วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

เตือนความจำอภิสิทธ์: ตรังมั่วสิ้นดี แจกเงินซ้ำ เงินหายนับหมืนคน


ชาวบ้านในเขต ทต.ย่านตาขาว สุดทนฮือบุกอำเภอทวงถามเงินเยียวยาน้ำท่วม 5,000 บาท 2 เดือนแล้ว ยังไม่ได้รับ ทั้งที่รับปากสิ้นเดือนจ่ายทุกคน ส่วนคนไม่เดือดร้อนกลับได้รับเงินช่วยเหลือ ขณะที่ ปภ.จังหวัด แจงอีก 6,440 ราย ยังไม่ได้รับเงินน้ำท่วมรอบ 2

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 4 ม.ค.ที่บริเวณหน้าที่ว่าการ อ.ย่านตาขาว ได้มีชาวบ้านผู้ประสบภัยภัยน้ำท่วมในเขตเทศบาล ต.ย่านตาขาว ซึ่งประกอบด้วยชุมชนต่างๆ อาทิ เช่น ชุมชนในบ้าน-สุนทรนนท์ ชุมชนวรคีรี และชุมชนหนองชุมแสง กว่า 100 คน นำโดยนายวิเชียร มัธยนต์ แกนนำ ได้มารวมตัวชุมนุมประท้วง เพื่อทวงถามเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 5,000 บาท จากนายพรชัย สุขโสม ปลัดอำเภออาวุโส หลังจากก่อนหน้านี้ทางเทศบาลรับปากว่า จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2553 แต่ปรากฏว่า จนถึงขณะนี้ยังมีชาวบ้านในเขตเทศบาล บางส่วนยังไม่ได้รับเงินชดเชยช่วยเหลือดังกล่าว

โดยนายวิเชียร มัธยนต์ แกนนำชาวบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในเขตเทศบาล ต.ย่านตาขาว กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนในเขตเทศบาล ต.ย่านตาขาว กว่า 700 คน ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยและวาตภัย บ้านเรือนถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหายหลายครอบครัว ซึ่งในจำนวนนี้ได้รับเงินเยียวยาไปแล้วรอบแรก จำนวน 100 กว่าครัวเรือน ส่วนรอบ 2 นั้น เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ทวงถามไปยังเทศบาล ถึงเงินเยียวยาดังกล่าว ซึ่งมีการรับปากว่าภายใน 10-15 วัน ชาวบ้านที่ตกค้างการให้ความช่วยเหลือจะได้รับเงินชดเชยก่อนสิ้นปี 2553 ซึ่งจนถึงขณะนี้แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานกว่า 2 เดือนแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือ จำนวน 5,000 บาท ดังกล่าว

ในขณะที่บางครอบครัวที่ไม่ได้ประสบภัย กลับได้รับอนุมัติเงินเยียวยาช่วยเหลือก่อน ซึ่งเชื่อว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพราะความไม่เป็นธรรมของคณะกรรมการเทศบาลบางคน ที่เลือกสำรวจเฉพาะฐานคะแนนเสียงและพวกพ้องของตนเอง แต่ไม่ได้สำรวจทุกครอบครัว อีกทั้งการตรวจสอบครั้งแรกเทศบาลมีระยะเวลาจำกัด แค่ 2 วัน จึงทำให้รายชื่อผู้ประสบภัยที่เดือดร้อนจริงตกค้างการสำรวจ ส่งผลให้เสียสิทธิ์ที่จะได้รับค่าชดเชยดังกล่าว ทั้งที่ชาวบ้านนำหลักฐานไปแจ้งกับทางเทศบาลเรียบร้อยแล้วก็ตาม

นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า มิหนำซ้ำในช่วงที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเขตเทศบาล ต.ย่านตาขาว ชุมชนในบ้าน-สุนทรนนท์ ชุมชนวรคีรี และชุมชนหนองชุมแสง ทั้ง 3 พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมหนักกว่าชุมชนอื่น เนื่องจากอยู่ติดกับคลองปะเหลียน โดยในช่วงดังกล่าวเทศบาลได้นำข้าวกล่องและอาหารแห้งมาแจกจ่ายเพื่อประทังชีวิตเพียงครั้งเดียว และพอหลังน้ำลดชาวบ้านก็ได้รับแจกข้าวสารครอบครัวละ 1 ถุง ถุงละ 4 กก.จากนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ตรัง พรรค ปชป.เขต 2 แต่ไม่เคยได้รับถุงยังชีพจากทางอำเภอ ซึ่งทำให้ชาวบ้านสงสัยว่า ถุงยังชีพที่นำมาแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าวหายไปอยู่ที่ไหน ทำให้ชาวบ้านสุดทนจึงต้องออกมาทวงถามถึงความช่วยเหลือที่ล่าช้า และสงสัยว่าเงินจำนวน 3 ล้านบาท ที่จะต้องจ่ายให้กับ 600 ครอบครัว ไปอยู่ในมือใคร

ขณะที่นายพรชัย สุขโสม ปลัดอาวุโสอำเภอย่านตาขาว ชี้แจงและยอมรับว่า เฉพาะในเขตเทศบาล ต.ย่านตาขาว มีผู้ประสบจำนวน 750 ราย โดยเมื่อตรวจสอบแล้ว 149 ราย มีรายชื่อซ้ำซ้อน ซึ่งได้รายงานให้ส่วนกลางทราบแล้ว ส่วนอีก 148 ราย ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากคณะกรรมการแล้ว อยู่ระหว่างรอการโอนเงิน ส่วนรายชื่อผู้ตกค้างอีก 602 ราย นั้น เป็นการสำรวจรอบที่ 2 ซึ่งเทศบาลได้ส่งรายชื่อที่ตกค้างมาให้กับทางอำเภอ และอำเภอได้ส่งรายชื่อ ไปยังจังหวัดเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2553 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และที่ผ่านมาไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามติดตามความคืบหน้าการจ่ายเงินชดเชยไปยังจังหวัดเป็นระยะ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับเงินทุกคน ดังนั้นยืนยันว่า รายชื่อผู้ประสบภัยทุกรายได้ผ่านการตรวจสอบกลั่นกรองจากคณะกรรมการอย่างดีแล้ว ไม่มีการทุจริตตามที่ชาวบ้านตั้งข้อสังเกต ส่วนเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท นั้น ไม่ได้หายไปไหน เพราะรัฐบาลได้จ่ายเงินผ่านทางธนาคารออมสิน ดังนั้นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถเบิกจ่ายเงินดังกล่าวได้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการอมเงินของชาวบ้าน

ต่อมาปลัดอาวุโสอำเภอกันตัง ได้ชี้แจงให้ชาวบ้านทราบว่า เมื่อเวลา 15.00 น.ทางอำเภอได้รับการชี้แจงจากทางจังหวัดว่า ในส่วนรายชื่อผู้ตกค้างทั้ง 602 รายนั้น ทางจังหวัดได้ส่งรายชื่อไปให้ทางส่วนกลางแล้ว ขณะนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ซึ่งมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมที่ทำเนียบในวันนี้ หลังจากนั้นรายชื่อผู้ประสบภัยทั้งหมดผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการชุดนี้แล้ว จะนำเข้าสู่ครม.เพื่ออนุมัติวงเงินช่วยเหลือทันที คาดว่าภายในระยะเวลา 10-15 วัน ผู้ที่ตกค้างจะได้รับเงินชดเชยได้ทั้งหมด

ขณะที่นายโส เหมกุล ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ตรัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาในช่วงที่เกิดอุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่ จ.ตรัง มีผุ้ได้รับผลกระทบ จำนวน 33,000 ครัวเรือน ทั้งด้านพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง เป็นต้น ในพื้นที่ 9 อำเภอ 9 เทศบาล 69 ตำบล 479 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้มีผู้มาแจ้งขอรับเงินชดเชยทั้งอุทกภัยและวาตภัย จำนวน 14,943 ครัวเรือนโดยรอบแรกมีผู้มาแจ้งขอรับเงินชดเชย จำนวน 8,725 ครัวเรือน ในจำนวนนี้จากการตรวจสอบของกรม พบว่ามีรายชื่อซ้ำซ้อน เลข 13 หลักไม่ตรง จำนวน 990 ราย ดังนั้นสามารถจ่ายเงินได้ 7,735 ครัวเรือน ส่วนที่เหลืออีก 768 ยังไม่อนุมัติ เพราะต้องขออนุมัติมติ ครม.

ส่วนรอบ 2 จากการสำรวจรายชื่อผู้ตกค้างทั้ง 9 อำเภอและในส่วนของเทศบาลนครตรัง มีจำนวน 6,440 ราย ซึ่งขณะนี้รอการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มีรายงานว่าหลังจากชาวบ้านที่มารวมตัวทวงถามเงินชดเชยน้ำท่วมจากทางอำเภอ และได้รับการชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว ระบุว่า ยังไม่เชื่อว่าชาวบ้านจะได้รับเงินจริงตามที่อำเภอชี้แจง เพราะที่ผ่านมาเคยมีบทเรียนจากการถูกหลอกไปแล้ว ซึ่งจากนี้จะมีการติดตามเรื่องดังกล่าวต่อไป หากครบกำหนดแล้วชาวบ้านยังไม่ได้รับเงิน ก็จะนัดรวมตัวกันใหม่อีกครั้ง///////////////

ไม่มีความคิดเห็น: