วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เลือกตั้งโคตรพ่อโคตรแม่?? "มีชัย" เสนอคิดคะแนน "โหวตโน+โนโหวต" สกัดเพื่อไทย




เผย “มีชัย ฤชุพันธุ์” เสนอในเวทีสัมมนาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ให้นำโหวตโนมาคำนวณด้วย ชี้ เป็นเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิ ระบุจะทำให้สังคมมีทางออกมากขึ้น

กรณีที่มีการระบุถึงคะแนนของผู้ประสงค์ไม่เลือกใคร หรือ โหวตโน ในมาตรา 88 และ 89 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 นั้น เมื่อมีการตรวจสอบข่าวย้อนหลัง พบว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้เสนอในการสัมมนาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ว่า ควรแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดฐานคะแนนเสียงของ ส.ส.เพื่อให้คะแนนโนโหวตมีผลทางกฎหมาย โดยเฉพาะช่องไม่ลงคะแนน เพราะการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คะแนนโนโหวตสูงมาก แต่ไม่มีผลทางกฎหมาย กลายเป็นเพียงแค่บัตรเสียเท่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า จะต้องแก้กฎหมายให้ ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งต้องได้คะแนนสูงกว่าคะแนนโนโหวต หากไม่ผ่านต้องมีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ได้ตัวแทนที่ประชาชนยอมรับมากที่สุด

“ถ้าได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนโนโหวต จะเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างไร เพราะคะแนนดังกล่าวเป็นเจตนารมณ์ของประชาชนที่ใช้สิทธิแสดงความไม่เห็นด้วยกับตัวผู้สมัคร โดยส่วนตัวเชื่อว่า การเขียนไว้จะทำให้สังคมมีทางออกมากขึ้น” นายมีชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเสนอของ นายมีชัย ทำให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่สนับสนุน อย่างไรก็ตาม นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ แสดงความกังวลว่า หากบัญญัติไว้เช่นนั้น อาจจะเป็นการเปิดช่องทาง ให้มีการรณรงค์โนโหวต จนทำให้ได้ ส.ส.ไม่ครบ 400 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ เราจะแก้ปัญหาอย่างไร ขณะที่ นายสำราญ รอดเพชร เสนอว่า ถ้าจะให้คะแนนโนโหวตมีผลทางกฎหมาย ต้องนำคะแนนโนโหวตทั้งหมดมาเปรียบเทียบกับคะแนน ส.ส.ทั้งหมดของประเทศ หากมีคะแนนน้อยกว่าคะแนนโนโหวต ต้องมีการเลือกตั้งใหม่

ด้าน นายณรงค์ โชควัฒนา กล่าวว่า เห็นด้วยที่ให้คะแนนโนโหวตมีผลทางกฎหมาย และจะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเล็กมีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น และขอเสนอว่า ผู้สมัครคนใดที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าคะแนนโนโหวต ควรตัดสิทธิ์ผู้สมัครคนดังกล่าวออกจากพื้นที่ไปเลย เพราะถือว่าประชาชนไม่ยอมรับแล้ว และยังเสนอในส่วนของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งว่า หากนักการเมืองคนใดถูกเพิกถอนสิทธิ ด้วยข้อหาการทุจริต ไม่ควรถูกจำกัดสิทธิเพียง 5 ปี แต่ควรเพิกถอนสิทธิตลอดชีวิต เพราะการจับคนโกงไม่ใช่เรื่องง่าย จึงควรลงโทษให้หนักให้หมดอาชีพนักการเมืองไปเลย

ไม่มีความคิดเห็น: