วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

ตรวจเงินชาวบ้าน-ตัวเองโกงเอง "ปปช.ชี้ หญิงเป็ด ผิดอาญา 157"


รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีเรื่องสำคัญคือ กรณีการกล่าวหา คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กับพวก จัดสัมมนาโครงการ "สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา" เป็นเท็จ โดยมีวัตถุประสงค์ นำบุคลากรสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เข้าร่วมถวายผ้าพระกฐิน พระราชทาน ประจำปี 2546 ณ จังหวัดน่าน

ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องดังกล่าวมี ศ. ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ

คณะอนุกรรมการไต่สวน ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยรวบรวมพยาน หลักฐาน และไต่สวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง แล้วปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สำนักงานการตรวจเงิน- แผ่นดิน โดยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีหนังสือถึงกรมการศาสนา แสดงความประสงค์จะขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินประจำปี 2546 ไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ วัดพญาภู และวัดพระธาตุช้างค้ำ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีคำสั่ง ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2546 แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2546 ซึ่งได้กำหนดในวันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม 2546 ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดพญาภู และวัดศรีพันต้น (วัดราษฎร์) อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยคณะกรรมการดำเนินการมีนางสาววิไลลักษณ์ อัญมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นประธานกรรมการ และมีนายคัมภีร์ สมใจ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นรองประธานกรรมการ โดยให้ คณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานกฐินพระราชทานดังกล่าว
รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องบรรลุวัตถุประสงค์

ต่อมา วันที่ 16 ตุลาคม 2546 สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยนายคัมภีร์ สมใจ ผู้อำนวยการ ได้ขออนุมัติจัดโครงการสัมมนา เรื่อง “สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” ในวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ระหว่างเวลา 08.30 – 18.30 น. ณ โรงแรมซิตี้ปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการสัมมนา จำนวน 175 คน วิทยากรโดยนายสันติภาพ อินทรพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา และวิทยากรของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประมาณการค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 479,980 บาท และคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงนาม อนุมัติในวันเดียวกันคือ วันที่ 16 ตุลาคม 2546

ระหว่างวันที่ 22 – 24 ตุลาคม 2546 นางสาววิไลลักษณ์ อัญมณีรัตน์ แจ้งว่า ได้มีการสำรวจรายชื่อผู้เข้าร่วมกฐินพระราชทาน ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่าย และค่าที่พักด้วยตนเอง มีจำนวน 100 คนเศษ และเมื่อรวมกับผู้บริหารอีก 30 คน ก็จะได้เพียง 130 คนเศษ จึงได้มีการหารือกันระหว่าง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย นางสาววิไลลักษณ์ อัญมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนายคัมภีร์ สมใจ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ได้พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นสมควรให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าร่วมพิธีกฐินพระราชทานก่อน เมื่อถวาย ผ้าพระกฐินพระราชทานเสร็จ จึงกลับมาสัมมนาที่โรงแรมซิตี้ปาร์ค โดยรวมหัวข้อเช้าและบ่าย เข้าด้วยกัน เริ่มสัมมนาตั้งแต่เวลา 15.45 น. จนถึง 19.00 น. ซึ่งผู้เข้าร่วมหารือไม่มีผู้ใดคัดค้าน

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ผู้มีรายชื่อเข้าร่วมสัมมนา และผู้สังเกตการณ์เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศ และรถตู้ไปเข้าร่วมงานถวายผ้าพระกฐิน พระราชทานตามกำหนดการถวายกฐินพระราชทานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ช่วงเช้า ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร รับประทานอาหารกลางวันที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ช่วงบ่าย ณ วัดพญาภู และถวายกฐินสามัคคีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ณ วัดศรีพันต้น

งานการถวายกฐินพระราชทานแล้วเสร็จประมาณ 16.00 น. คณะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เดินทางเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวในที่พักและเดินทางไปยังสโมสรหมู่บ้านสันติภาพ 2 เป็นสถานที่เปิดโล่ง ไม่มีหลังคาคลุม มีอาคารอยู่หนึ่งหลังมีลักษณะชั้นเดียว หลังคาเป็นระเบียง ข้างอาคารมีสระว่ายน้ำอยู่หนึ่งสระ มีการตกแต่งไฟ มีเครื่องขยายเสียง มีการจัดเวทีเขียนป้าย บนเวทีที่มิได้มีข้อความระบุว่ามีการสัมมนา แต่กลับมีข้อความว่า “ขอต้อนรับ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา และคณะ ด้วยความรักยิ่ง 31 ตุลาคม 2546” มีการจัดโต๊ะกลมแบบโต๊ะจีนหันหน้า เข้าหากัน แต่ละโต๊ะนั่งประมาณ 9 – 10 คน จัดอยู่ชั้นระเบียง และชั้นล่างรอบสระว่ายน้ำและพื้นที่ โดยรอบ

เมื่อผู้เข้ารับการสัมมนามาถึงสโมสรหมู่บ้านสันติภาพ 2 จะมีการลงทะเบียน ในรายชื่อผู้เข้าร่วมการสัมมนา เรื่อง “สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” วันที่ 31 ตุลาคม 2546 ระบุสถานที่ว่า โรงแรมซิตี้ปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเจ้าหน้าที่ สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลรับลงทะเบียนหน้าสถานที่จัดงาน ไม่มีการแจกเอกสาร ในการสัมมนา หรือการกำหนดกลุ่มให้ระดมความคิดเห็นแต่ประการใด

จากการไต่สวนฟังได้ว่าการจัดสัมมนาเรื่อง “สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิก- วุฒิสภา” ไม่มีการสรุปผลการสัมมนาในครั้งนี้เป็นเอกสารแต่อย่างใด โดยปกติการจัดสัมมนา หากมีการเปลี่ยนแปลงวิทยากร เทคนิคการนำเสนอ และสถานที่รวมทั้งงบประมาณจะต้องทำการ เสนอขออนุมัติการเปลี่ยนแปลงกับผู้มีอำนาจ

การที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดพญาภู จังหวัดน่านในวันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม 2546 และทราบกำหนดการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2546 แต่ยังมีการจัดโครงการสัมมนาในวันเวลา เดียวกัน ซึ่งมีกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมงานกฐินพระราชทานเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับกลุ่มบุคคลผู้เข้าร่วม สัมมนา ย่อมเล็งเห็นได้ว่าไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานได้ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนานำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไปถวายผ้าพระกฐิน พระราชทาน โดยจัดโครงการสัมมนาเพื่อให้ผู้ร่วมเดินทางสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากทางราชการได้ โดยมิชอบ

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้

1. คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

2. นายคัมภีร์ สมใจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล มีมูลความผิดทางวินัย ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตาม กฎหมาย ระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคสอง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

3. นางสาววิไลลักษณ์ อัญมณีรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย ไม่มีหน้าที่ในการจัดสัมมนาดังกล่าว พฤติการณ์และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ยังฟังไม่ได้ว่า ได้ร่วมกระทำผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชา ดำเนินการทางวินัย กับนายคัมภีร์ สมใจ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ฟ้องคดีอาญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจกับคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา และนายคัมภีร์ สมใจ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97


ขอขอบคุณมติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: