วันที่ 2 เม.ย. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา หนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวภายหลังการยื่นคำฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณา กรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาและประธานรัฐสภา ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก 312 คน ซึ่งเห็นว่าผู้ถูกร้องทั้งหมดนี้ได้ร่วมกันกระทำการที่ส่อกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัด รัฐธรรมนูญ 2550 โดยผู้ถูกร้องที่ 2-312 นั้น ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่…)พ.ศ....ต่อนายสมศักดิ์ ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่มีความพยามที่จะแก้ไขมาตรา 68 เรื่องของสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่สามารถยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง หากผู้ใดทราบถึงการกระทำของบุคคลว่าจะเป็นการล้มล้างประชาธิปไตย แต่เปลี่ยนเป็นให้ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดได้เพียงแห่งเดียวนั้น ถือเป็นการตัดสิทธิ์ของประชาชน และขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ที่เคยมาร้องเรียนไว้ ดังนั้นจึงอยากขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดเลิกการกระทำดังกล่าวและขอให้สั่งให้ยุบพรรคการเมืองที่ผู้ถูกร้องสังกัดอยู่ ได้แก่พรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 55-277) พรรคชาติไทยพัฒนา (ผู้ถูกร้องที่ 278-296) พรรคชาติพัฒนา (ผู้ถูกร้องที่ 297-303) พรรคพลังชล (ผู้ถูกร้องที่ 304-310) พรรคมหาชน (ผู้ถูกร้องที่ 311) และพรรคประชาธิปไตยใหม่ (ผู้ถูกร้องที่ 312 )
นายสมชาย กล่าวว่า ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 68 อีกครั้ง เพราะขณะนี้ผู้ถูกร้องกำลังพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และจะลงมติวาระที่ 1 ในวันที่ 3 เม.ย.นี้ ดังนั้นในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ จึงอยากขอความกรุณาต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยมีคำสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลพิจารณาแล้วเสร็จ แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ศาลจะเห็นเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบบรายมาตรานั้น จะนำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตย โดยเริ่มจากมาตรา 68 ที่เป็นอุปสรรคต่อฝ่ายการเมืองก่อน ทั้งที่มีหลายเรื่องในรัฐธรรมนูญที่ควรจะออกกฎหมายเพื่อประชาชน เช่น มาตรา 67 เรื่องของสิ่งแวดล้อม มาตรา 84 ที่เกี่ยวกับการที่รัฐบาลต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หลังจากบริหารงานมาแล้วครบ 1 ปี แต่ขณะนี้ก็ผ่านมาแล้ว 1ปี กว่า ก็ยังไม่เห็นมีแถลง การดำเนินการต่าง ซึ่งควรปรับปรุงให้ประชาชนได้ประโยชน์ ดีกว่ามาแก้ไขเพื่อลิดลอนสิทธิของประชาชน
นายสมชาย กล่าวต่อว่า การที่ยกเลิกมาตรา 68 ที่มีการตัดข้อความในข้อบัญญัติ ซึ่งเป็นการตัดสิทธิ์ของประชาชน อาจเข้าข่ายลิดรอนสิทธิ์การมีส่วนร่วมของประชาชน และขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ที่เคยมาร้องเรียนไว้ ทั้งนี้ เมื่อพบการกระทำผิดซ้ำก็ต้องมายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อให้หยุดการกระทำดังกล่าว โดยอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อสั่งระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ ซึ่งเป็นการกระทำที่กระเทือนสาระสำคัญสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิม จึงเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่รับคำร้องดังกล่าว เพราะอาจถูกข้อครหาได้ว่าศาลเองก็มีส่วนได้เสียกรณีดังกล่าว นายสมชาย กล่าวว่า เชื่อว่าศาลคงไม่คิดเช่นนั้น แต่ศาลจะพิจารณายึดหลักข้อกฎหมาย ซึ่งตนได้ชี้ข้อกฎหมายที่ชัดเจน ตนเห็นว่าเพื่อนสมาชิกกำลังกระทำผิดรัฐธรรมนูญ โดยขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลที่มีคำวินิจฉัยไปแล้ว และขณะนี้ก็ได้มีการกระทำที่เกิดขึ้นอีกครั้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น