วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

การพระราชทานอภัยโทษ


การพระราชทานอภัยโทษ


คอลัมน์ คอลัมน์ที่13


กรมราชทัณฑ์เตรียมเสนอผลการตรวจสอบกรณีประชา ชน 3.6 ล้านรายชื่อ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาดำเนินการ

สารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก โดยศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ระบุว่า

การพระราชทานอภัยโทษ หมายถึง การพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แก่ผู้ต้องโทษประเภทต่างๆ ให้ได้รับการปล่อยตัวหรือลดโทษ โดยมีทั้งการพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลแก่ผู้ต้องโทษ ซึ่งทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานพระมหากรุณาขึ้นมา และในรูปของการพระราช ทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเสนอให้มีการพระราชทานอภัยโทษ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 มาตรา 191 บัญญัติว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ"

นอกจากนี้ ยังมีกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 7 ว่าด้วยการอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ ซึ่งอาจแยกพิจารณาเป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีแรก การพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล

หลักเกณฑ์คือ ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นเรื่องราวต่อรมว.มหาดไทยก็ได้

ส่วนกรณีผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำจะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารมว.มหาดไทยเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้

อนึ่ง เรื่องราวหรือคำแนะนำการขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิต ให้ถวายได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกามาถึงสำนักราชเลขาธิการ กองนิติการจะเป็นผู้ประมวลเรื่องราวทั้งหมดและเสนอให้ที่ประชุมคณะองคมนตรีประชุมปรึกษาคณะองคมนตรีทั้งคณะ ก็จะได้พิจารณาทูลเกล้าฯ ถวายความเห็น เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยอีกชั้นหนึ่ง

เมื่อนำความเห็นต่างๆ ของทุกฝ่าย ทั้งรมว.มหาดไทยและคณะองคมนตรีที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพิจารณาฎีกานั้น ประกอบข้อพิจารณาทั้งหมดแล้ว พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยโดยพระราชอำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ

กรณีที่สอง การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป

มีหลักเกณฑ์ว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษที่มิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษกรณีดังกล่าว เมื่อได้มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษนั้นแล้ว จะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

อนึ่ง พึงสังเกตว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ โดยไม่ระบุว่าเป็นโทษประเภทใด

ดังนั้น พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษจึงมีความหมายกว้างรวมทั้งโทษทางอาญา และโทษทางวินัย หรือทัณฑ์ตามกฎหมายอื่นด้วย

ผลการพระราชทานอภัยโทษตามกฎหมายอาจแยกพิจารณาได้เป็นสองกรณี คือ กรณีที่มีการพระราชทานอภัยโทษเด็ดขาดปราศจากเงื่อนไข กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้บังคับโทษนั้น กล่าวคือ ถึงแม้จะมีการบังคับโทษไปบ้างแล้ว ก็ต้องหยุดการบังคับโทษนั้นทันที

ส่วนกรณีการอภัยโทษเป็นแต่เพียงเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา หรือลดโทษเท่านั้น ถ้ายังมีโทษหลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เปลี่ยนเป็นเบา หรือลดโทษแล้วยังเหลืออยู่ ตามกฎหมายก็ให้บังคับเฉพาะโทษที่ยังเหลือนั้นต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาล

พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษยังคงเป็นพระราชอำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ทั้งตามโบราณราชนิติประเพณีและรัฐธรรมนูญ



ขอขอบคุณ ข่าวสดออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: