วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

อภิรักษ์อธิบายกล้องดัมมี่ "กล้องปราม" ไม่ใช่ "กล้องปลอม"?



พท.ตั้งกระทู้ถามสด กล้องซีซีทีวี หรือ กล้องวงจรปิดปลอมทั่วกรุง มท.3 แจงตรวจสอบ กทม.-หัวเมืองใหญ่-จว.ชายแดนใต้แล้ว ลั่นถ้ามีทุจริตจะดำเนินการถึงที่สุด

เวลา 12.30 น. วันที่ 22 ก.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดของนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ถามรมว.มหาดไทย เรื่องปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อเช้าได้พาสื่อมวลชนไปดูกล้องวงจรปิด หรือ ซีซีทีวี ในบริเวณกทม. ซึ่งเรื่องนี้ทางม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม.ได้ชี้แจงว่ามีกล้องวงจรปิด 2,046 ตัว แต่เป็นปลอมหรือกล้องเปล่า 1,325 ตัว ตัวละ 2,000 บาท เป็นเงิน 3 ล้านบาท ส่วนกล้องจริงมีจำนวน 721 ตัว ตัวละประมาณ 4 แสนบาท งบประมาณ 2,400 ล้านบาทจึงขอถามว่าในต่างจังหวัดได้มีการติดตั้งกล้องลักษณะนี้หรือไม่ นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจ ควรตั้งคณะกรรมการเข้าตรวจสอบเพราะบริษัทที่ได้ประมูลคุ้นหน้าคุ้นตาและขอถามว่าในกทม. และในต่างจังหวัดโยงสัญญาณภาพไปยังเขต หรือไปที่ใดหรือศูนย์ใดหรือไม่ แล้วกล้อง 1 หมื่นตัว มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ หรือแค่ป้องปรามเท่านั้น

นายฐานิสร์ เทียนทอง รมช.มหาดไทย ชี้แจงแทน รมว.มหาดไทย ว่า เป็นนโยบายที่นายกฯ ให้ดูความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่วนกล้องนั้น มีของจริงของปลอม จะเหตุผลเทคนิคอย่างไร ตนไม่ทราบ แต่มีการติดตั้งวงจรปิดของจริงของปลอมทั่วกทม. ทางกระทรวงมหาดไทยได้ให้ตรวจสอบไปยังหัวเมืองใหญ่และในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่ทราบรัฐบาลไหน แต่รัฐบาลนี้ไม่มีของปลอมจะเน้นของจริงเป็นหลัก รัฐบาลชุดนี้นายกฯ ได้ให้นโยบายในการประพฤติปฎิบัติตัวซึ่งคงจะมีการตรวจสอบสัญญาโดยใช้อำนาจของกระทรวงมหาดไทยทั้งใน กทม.และจังหวัดต่างๆ เพราะเงินทุกบาทเป็นเงินภาษีของประชาชน จะต้องทำให้เกิดประโยชน์ ซึ่งโดยจะมีการตรวจสอบในทุกภาคส่วนทั้งในกทม.และในต่างจังหวัด หากมีประโยชน์แอบแฝง ถ้ามีการทุจริตจะดำเนินการอย่างถึงที่สุด

ขณะที่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ส.ส.บัญชีบัญชี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตผู้ว่าฯ กทม.ได้ใช้สิทธิ์ถูกพาดพิงลุกขึ้นชี้แจงว่า การที่บอกว่ากล้องดัมมี่เป็นกล้องปลอมแหกตาประชาชนนั้น กล้องดัมมี่ได้มีการติดตั้งเป็นไปตามหลักสากลในหลายประเทศ ส่วนในประเทศได้มีการตั้งแต่ปี 2547สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ที่ได้มีการติดตั้งกล้องมาตลอดโดยเฉพาะในภาคใต้ 7,000 ตัว จัดทำทีโออาร์และมีการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกล้องดังกล่าวเป็นกล้องปราม ไม่ใช่กล้องปลอม เป็นฝ่ายความมั่นคงดำเนินการมาตลอด ส่วนตัวเลขการติดตั้งกล้อง ปีใน 2550-52 นั้น ข้อเท็จจริงทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม.ได้ดำเนินการติดตั้ง 3,371ตัว มีกล้องจริงทั้งสั้น 2,041ตัว ส่วนที่เหลือเป็นกล้องปรามโดยมีระบบเชื่อมสัญญาณไปยังสำนักงานเขตด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: