วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

"ท่านเปา" สอนวิธี "ยิงม็อบ" ถูกกฏหมาย


เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1รอ.) พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1รอ.) เป็นประธานจัดกิจกรรมเสวนา แนวทางการปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่รักษาความสงบภายใต้ พ.ร.บ.มั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ม็อบในประเทศไทยมีพัฒนาการขึ้นมาก และมีค่าใช้จ่ายในการชุมนุม หากมีการชุมนุม 400 คนต้องใช้เงินประมาณ 2 แสนบาทต่อวัน เพื่อจ่ายค่ารถและค่าอาหาร ม็อบยุคใหม่มี 3 องค์ประกอบคือ แกนนำ แนวร่วม และกองกำลังที่เพิ่งเกิดจากปี 2546-2547 ส่วนแกนนำมีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.แบบเปิดเผยตัว 2.แบบไม่เปิดเผยตัว แต่สั่งได้ ซึ่งคนสั่งอาจอยู่ไกลอีกซีกโลกก็ได้ และ 3.แบบไม่เปิดเผย แต่สนับสนุนเรื่องเงินและข้อกฎหมาย ส่วนแนวร่วมมีอยู่ 3 ประเภทคือ 1.แฟนพันธุ์แท้ 2.พวกว่างก็มา ไม่ว่างก็ไม่มา และจะไม่ค้างคืน และ 3.ไม่ได้มา แต่เป็นกองเชียร์ ส่วนการชุมนุมขณะนี้ยังเป็นไปด้วยความสงบ ยังไม่พบอาวุธ แต่การที่คน 200 คนมาปิดถนน มันน่ารำคาญ มีคนตั้งคำถามว่าตำรวจไม่ทำอะไรสักอย่าง

ด้าน พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า จากการสอบสวนมือยิงเอ็ม 79 จึงรู้ว่างานของดีเอสไอหนักและเสี่ยงอันตรายมากขึ้น เพราะการชุมนุมมีเงินสนับสนุน แต่ละครั้งที่มีจ้างขว้างระเบิดจะได้ 1 หมื่นบาท ถึงมือผู้ขว้างระเบิด 5 พันบาท ส่วนการยิงเอ็ม 79 ใส่ศูนย์ราชการได้ 5 หมื่นบาท นอกจากนี้พบข้อมูลยังมีการฝึกมือยิงระเบิดเอ็ม 79 กว่า 300 คนในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมาเราใช้เงินไปกับภัยคุกคามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้งบประมาณไป 1.4 แสนล้านบาท แต่ภัยคุกคามที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง ยังไม่เห็นว่าจะจบได้ หลังวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ไม่ว่าใครขึ้นมา จะมีอะไรตามมาแน่นอน หลังวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ให้นับถอยหลังและเตรียมไว้เลย

ขณะที่นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา ให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวกับเจ้าหน้าที่ ว่า การปฏิบัติขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และต้องเปรียบเทียบสัดส่วนของภัยที่จะเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถที่จะป้องกันตัวได้ เป็นไปตามกฎหมายอาญา มาตรา 68 เมื่อมีภัยคุกคามถึงบุคคลใดก็สามารถป้องกันตัวได้ เช่น 1.กรณีคนร้ายถือปืนเข้ามาก็ยิงได้ 2.กรณีมีการยึดอาวุธของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ แต่เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ก็สามารถป้องกันตัวเองได้ตามความเหมาะสม

นายภัทรศักดิ์กล่าวว่า 3.กรณีผู้ชุมนุมล้อมรถและยึดอาวุธเจ้าหน้าที่ รวมถึงทำร้ายทหารจนถึงขั้นปางตาย ขั้นตอนแรกต้องมีเครื่องมือให้พร้อม มีกระสุนยาง เพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ถ้าไม่สามารถระงับได้ ก็ใช้กระสุนจริง โดยยิงไปในจุดที่ไม่ให้อันตรายถึงชีวิต 4.กรณีการบุกค่ายทหาร อย่างแรกที่ต้องพิจารณาคือการใช้มาตรการเบา โดยใช้กุญแจมือ หรือเชือกมัดตัว ใครก็ตามที่บุกเข้าไปในเขตต้องห้าม ส่วนการยิงปืนขึ้นฟ้าทำได้เพื่อข่มขู่ แต่การชี้แจงทำความเข้าใจก่อนเป็นเรื่องสำคัญ

" หากทำ 2 กรณีแล้วไม่ได้ผล ก็ต้องดูว่าใครเป็นคนนำ มีความจำเป็นต้องจัดการกับคนนำ หรือควบคุมตัวไว้หรือไม่ โดยในค่ายทหารมีอาวุธยุทโธปกรณ์ ก็เป็นอันตรายในการนำอาวุธไปก่อเหตุ เพราะฉะนั้นให้เจ้าหน้าที่ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ หากบุกยึดได้ ก็จะเป็นปัญหาต่อกลไกความน่าเชื่อของรัฐ " นายภัทรศักดิ์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: