วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

นักวิชาการชี้ ปราศัย ปชป. แยก รปส. "ติดลบ"


หมายเหตุ - รองศาสตราจารย์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แสดงความเห็นกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค นำทีมเปิดเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งที่บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อค่ำวันที่ 23 มิถุนายน มีเนื้อหาเน้นเหตุการณ์สลายการชุมนุมของ กลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ราย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง

"...มิหนำซ้ำยังอาจเป็นผลลบในหมู่ผู้ที่ทำงานด้านปรองดองและผู้ที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า..."

การปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ที่ราชประสงค์ ไม่ใช่จุดพลิกผันของการหาเสียงแน่ ที่ไม่สามารถเป็นจุดพลิกผันได้ เพราะเนื้อหาที่นำเสนอทั้งหมดเป็นเรื่องที่เคยพูดกับประชาชนมาหมดแล้ว รวมทั้งประเด็นกล่าวหาในช่วงหาเสียงครั้งนี้

สิ่งที่เพิ่มเติมคือ การพยายามทำเรื่องนี้ให้สะเทือนใจด้วยการเล่าว่า นายอภิสิทธิ์ร้องไห้ทั้งคืน ในวันที่ 10 เมษายน 2553 และการร้องไห้บนเวทีของนาย สุเทพ นอกจากนั้น มีการเสนอวาทกรรมที่ว่ามาช่วยกันถอนพิษทักษิณ ดูแล้วไม่น่าจะเป็นประเด็นที่จุดขึ้น เพราะคนได้ทำความเข้าใจเชิงเหตุผลกันมามากแล้ว จุดอ่อนที่สำคัญๆ ของการปราศรัยครั้งนี้ของประชาธิปัตย์ อันดับแรก คือการเลือกสถานที่ที่ผิด เพราะ ในเชิงสัญลักษณ์เท่ากับต้องการท้าทาย ตอกย้ำและ ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง รวมทั้งทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ

ส่วนการแก้ต่างให้กับตนเองและพวกที่เพิ่มเติมขึ้นมาเช่น "ที่ราชประสงค์ไม่มีคนตาย" คนมีวิจารณญาณทั้งหลายก็ย่อมรับไม่ได้

ขณะที่ผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตย่อมโกรธมากขึ้นการพูดแบบที่เคยพูดมาแล้วหลายครั้งว่าประชาชนและทหารถูกคนชุดดำฆ่าตายทั้งนั้น ไม่มีใครเชื่อแน่เพราะขัดกับข้อเท็้จจริงอีกมากมายที่หลายฝ่ายนำเสนอไปแล้ว

ส่วนที่นายอภิสิทธิ์บอกว่าร้องไห้ทั้งคืน ในวันที่ 10 เมษายนนั้น ไม่ทราบว่าร้องไห้ด้วยเหตุผลอะไร แน่ แต่นายอภิสิทธิ์ควรทราบด้วยว่า มีประชาชนอีกมากมายที่ร้องไห้ไปอีกนาน นานกว่านายอภิสิทธิ์

น่าเสียดายที่นายอภิสิทธิ์ไม่ฟังคำทักท้วงของใครๆ และยังคงไปปราศรัยที่ราชประสงค์ด้วยเนื้อหาที่แย่กว่าที่ผ่านๆ มาเสียอีกด้วย จึงยิ่งทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติแก้ยากยิ่งขึ้นไปอีก เพียงเพราะความต้องการให้เกิดการพลิกผันในการหาเสียงเลือกตั้งของนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์

ผมประเมินว่า ความพยายามจะพลิกกระแสของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้จะล้มเหลว ในเวลาสั้นๆ คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร เข้าใจว่า นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ทำอะไร และเมื่อเป็นที่ชัดเจนว่าการปราศรัยที่ราชประสงค์ไม่ประสบความสำเร็จดังคาด และมิหนำซ้ำยังอาจเป็นผลลบในหมู่ผู้ที่ทำงานด้านปรองดองและผู้ที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ถึงเวลานั้นผู้ที่จะรู้สึกเสียดายที่สุดก็คงจะเป็นนายอภิสิทธิ์นั่นเอง

สำหรับวาทกรรม "แก้พิษทักษิณ" หรือ "ถอนพิษทักษิณ" ผมเชื่อว่าจุดไม่ติดแน่ ปัญหาของประเทศที่ต้องสูญเสียประชาธิปไตยกันไป สูญเสียระบบยุติธรรม และสูญเสียการมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ มีเสถียร ภาพไป ต้นเหตุสำคัญอันหนึ่งก็มาจากการจัดการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำลายทักษิณ ไม่ใช่หรือ การจัดการกับทักษิณได้ทำให้บ้านเมืองเสียหายไปมาก และฝ่ายที่จ้องทำลายทักษิณก็เสื่อมลงไปมาก

ขณะที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนกว่าครั้งที่แล้วเสียอีกว่า เป็นการแข่งขันกันระหว่างฝ่ายจัดการกับทักษิณกับฝ่ายทักษิณ หมายความว่า ต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีอะไรปิดบังอำพราง และผลจากโพลทั้งหลายกำลังบอกว่าฝ่ายที่จ้องทำลายทักษิณกำลังจะแพ้อย่างหมดรูป

การมาชูประเด็นถอนพิษทักษิณจึงไม่มีทางจุดขึ้น ที่ปลุกให้คนแก้พิษทักษิณหรือถอนพิษทักษิณนั้น จึงมีเรื่องน่าคิดว่าถ้ามุขนี้แป๊กและฝ่ายทักษิณชนะถล่มทลาย พวกที่จ้องทำลายทักษิณจะสรุปกันยังไง

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

"...เนื้อหาที่ปราศรัยไม่ได้ปรองดองเลย แถมเอาศพมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง..."

เท่าที่ติดตามเห็นว่า เป็นเวทีดับเครื่องชน โดยพรรคประชาธิปัตย์คงประเมินแล้วว่า จะแพ้ จึงเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายในการดึงคะแนนเสียง แต่ปรากฏว่า เนื้อหาที่ปราศรัยเป็นการสื่อสารตอกย้ำกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์ เท่าที่ดูคนที่มาฟังก็เป็นแม่ยกและมีส่วนที่มาจากต่างจังหวัดด้วย สะท้อนว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าใจจิตวิทยาสังคมว่า ตอนนี้สังคมมองตนเองเป็นอย่างไร

ที่ผ่านมา การสื่อสารของพรรคประชาธิปัตย์ผิดฝาผิดตัวมาตลอด เช่น การที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเขียนบทความผ่านเฟซบุ๊ก มาจนถึงกรณีนี้ ไม่ได้เป็นการโน้มน้าวคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกแต่อย่างใด แถมยังตอกลิ่มความขัดแย้งด้วยซ้ำ เพราะพูดปรองดอง แต่เนื้อหาที่ปราศรัยไม่ได้ปรองดองเลย แถมเอาศพมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง

ดิฉันไม่ได้ว่าใครผิดหรือถูก แต่ 1 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ทำอะไรบ้างทั้งเรื่องการสอบสวนหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 และการเยียวยา

ขณะนี้คนที่ยังไม่ตัดสินใจ มีสมมติฐานอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็น 1.กลุ่มที่ไม่ไปใช้สิทธิ ในนี้มีกลุ่มที่ไปในทางที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า เพราะกลุ่มที่จะเลือกเพื่อไทย มีแรงขับเยอะในการให้ออกมาใช้สิทธิ

2.กลุ่มที่ไม่ได้ติดตามการเมืองมาก คือไม่ได้เชียร์พรรคประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทย แต่มองทั้งสองฝ่ายว่า ไม่ได้เป็นตัวแทนความคิด ไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แต่เห็นความบกพร่องของ พรรคประชาธิปัตย์ ตรงนี้รวมมีประมาณ 7 ล้านเสียง คงแชร์ๆ กันไป ระหว่างพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย และพรรคเล็กๆ ตามภูมิภาคต่างๆ กลุ่มนี้ก็ไม่ได้ติดตามการปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน

แต่การปราศรัยดังกล่าว ไม่ใช่ไม่มีนัยอะไร แต่อาจจะเป็นการวางหมากหลังเลือกตั้ง เพราะเนื้อหาได้พูดถึงความไม่ชอบธรรมของพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท. ทักษิณ พยายามจะบอกว่า ต่อให้พรรคเพื่อไทยชนะก็ไม่ชอบธรรม เป็นการโปรยประเด็นถึงโอกาสความวุ่นวายหลังการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้น และอาจมีบางฝ่ายไม่เคารพประชาธิปไตยแล้วจะออกมาทำการใดๆ เพราะทุกครั้งที่จะมีอะไร พรรคประชาธิปัตย์ก็มักเป็นหนึ่งในตัวแสดงทางการเมืองที่แสดงอะไรบางอย่างออกมา ซึ่งจะเห็นว่า ช่วงที่ผ่านมาจะเป็นสเต็ปตั้งแต่ มีคนของบางกลุ่มไปร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาพูดเรื่องเลือกตั้ง นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการการตรวจสอบการกระทำก่อให้เกิดความเสียหายแกรัฐ (คตส.) ออกมาจี้เรื่องหุ้นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับ 1 ของพรรคเพื่อไทย

ซึ่งล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์ก็จัดเวทีปราศรัยใหญ่ที่ราชประสงค์ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในแผนแต่แรก เป็นต้น

ศ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

" ...การปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ยังอาจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิลงคะแนนได้อยู่พอสมควร ... "

การปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ที่ราชประสงค์ มุ่งเป้าไปที่การแก้ประเด็นสลายการชุมนุมเป็นหลัก จึงไม่ได้มีการนำเรื่องนโยบายหรือเรื่องอื่นๆ มาพูด ซึ่งในแง่การต่อสู้ทางการเมือง แต่ละพรรคย่อมวิเคราะห์จุดอ่อนของตนเองว่า คืออะไร และจะแก้อย่างไร เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า โดนโจมตีเยอะเกี่ยวกับเรื่องการสลายการชุมนุม จึงใช้ข้อความและเลือกสถานที่นี้เพื่อชี้แจงโดยตรง

ปกติกลุ่มคนที่จะไปใช้สิทธิ มี 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ประกาศตัวชัดเจนว่าจะเลือกใคร ไม่ว่าจะมีข้อมูลอะไรมาก็จะไม่เปลี่ยนใจ 2.กลุ่มที่ยังกลางๆ ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร สามารถฟังข้อมูลแล้วเปลี่ยนใจได้หากฟังแล้วพอใจ หรือยังโน้มเอียงข้างเดิมหากฟังแล้วยังไม่เชื่ออยู่ และ 3.กลุ่มที่ไม่สนใจไม่ว่าใครจะพูดอะไร และไม่ไปเลือกตั้ง

การปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ที่ราชประสงค์ เป็นการพูดวงกว้าง ด้านหนึ่งจึงตอกย้ำกลุ่มแฟน ของตัวเอง และพยายามสื่อสารกับคนที่ยังไม่ตัดสินใจ ในส่วนหลังนี้วัดยากว่า ได้ฟังแล้วจะพอใจหรือไม่ เนื่องจากบริบทการเมืองที่สู้กันแรง คนยังไม่อยากเปิดเผยตัว ดูจากผลโพลของสำนักต่างๆ ก็ได้ จะเห็นว่า จนถึงขณะนี้มีกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ 40-50 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงมาก เพราะอีก 1 สัปดาห์จะเลือกตั้งแล้ว น่าจะอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ บางคนบอกว่า จะไม่เลือก 2 พรรคใหญ่ แต่ไปเลือกคนอื่นเพราะจะเลือกโดยไม่มีเหตุผลอะไรรองรับ แบบนี้ก็มีอยู่

ฉะนั้น การปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ยังอาจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิลงคะแนนได้อยู่พอสมควร

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล

"... ในทางตรงกันข้ามผมไม่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคประชาธิปัตย์...."

การปราศรัยที่ราชประสงค์ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นเรื่องที่เคยพูดมาแล้ว และสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ ทำก็คือปราศรัยโจมตีคนเสื้อแดงเป็นหลัก นายอภิสิทธิ์เล่นบทตีหน้าเศร้ากรีดน้ำตา และเดาได้ว่านายอภิสิทธิ์คงคิดว่าการปราศรัยโดยเน้นโจมตีเพื่อหวังจะให้มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนที่ยังไม่เลือกพรรคใดอยู่ แต่ดูเนื้อหาแล้วคงไม่น่าทำให้เปลี่ยนกระแสได้ เพราะคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยอยู่นั้น ได้มีจุดยืนและอุดมการณ์ที่ลงลึกไปแล้ว ถึงอย่างไรก็คงไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น การปราศรัยจึงเป็นเพียงการใช้โวหารโจมตีอีกฝ่ายเท่านั้น

ส่วนเนื้อหาปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์จะใส่ร้ายให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมหรือไม่นั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ทำงาน ทั้งที่ กกต.ควรวินิจฉัยก่อนว่าควรปราศรัยใส่ร้ายพรรคการเมืองอื่นได้หรือไม่ เพราะหากพรรคประชาธิปัตย์ปราศรัยในลักษณะนี้พรรคอื่นก็สามารถปราศรัยใส่ร้ายพรรคอื่นได้

เมื่อ กกต.ไม่ห้ามปรามทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถหาเสียงสาดโคลนได้ อย่างไรก็ตาม กรณี ดังกล่าวทางพรรคเพื่อไทยเคยร้องให้ กกต.ดำเนินการวินิจฉัยให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์แล้วจากกรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พูดว่าเสื้อแดงและพรรค เพื่อไทยเผาบ้านเผาเมือง แต่กรณีดังกล่าว กกต.ยังไม่มีคำตอบออกมาว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายใส่ร้ายเพื่อให้มีผลต่อคะแนนนิยมของพรรคอื่นหรือไม่

ทั้งนี้ การที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้โวหารในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงทำให้เห็นได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเน้นหาเสียงโดยพูดถึงนโยบายมากขึ้น ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์อาการเหมือนลนไม่พูดถึงนโยบายมากแต่เน้นใช้โวหารโจมตีอีกฝ่าย ทั้งนายสุเทพ ทั้งนายอภิสิทธิ์เน้นโจมตีพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก

หากพรรคประชาธิปัตย์คิดว่าจะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นนั้น ในทางตรงกันข้ามผมไม่คิดว่าจะเป็น ประโยชน์ต่อพรรคประชาธิปัตย์

ไม่มีความคิดเห็น: