วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

ประเพณีถือศีลกินผัก เริ่มแล้ววันนี้





เดิมประเพณีกินผัก (เจี๊ยะฉ่าย) ที่ชาวบ้านและชาวจีนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตเรียกกันว่า "เจี๊ยะฉ่าย" นั้น เป็นลัทธิเต๋าซึ่งนับถือบูชาเซียนเทวดา เทพเจ้า วีรบุรุษ เป็นประเพณีที่คนจีนนับถือมาช้านาน โดยเฉพาะคนจีนฮกเกี้ยน คำว่า "เจี๊ยะฉ่าย" (กินผัก) เป็นภาษาท้องถิ่น วันประกอบพิธีตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ (เก้าโง้ยโฉ่ยอีดถึงโฉ่ยเก้า) ตามปฏิทินจีนของทุกๆปี

ประเพณีเจี๊ยะฉ่าย ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่หมู่บ้าน ไล่ทู (ในทู) ซึ่งเป็นหมู่บ้านกะทู้ ตำบลกะทู้ จังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน คนจีนเหล่านั้นได้อพยพเข้ามาทำเหมืองแร่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) มีการค้าขายแร่ดีบุกกับปอร์ตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น คนจีนเหล่านั้นได้หลั่งไหลเข้ามามากที่สุดก่อนปี พ.ศ.2368 คือหลังจากเมืองภูเก็ตและเมืองถลางถูกพม่ารุกรานเมื่อปี พ.ศ.2352 พลเมืองได้กระจัดกระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ ครั้นพระยาถลาง (เจิม)ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองถลาง และได้ตั้งเมืองภูเก็ตที่บ้านเก็ตโฮ่ ให้พระภูเก็ต (แก้ว) มาเป็นเจ้าเมือง (ระหว่าง พ.ศ. 2368-2400)


พื้นที่รอบๆในทู (กะทู้) อุดมสมบรูณ์ไปด้วยแร่ดีบุก จึงทำให้คนจีนหลั่งไหลเข้ามาขุดแร่ดีบุกเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนที่อพยพมาจากเมืองถลางเดิมที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และที่อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน,ซัวเถาและเอ้หมึง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยอาศัยเรือใบผ่านมาทางแหลมมาลายู เป็นต้น หมู่บ้านในทูในสมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ มีไข้ป่า ตลอดจนภยันตรายต่างๆ จากสัตว์ป่ามากมาย แต่ผู้คนและชาวจีนในหมู่บ้านในทูกลับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีแร่ดีบุกอุดมสมบูรณ์จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก
คนจีนที่อยู่ในทูสมัยนั้น มีความเชื่อและความศรัทธาในเรื่องเทพเจ้าประจำตระกูลหรือเทพเจ้าที่คุ้มครองประจำหมู่บ้าน เช่น เทพยดาฟ้าดิน เซียนต่างๆ รวมถึง บรรพบุรุษของตนเองมาก่อนแล้ว เมื่อมีเหตุเภทภัยเกินขึ้นจึงได้มีการอัญเชิญเทพเจ้าแต่ละพระองค์ที่ตนนับถือบูชากราบไหว้ให้มาคุ้มครองปกป้องรักษาตน หรือพวกพ้องที่ได้ทำมาหากินในท้องถิ่นที่ตนพำนักอาศัยให้คนเหล่านั้นอยู่ เย็นเป็นสุขโดยทั่วกันและความเชื่อนี้ยังคงยึดถือจนตราบเท่าทุกวันนี้

ต่อมาได้มีคณะงิ้ว หรือ เปะหยี่หี่ ที่ได้เดินทางมาจากประเทศจีนมาเปิดแสดงที่บ้านในทู คณะงิ้วนี้สามารถแสดงอยู่ได้ตลอดปี เนื่องจากเศรษฐกิจของชาวในทู กรรกรจีน รวมถึงร้านค้า มีรายได้ดีมาก ในขณะนั้น ต่อมาปรากฏว่ามีตึกดิน 26 หลัง และโรงร้าน 112 หลัง จึงสามารถอุดหนุนงิ้วคณะนี้ได้ตลอดปี หลังจากคณะงิ้วได้เปิดทำการแสดงอยู่ที่บ้านในทูระยะหนึ่ง ได้เกิดมีการเจ็บป่วยเป็นไข้ และจากการเจ็บป่วยครั้งนี้ทำให้คณะงิ้วนึกขึ้นได้ว่าพวกตนไม่ได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ซึ่งเคยปฏิบัติกันมาทุกปีที่เมืองจีน และปรากฏมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอึ่งตี่ฮ่องเต้เป็นต้นมา จึงได้ปรึกษาหารือในหมู่คณะ และได้ตกลงกันประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายขึ้นที่โรงงิ้วนั่นเอง ทั้งนี้เนื่องจากไม่สามารถลงเรือใบ หรือเรือสำเภาเดินทางกลับไปร่วมพิธีเจี๊ยะฉ่ายที่เมืองจีนได้ทันเพราะใกล้จะถึงวันประกอบพิธีแล้ว จึงได้ตกลงใจประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายขึ้นที่โรงงิ้วเพื่อขอขมาโทษด้วยสาเหตุ
ต่างๆต่อมาโรคภัยไข้เจ็บก็หายไปหมดสิ้น รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บที่เคยเบียดเบียดชาวในทู ก็ลดลงด้วยเช่นกัน เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจให้แก่ชาวในทูเป็นอันมาก จึงได้สอบถามจากคณะงิ้วและได้คำตอบว่าพวกเขาได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายแบบย่อๆ เนื่องจากไม่มีผู้รู้และผู้ชำนาญในการจัดประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายโดยเพียงแต่สักการะบูชากราบไหว้ขอขมาโทษ ระลึกถึงกิ้วอ๋องเอี๋ยหรือ กิ้วอ๋องต่ายเต่หรือพระราชาธิราชทั้งเก้าพระองค์นั้นเอง
คณะงิ้วยังได้แนะนำชาวจีนในทูต่อไปว่า การเชิญเทพเจ้ามาสักการะบูชาเพื่อปกป้องตนเอง ครอบครัว และท้องถิ่น เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขตามที่ได้ปฏิบัติกันมาแล้ว เป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นก็ควรจะเจี๊ยะฉ่ายถือศีลไปด้วย การเจี๊ยะฉ่ายไม่จำเป็นต้องปฏิบัติให้ครบทั้งเก้าวัน จะเจี๊ยะฉ่ายกี่วันก็ได้ตามแต่ศรัทธาและเหมาะสมของแต่ละครอบครัว ชาวในทูและคนจีนส่วนใหญ่มีความเชื่อและเลื่อมใสได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะงิ้ว โดยได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายในปีต่อมา ประเพณีเจี๊ยะฉ่ายของเมืองภูเก็ตได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ในทู (กะทู้) นั่นเอง ต่อมาจึงได้แพร่หลายออกไปตามสถานที่ต่างๆ
หลังจากชาวจีนในทูได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายได้ประมาณ 2-3 ปี โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ลดน้อยลงและหายไปในที่สุด ทำให้ชาวจีนที่มาอาศัยทำเหมืองแร่อยู่ตามดงตามป่ามีความเชื่อและศรัทธาเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น

ก่อนคณะงิ้วจะย้ายไปทำการแสดงที่อื่น คณะงิ้วได้มอบรูปพระกิ้มซิ้น (เทวรูป),เล่าเอี๋ย (เตียนฮู้หง่วนโส่ย),ส่ามอ๋องฮู่อ๋องเอี๋ย, ส่ามไถ้จือ และได้ให้คำแนะนำแก่ชาวจีนเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมโดยย่อๆ ในครั้งนั้นด้วยในช่วงระยะที่ชาวจีนกำลังประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ที่ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏนามเคยอาศัยอยู่ที่มณฑลกังไส (กังไส คือ เจียงซี้ของประเทศจีนในปัจจุบัน) ได้เดินทางมาประกอบอาชีพในทู ได้เห็นการประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายของชาวจีนไม่ถูกต้องตามแบบฉบับของฉ้ายตึ้ง (ศาลเจ้าในมณฑลกังไส) จึงได้แจ้งให้ชาวจีนในทูทราบว่าตนยินดีรับอาสาเดินทางกลับไปมณฑลกังไสของประเทศจีน เพื่อไปเชี้ยเหี้ยวโห้ย (อัญเชิญธูปไฟ) และองค์ประกอบสำหรับพิธี แต่ไม่สามารถเดินทางไปได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ ชาวจีนในทูจึงได้ร่วมมือร่วมใจกันรวบรวมทุนทรัพย์ให้กับผู้รู้ท่านนี้ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปมณฑลกังไส
อีก 2-3 ปีต่อมา ในระหว่างที่ชาวจีนในทูประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายแบบย่อๆ จนถึงวันขึ้น 7 ค่ำ (วันเก้าโง้ยโฉ่ยฉีด) ตามปฏิทินจีน เวลากลางคืน เรือใบจากประเทศจีนได้เดินทางมาถึงหัวท่าบ่างเหลียว (บางเหนียวในปัจจุบัน) ท่านผู้รู้ได้เดินทางกลับมากับเรือใบลำนี้ด้วยและได้ส่งคนมาแจ้งข่าวให้ชาวจีนในทูทราบว่า บัดนี้ตนได้เดินทางกลับจากประเทศจีนมาถึงหัวท่าบางเหลียวพร้อมเชี้ยเหี้ยวเอี้ยน (ผงธูป) มาด้วยแล้ว ขอให้คณะกรรมการกับผู้ที่ร่วมประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายไปต้อนรับที่หัวบ่างเหลียวในวันเก้าโง้ยโฉ่ยโป๊ยคือวันรุ่งขึ้น
เหี้ยวโห้ย หรือ เหี้ยวเอี้ยนที่นำมาจากมณฑลกังไส ได้จุดปักไว้ในเหี้ยวหล๋อ(กระถางธูป) โดยจุดธูปให้ติดตลอดระยะทางมิให้ดับ นอกจากนี้ยังได้นำแก้ง(บทสวดมนต์,คัมภีร์,ตำราต่างๆ พร้อมทั้งป้ายชื่อเต้าโบ้เก้ง ป้ายติดหน้าอ๊ามฉ้ายตึ้ง)
ปัจจุบันประเพณีเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ของชาวภูเก็ตได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาทุกปีนับเวลาได้ หลายร้อยปีแล้วซึ่งถือว่าเป็นประเพณีอันดีงามของชาวภูเก็ต


ขอขอบคุณ

ไม่มีความคิดเห็น: