โดย: สรกล อดุลยานนท์
มติชนออนไลน์
นึกไม่ถึงจริงๆว่าจะได้รับเกียรติจากพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงบทความเรื่อง”ทางถอยของมาร์ค”ในเว็ปไซต์ของพรรค
“ประชาธิปัตย์”ตั้งชื่อว่า”มติชนคืออะไร?”
อ่านจบแล้วรู้สึกงงๆ สงสัยว่า”ประชาธิปัตย์”แยกแยะไม่ออกหรือว่าข้อเขียนของคอลัมนิสต์คนหนึ่งคือทัศนะส่วนบุคคล
เป็นความเห็นของผมคนเดียว ไม่เกี่ยวกับ”องค์กร”
ถ้าไม่เข้าใจก็น่าจะถามนักหนังสือพิมพ์เก่าในพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีอยู่หลายคน เขาจะอธิบายเรื่องนี้ได้ดี
ที่แปลกใจก็คือตามปกติพรรคการเมืองมักจะจำกัดวงความขัดแย้ง ด้วยการเอ่ยชื่อคนเขียนไปเลย ไม่ขยายวงสู่องค์กร
แต่การชี้แจงของ”ประชาธิปัตย์”ครั้งนี้ตั้งใจที่จะเหวี่ยงแหไปที่องค์กร ทั้งที่เป็นทัศนะส่วนตัวของคอลัมนิสต์คนหนึ่งที่เขียนใน”มติชน”รายวัน 1 ชิ้นต่อสัปดาห์
ไม่อยากจะตีความว่า”ประชาธิปัตย์”มีเป้าหมายลึกๆอะไรหรือเปล่า??
จึงตั้งใจ”ขยายวง”
และเพื่อให้เข้าใจความไม่พอใจของพรรคประชาธิปัตย์ ผมขอนำข้อความทั้งหมดมาตีพิมพ์โดยไม่ตัดทอน
“จากการที่บทความ “สถานีคิดเลขที่ 12” เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2554 ได้กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคร่วมรัฐบาลว่า เป็นการกระทำเพื่อ “ตัวเอง” ก่อน“ประเทศชาติ” เพื่อจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และได้กล่าวหาว่าเป็น “รอยตำหนิ” สำหรับการเป็น ”นักประชาธิปไตย” นั้น
พรรคประชาธิปัตย์ ขอยืนยันว่าการจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้ง หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 ล้วนแล้วแต่เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมาย และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกครั้ง โดยการเสนอชื่อคุณอภิสิทธิ์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ว่าพรรคพลังประชาชนในขณะนั้นได้เสนอคุณสมัคร และคุณสมชายเป็นนายกรัฐมนตรีสำเร็จ พรรคประชาธิปัตย์ก็เคารพมติสภาฯในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยการปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในสภาฯ ตามหน้าที่ที่พึงมี พึงปฏิบัติ
การกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้จัดตั้งรัฐบาลภายหลังจากที่บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะวิกฤติว่าเป็น“รอยตำหนิ”ในขณะที่อีกพรรคการเมืองยังคงดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อที่จะคงอำนาจรัฐโดยการเสนอบุคคลอื่นที่ไม่ได้มาจากพรรคของตนเอง และเป็นพรรคที่สมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี พฤติกรรมดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็น “รอยตำหนิ” สำหรับความเป็น ”นักประชาธิปไตย” ในมุมมองของมติชนหรือ ?
พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่เป็นสถาบันทางการเมือง ยินดีที่จะรับคำวิพากษ์ วิจารณ์ หากเป็นไปโดยบริสุทธิ์ และเป็นกลาง แต่สื่อมวลชนเองในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในสังคมไม่น้อยไปกว่ากัน หากปราศจากความสำนึกต่อการปฏิบัติหน้าที่ ขาดความเป็นกลาง หรือไม่มีความเป็นธรรมต่างหาก ที่เป็น “รอยตำหนิ” ในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”
จากคำชี้แจงดังกล่าวทำให้รู้ว่า”เนื้อหา”ที่”ประชาธิปัตย์”ไม่พอใจนั้นน่าจะมาจากช่วงท้ายของบทความ
“.....เส้นทางการเมืองของ”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”น่าจะเดินไปได้ด้วยดี
ไม่ว่าจะชนะหรือพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง
ถ้าเขาไม่ก้าวเดินพลาดครั้งใหญ่ที่ยอมรับการได้มาซึ่งอำนาจจากการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
ยอมให้กระทรวงใหญ่กับพรรคขนาดกลาง เพื่อจะได้เป็น”นายกรัฐมนตรี”
เหมือนจะคิดถึง”ตัวเอง”ก่อน”ประเทศชาติ”
รอยตำหนินี้เองที่ทำให้”อภิสิทธิ์”ขาดความสง่างามในเส้นทางประชาธิปไตย
มีคนเคยบอกว่าเราไม่สามารถเลือกเกิดได้
แต่เราเลือกที่จะเป็นได้
“อภิสิทธิ์”ได้เป็น”นายกรัฐมนตรี”ก็จริง
แต่เขามี”รอยตำหนิ”สำหรับความเป็น”นักประชาธิปไตย”..
(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1307175992&grpid=&catid=02&subcatid=0207)
....................
คำถามเชิงเปรียบเทียบของพรรคประชาธิปัตย์ว่ากรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก จากพรรคเพื่อแผ่นดินเป็น”นายกรัฐมนตรี”
ในทัศนะของผม ยังไม่ถึงขั้น”รอยตำหนิ”เรื่อง”นักประชาธิปไตย”ครับ
แต่เป็นเรื่องการคิดถึง”ตัวเอง”ก่อน”ประเทศชาติ”
เพราะถึงขั้นอยากเป็นรัฐบาลจนยอมยกเก้าอี้”นายกรัฐมนตรี”ให้พรรคการเมืองอื่น
ถ้าไม่อยากได้”อำนาจ”จนขาสั่น คงไม่มีพรรคการเมืองไหนทำกัน
เหมือนกับในอดีตที่พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงว่าถ้าชนะเลือกตั้งจะให้”พิชัย รัตตกุล”หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีและสนับสนุนหลักการนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
แต่พอชนะเลือกตั้งก็อ้าง”ข้อมูลใหม่” แล้วเซ็นชื่อสนับสนุนพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่”ประชาธิปัตย์”ยอมให้กระทรวงใหญ่กับพรรคขนาดกลางโดยไม่คิดว่าจะบริหารประเทศได้หรือไม่
นี่ก็คือ การคิดถึง”ตัวเอง”ก่อน”ประเทศชาติ”
“สุวัจน์ ลิปตพัลลภ”เพิ่งให้สัมภาษณ์เมื่อวันก่อนว่ารัฐบาลชุดนี้ขยับอะไรไม่ได้เพราะปล่อยให้พรรคเล็กบริหารกระทรวงใหญ่
“การเมืองที่ผ่านมามันเพี้ยน กระทรวงใหญ่ไปอยู่ในมือพรรคเล็ก พรรคใหญ่ที่เป็นนายกฯไม่มีกระทรวงใหญ่แล้วจะเดินหน้าไปได้อย่างไร”
ถ้าคิดถึงความรับผิดชอบต่อการบริหารประเทศ ไม่คิดเพียงว่าจะเป็น”รัฐบาล”ให้ได้
พรรค 165 เสียงอย่าง”ประชาธิปัตย์”คงไม่ยอมปล่อยกระทรวงมหาดไทย คมนาคม พาณิชย์ ให้พรรคขนาด 30 เสียง(ในวันร่วมรัฐบาล)
ส่วนเรื่อง”รอยตำหนิ”ของความเป็นนักประชาธิปไตยนั้น เรื่องใหญ่คือ”วิถี”ในการจัดตั้งรัฐบาล
ข้ออ้างเรื่องใช้มือส.ส.ในสภาเลือก”อภิสิทธิ์”เป็นนายกรัฐมนตรีเป็น”คาถา”ที่”ประชาธิปัตย์”ใช้มาตลอดเมื่อมีคนกล่าวหาว่า”จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร”
“ประชาธิปัตย์”ไม่เคยยอมเปิดปากพูดเรื่องเบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้
ไม่เคยปฏิเสธว่า”ไม่มีจริง”
แต่จะอ้าง”สภา”ทุกครั้ง
อย่าลืมว่าสมญานาม”รัฐบาลเทพประทาน”ไม่ได้มาจากสายลม
แต่มาจาก”ข้อเท็จจริง”ที่นักข่าวการเมืองทุกคนรู้กันดี
เช่นเดียวกับสมญานามว่ารัฐบาล”เส้นใหญ่ผัดซิอิ๊ว”
................................
ย้อนอดีตกลับไปวันที่ 6 ธันวาคม 2551
พรรคประชาธิปัตย์นัดแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลที่โรงแรมสุโขทัย เวลา 18.00 น.
ก่อนจะเลื่อนมาเป็น 18.45 น.
เพราะการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่สิ้นสุด
นายเทพไท เสนพงศ์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุไอเอ็นเอ็น ตอนประมาณ 16.00 น.ว่ากำลังประชุมร่วมกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ แต่บอกสถานที่ไม่ได้
เหตุที่บอก”สถานที่”ไม่ได้ เพราะสถานที่นั้นคือบ้านหลังหนึ่งในกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์
ตามข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับระบุว่าเวลา 16.00 น. แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้เข้าไปประชุมร่วมกับพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น
คนที่ร่วมประชุมประกอบด้วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ นายเทพไท เสนพงศ์ นายเนวิน ชิดชอบ นายสุชาติ ตันเจริญ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
มีรายงานข่าวว่านักการเมืองหลายคนไป”ห้องประชุม”ไม่ถูก ทุกคนจึงต้องจอดรถส่วนตัวที่ปั๊มปตท. หน้าค่ายทหาร แล้วขึ้นรถตู้ของทหารเข้าไปด้วยกัน
อย่าแปลกใจที่”ชุมพล ศิลปอาชา”หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาปราศรัยที่สุพรรณบุรีเมื่อวันก่อนว่า”พรรคชาติไทยถูกกลั่นแกล้งให้ถูกยุบพรรค เพราะมีความต้องการให้ไปร่วมรัฐบาลกับอีกพรรคหนึ่ง แบบนี้ไม่มีความชอบธรรม”
คำว่ามี”ความต้องการให้ไปร่วมรัฐบาลกับอีกพรรคหนึ่ง”อธิบายเบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ได้เป็นอย่างดี
หรือล่าสุดที่”ราเชล ฮาร์วีย์” ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศไทยเพิ่งเขียนรายงานเรื่อง "Thai military′s political past looms over elections" (บทบาททางการเมืองในอดีตของกองทัพไทย ปรากฏอยู่อย่างลางๆ เหนือการเลือกตั้ง)
เขาระบุชัดเจนเลยว่า”2 ปีภายหลังการรัฐประหาร กองทัพได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง โดยมีหลักฐานระบุว่ากองทัพเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการประสานงานจัดตั้งรัฐบาลชุดที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี”
หรือการสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของ”ไพโรจน์ สุวรรณฉวี”ก็พุดถึงการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
การยอมให้”กองทัพ”เข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย”ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้”ของพรรคประชาธิปัตย์ คือ “รอยตำหนิ”ในระบอบประชาธิปไตย
นักการเมืองคนไหนที่ยอมรับการรัฐประหาร ไม่ใช่”นักประชาธิปไตย”
นักการเมืองคนไหนที่ยอมรับให้”กองทัพ”มามีบทบาทจัดตั้งรัฐบาล
ก็ไม่ใช่”นักประชาธิปไตย”เช่นกัน
................................
เป็นความจริงที่การยกมือในสภาฯเพื่อเลือก”นายกรัฐมนตรี”เป็นกติกาตามรัฐธรรมนูญ
เหมือนกับการประมูลโครงการก่อสร้างว่าใครการเสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะ
เป็น”กติกา”เหมือนกัน
แต่การทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิด”บนโต๊ะ”
การคอรัปชั่นเกิดจากกระบวนการ”ก่อน”การยื่นซองประมูล
ถ้ามีการใช้ผู้มีอิทธิพลข่มขู่คู่แข่งเพื่อให้”ฮั้ว”หรือไม่ให้ยื่นซองประมูลสู้
การประมูลนั้นถือว่าไม่โปร่งใส ต่อให้ยื่นซองราคาต่ำสุดตาม”กติกา”ก็ตาม
การจัดตั้งรัฐบาลก็เช่นกัน
“โทนี่ แบลร์”อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคยบอกว่าศิลปะการเป็นผู้นำไม่ได้อยู่ที่การพูดคำว่า”ใช่”
แต่อยู่ที่การพูดคำว่า”ไม่”
หรือที่”สตีฟ จ็อบส์”เคยบอกว่าการตัดสินใจที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่อยู่ที่คุณจะทำอะไร แต่เป็นการตัดสินใจว่าจะไม่ทำอะไร
”อำนาจ”นั้นเป็นสิ่งที่เย้ายวนที่สุด
คำถามที่สำคัญสำหรับ”นักการเมือง”ทุกครั้งที่"อำนาจ"ลอยมาใกล้มือ ก็คือ “วิถี”ที่ได้มานั้น”ถูกต้อง”หรือไม่
ในอดีต ตอนที่”อภิสิทธิ์”เป็นโฆษกรัฐบาล เพียงแค่”ชวน หลีกภัย”นายกรัฐมนตรีดึงพรรคชาติพัฒนาเข้ามาเสียบแทบพรรคความหวังใหม่
เขายังยอมรับกับการฉีกสัตยาบรรณของพรรคชาติพัฒนาไม่ได้เลย
วันนั้น“อภิสิทธิ์”เลือกที่จะตอบว่า”ไม่”
แต่ในปี 2551 เมื่อมี”อำนาจนอกระบบ”เข้ามาช่วยจัดตั้งรัฐบาลให้”ประชาธิปัตย์”
และถ้าสำเร็จ “อภิสิทธิ์”จะได้เป็น”นายกรัฐมนตรี”
ไม่มีคำว่า”ไม่”หลุดจากปากของเขาเลย
นี่คือ ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
“อภิสิทธิ์”เคยบอกว่า”การมีรัฐประหารทุกครั้งเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ของการมีรัฐประหารครั้งต่อไป”
ดังนั้น การปล่อยให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารทุกครั้ง
...จึงเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ของการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารครั้งต่อไป
และนี่คือ คำอธิบายอย่างละเอียดเรื่อง “รอยตำหนิ”สำหรับความเป็น”นักประชาธิปไตย”ของ”อภิสิทธิ์”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น