วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

นักวิชาการจุฬาฯ ตั้งคำถามศาล รธน. กรณีรับฟ้องข้อกล่าวหาล้มล้าง รธน. "มาตราใดใน รธน.ให้อำนาจให้ยื่นข้อกล่าวหานั้น?"


วันที่ 11 เมษายน 2556 (go6TV)  ดร.พรสันต์  เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็น ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว  กรณีที่ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์  ทีม 40 ส.ว.  ทีมนายบวร ยสินทร และกลุ่มกรีน สุริยะใส กตะศิลา ได้ทยอยยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดค้านกระบวนแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาว่าผิดกฎหมายหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญนั้น  ดร.พรสันต์ ได้ตั้งคำถามต่อสังคมว่า กลุ่มร้องเรียนดังกล่าวนั้นใช้สิทธิตามมาตราใด ของกฎหมายฉบับใด และเป็นการคาดการณ์ไปเองหรือไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานที่ร้ายแรงมาก  โดยอาจารย์พรสันต์ ได้เขียนข้อความทั้งหมด ดังต่อไปนี้

“ทีมกฎหมายของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยกล่าวหาว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราของรัฐสภาถือเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ คำถามของผมคือ

๑. มาตราใดของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการยื่นคำร้องในข้อกล่าวหาดังกล่าว?

๒. หากรัฐสภาต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริงจะทำไม่ได้ตามหลักการอย่างนั้นน่ะหรือ? (ผมไม่อยากใช้คำว่า "ล้มล้าง" เพราะมันเป็นการใช้ถ้อยคำที่พยายามที่จะให้ความหมายที่รุนแรง หรือผิดรัฐธรรมนูญ)

๓. ท่านทราบได้อย่างไรว่าการแก้ไขรายมาตราของรัฐสภาครั้งนี้จะนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันถือเป็นการคาดการณ์ไปเองหรือไม่อย่างไร? (กรณีไม่ได้ผิดแผกแตกต่างจากกรณีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งที่แล้วว่าจะมีการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งศาลเองก็เห็นว่าเป็นการคาดเดาไปเอง)

อย่างไรก็ดี ผมว่าแม้มันอาจไม่ค่อยตรงกันเสียเท่าไหร่ แต่ใน"เชิงตรรกะของระับบกฎหมาย" มันพอเทียบเคียงได้ กล่าวคือ ในเชิงหลักการแล้ว จรรยาบรรณของนักกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งทนายความเขาจะห้ามมิให้มีการ "ยุยงส่งเสริม" ให้มีการฟ้องร้องคดีซึ่งไม่มีมูล (โปรดดู ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ ข้อ ๙) ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการในระบบกฎหมายจะถือว่า...

ก) มิได้ซื่อสัตย์กับหลักการของระบบกฎหมาย

ข) ทำให้ระบบกฎหมายต้องปั่นป่วน และ

ค) ทำให้คดีรกโรงรกศาล

หากพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่ากรณีข้างต้นเป็นเพียงแค่การ "ยุยงส่งเสริม" ให้ทำการฟ้องร้องคดีที่ไม่มีมูลก็ยังถือเป็นข้อห้ามแล้ว หากคุณได้ "ลงมือกระทำการ" ด้วยการฟ้องร้องคดีโดยไม่มีมูลเลยล่ะจะเป็นการผิดจรรยาบรรณของนักกฎหมายมากพียงใด”

ไม่มีความคิดเห็น: