ความแตกดังโพล๊ะ! เมื่อศาลอุทธรณ์ในสหรัฐฯ (US 2nd Cir.) ได้ตัดสินยืนยันว่า คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ให้ประเทศไทยแพ้คดี 'ค่าโง่ทางด่วนดอนเมือง' นั้น กฎหมายสหรัฐฯ ให้การรับรองและมีผลผูกพันคู่กรณี!
เรื่องนี้เกิดขึ้้นสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และเกิดคดีประเทศเยอรมันยึดเครื่องบินพระที่นั่ง แทนที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จะใช้วิธี "ชดใช้หนี้" ไปเสียให้จบ กลับแข็งขืนยืนยันนำคดีขึ้นสู่ศาล จนเรื่องเงียบไปเพราะนึกว่า "จบแล้ว" จนเกิดความแตกว่า ที่แท้นายอภิสิทธิ์ นายกษิต และรัฐบาลอภิสิทธิ์สมัยนั้นเอาเรื่องไปเล่นกันต่อที่สหรัฐอเมริกาจนเป็นที่มาของการพ่ายแพ้คดีในวันนี้
อ.วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฏหมายมหาชนอิสระ ได้แสดงความเห็นเรื่องการนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลสหรัฐจนมีคำพิพากษาออกมาอย่างน่าสนใจดังนี้
ศาลสหรัฐฯ ยืนยัน ไทยติดหนี้ ‘ค่าโง่ทางด่วน’
คนไทยคงจำ ‘คดีค่าโง่ทางด่วน’ (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ที่ ประเทศไทยถูกบริษัทต่างชาติ ‘วาลเทอร์ เบา’ (Walter Bau) ฟ้องรัฐบาลไทยว่า ให้เขามาทำทางด่วน แต่ทำเขาเสียหายขาดทุน สุดท้ายไทยแพ้คดี ถูกสั่งให้จ่ายค่าโง่ประมาณ 1,200 ล้านบาท
คดีค่าโง่ ‘ภาคนี้’ น่าสนใจเพราะต่างจากคดีค่าโง่ ‘ภาคอื่น’ ซึ่งมักจบลงที่ ‘ศาลไทย’ แบบ ‘เงียบๆ งงๆ’ เพราะศาลไทยเคยบอกว่า เจ้าหน้าที่ไทยและบริษัทเอกชนร่วมกันโกง สัญญาเป็นโมฆะ แม้เอกชนอาจเสียหาย แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ต้องจ่าย
แต่คดีค่าโง่ ‘ภาคดอนเมืองโทลล์เวย์’ นี้ พิเศษตรงที่มี ‘สนธิสัญญา’ ที่ดึงคดีไปถึง ‘อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ’ ซึ่งเป็นเหมือนกรรมการตัดสินคดีแทนศาล
‘คณะอนุญาโตตุลาการ’ อาจไม่ค่อยเกรงใจรัฐบาลไทย และคงไม่บอกว่าอะไรๆ ก็โมฆะไปหมด สุดท้าย ไทยแพ้คดี ถูก ‘คณะอนุญาโตตุลาการ’ ชี้ขาดให้จ่ายค่าเสียหายให้ ‘วาลเทอร์ เบา’ ประมาณ 1,200 ล้านบาทบวกดอกเบี้ย
หนี้รัฐบาลไทย กระเทือนถึง ‘เครื่องบินพระที่นั่งส่วนพระองค์’ ?
พอรัฐบาลไทยไม่ยอมจ่าย กลุ่มเจ้าหนี้ของ ‘วาลเทอร์ เบา’ ซึ่งล้มละลาย (ซึ่งไม่แน่อาจมีบริษัทหรือธนาคารชื่อดังที่ตั้งในกรุงเทพรวมอยู่ด้วย) ก็พยายามตามยึดทรัพย์สินแทนหนี้ ลามปามไปจนขอให้ศาลเยอรมนีสั่งอายัด ‘เครื่องบินพระที่นั่งส่วนพระองค์’ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งบินไปจอดที่เยอรมนีเมื่อปีที่แล้ว
ศาลเยอรมนีกล้าสั่งอายัด เพราะมองว่า ‘เครื่องบินพระที่นั่งส่วนพระองค์’ ซึ่งไม่ได้ใช้ในภารกิจราชการอาจถือเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทยที่ยึดได้ ในขณะที่กฎหมายไทยอาจมีแนวคิดเรื่อง ‘ทรัพย์สินส่วนพระองค์’ ‘ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์’ และ ทรัพย์สินประเภทอื่นของรัฐบาล ที่ต่างกันไป
เหตุการณ์นี้น่าสนใจมากทั้งในแง่การเมืองและกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงมีพระราชปณิธานพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ระงับข้อพิพาท (อ่านแถลงการณ์ได้ที่ http://astv.mobi/AgWO7Xa )
น่าคิดว่า ‘รัฐบาลหน้าไหน’ จะกล้ารับพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์มาแก้ปัญหาที่รัฐบาลเป็นผู้ก่อ ?
ตอนนั้น รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ จึงได้นำหลักประกัน (letter of guarantee) มูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท ไปวางไว้ต่อศาลที่เยอรมนี เพื่อถอนการอายัดเครื่องบินพระที่นั่ง แล้วสู้คดีต่อ (ซึ่งก็มีคำถามทางกฎหมายว่า การทำแบบนี้ทำให้รูปคดีเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะตามปกติบุคคลฝ่ายที่สามซึ่งสุจริต ย่อมควรอ้างสิทธิของตนด้วยตนเอง)
ถอนเครื่องบินได้แล้วไม่พอ รัฐบาลไทยก็ฟ้องกลับไปฝ่ายเจ้าหนี้ตัวดี ที่บังอาจไปขอศาลยึดเครื่องบินพระที่นั่ง
ถอน ‘เครื่องบิน’ ที่ ‘เยอรมนี’ เสร็จ จะถูกยึดที่ ‘สหรัฐฯ’ ต่ออีก ?
คดียังไม่จบ เพราะรัฐบาลไทยยังไม่ยอมจ่ายหนี้ง่ายๆ เพราะหากจ่ายไปก็มีเรื่องร้อนย้อนกลับมาหาคนผิด ในกรมโน้น กระทรวงนี้ รัฐบาลนั้น ว่าค่าโง่นี้ ท่านได้แต่ใดมา ต่างจากค่าโง่อื่น ที่ ‘ศาลฎีกาไทย’ บอกว่าเป็นโมฆะอย่างไร ?
ประชาชนก็ได้แต่สงสัยว่า แล้วใครจะรับผิดชอบ ตอนนี้ดอกเบี้ยค่าเสียหายก็เพิ่มพูนไปเรื่อยๆ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 ศาลอุทธรณ์ในสหรัฐฯ (US 2nd Cir.) ได้ตัดสินยืนยันว่า คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ให้ประเทศไทยแพ้คดี 'ค่าโง่ทางด่วนดอนเมือง' นั้น กฎหมายสหรัฐฯ ให้การรับรองได้
พูดให้เข้าใจโดยง่าย ก็คือ กรณี ‘เครื่องบินพระที่นั่ง’ ที่ ‘เยอรมนี’ นั้นจบไปแล้วเฉพาะในส่วนตัวเครื่องบิน แต่หนี้ยังไม่หายไปไหน ดังนั้น หากรัฐบาลไทยไม่ยอมจ่ายหนี้ ทรัพย์สินของรัฐบาลไทยในนิวยอร์ก (บางอย่าง) ก็อาจถูกศาลสหรัฐฯสั่งยึดได้ เพื่อไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้
จึงน่าคิดต่อว่า หาก ‘เครื่องบินพระที่นั่งส่วนพระองค์’ ไปจอดที่นิวยอร์ก และไม่ได้ใช้ในภารกิจราชการ ศาลสหรัฐฯ จะถือว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทยที่ยึดได้หรือไม่ ?
เจ้าหนี้ต่างชาติ ตามยึดทรัพย์ไทยไปทั่วโลก ?
หลายท่านอาจ ‘งง’ บอกว่า คดียึดเครื่องบินที่เยอรมนี ไฉนมาโผล่ที่สหรัฐฯได้
ตอบแบบทั่วไปว่า กระบวนพิจารณาใน ‘เยอรมนี’ และ ‘สหรัฐฯ’ แม้มีที่มาจาก คำชี้ขาดฉบับเดียวกันโดยคณะอนุญาโตตุลาการชุดเดียวกัน แต่ไม่ได้ถือเรื่องเดียวกันเสียทีเดียว และการบังคับคดียึดทรัพย์แบบนี้ ทำได้ในหลายที่ เพราะมีสนธิสัญญารองรับอยู่กว่า 140 ประเทศทั่วโลก
ดังนั้น ตราบใดที่รัฐบาลไทยไม่ยอมจ่าย คดีตามยึดทรัพย์รัฐบาลไทย จึงอาจไปโผล่ที่ประเทศอื่นซึ่งมีสนธิสัญญารองรับอยู่ ก็เป็นได้
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไปยึดได้ทุกอย่างทันที เพราะยังมีขั้นตอนและข้อยกเว้น เพียงแต่หนทางต่อสู้เหลือน้อยเต็มที
ค่าโง่ที่พอกพูน?
คดีทั้งหมดไปถึงไหน ? ตกลงไทยฟ้องเอาผิดเจ้าหนี้ที่มายึดเครื่องบินได้หรือไม่ ? ไทยเอาภาษีไปจ่ายค่าทนายไปเท่าไหร่ ? ทนายที่ไทยจ้างในคดีพระวิหาร เคยเป็นทนายฟ้องไทยมาหรือไม่ (ซึ่งถ้าเก่งจริงก็ไม่ผิดอะไร) ? รัฐบาลไทย ไม่ยอมบอกประชาชนเลย
ล่าสุด มีข่าวว่า ครม. อนุมัติงบ 157 ล้านบาท เพื่อเป็น ‘เงินประกันศาลในการต่อสู้คดี’
ค่านี้ก็ไม่รู้ว่าค่าอะไรอีก ถ้าร้อยกว่าล้านบาท เดาว่าอาจเป็นค่าทนายและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคดี เพราะหนี้พันกว่าล้าน ยังไม่หายไปไหน
ที่แน่ๆ ‘ค่าโง่’ อาจจ่ายได้เรื่อยๆ แต่ ‘ความโง่’ จะไม่หายไป หากรัฐบาลไทย ไม่ให้ ‘ความจริงครบๆ’ กับประชาชน !
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น