที่ 17 เมษายน 2553  เรื่อง 'ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รักษาความปลอดภัย ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่' ลงนามโดย พล.ท.อักษรา เกิดผล หน.สยก.ศอฉ.

โดยเนื้อหาส่วนขั้นตอนการปฏิบัติการ ระบุว่า  ในกรณีพบความผิดซึ่งหน้าในลักษณะผู้ก่อเหตุใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธยิงผู้ก่อเหตุ เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติได้ แต่หากผู้ก่อเหตุอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมจนอาจทำให้การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้งดเว้นการปฏิบัติ ยกเว้นในกรณีที่หน่วยได้จัดเตรียมพลแม่นปืนที่มีขีดความสามารถเพียงพอให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ นอกจากนี้หากหน่วยพบเป้าหมายแต่ไม่สามารถทำการยิงได้ เช่น เป้าหมายอยู่ในที่กำบัง ฯลฯ หน่วยสามารถร้องขอการสนับสนุนพลซุ่มยิง (Sniper) จาก ศอฉ.ได้ ขณะที่การเบิกจ่ายกระสุนปืนซุ้มยิงจากสรรพาวุธทหารบก ถึง 3,000 นัด และคืนเพียง 880 นัด

การใช้สไนเปอร์ กระสุนจริง ศพผู้ชุมนุม และผู้บาดเจ็บ ล้วนเป็นผลมาจากยุทธวิธีการผลักดันกระชับพื้นที่ผู้ชุมนุมตามปฏิบัติ ศอฉ. ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้ลงนาม (เอกสารลับ) ยังเป็นคำถามว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ และผ่านมากกว่า 2 ปีแล้ว คำถามนี้ยังไร้คำตอบ          

ขอขอบคุณ Voice TV                  

ไม่มีความคิดเห็น: