เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 11 เมษายน ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 5 ต่อ 3 รับคำร้องของนายบวร ยสินทร กับคณะ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า ประธานรัฐสภา กับพวก รวม 312 คน ว่ากระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คำร้องนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยอ้างสมาชิกรัฐสภา 312 คนได้ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมต่อประธานรัฐสภา โดยยกเลิกข้อความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 พร้อมเสนอเนื้อความใหม่ ที่เป็นการยกเลิกสิทธิของประชาชนในการที่จะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงออกไปคงเหลือแต่เพียงยื่นต่ออัยการสูงสุดเพียงทางเดียว นอกจากนี้ยังให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ประชาชนจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 3 เท่านั้น จึงถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน จึงมีมูลกรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการตรวจสอบ ตามาตรา 68 วรรคสอง กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 17 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญ จึงรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
โดยหลังจากนี้ ทางศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องส่งต่อศาล จำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง พร้อมทั้งให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ ส่วนคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน ศาลเห็นว่า ยังไม่ปรากฏมูลกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉินหรือเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่จะใช้วิธีการชั่วคราว จึงให้ยกคำขอ
ทั้งนี้ ตุลาการเสียงข้างน้อย ประกอบด้วย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นว่ายังไม่ควรรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะยังมีโอกาสที่จะแก้ไขในวาระที่ 2 ได้อีก คำร้องจึงเป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้า จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี เห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และยังไม่มีมูลกรณีที่เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการนำคำร้องดังกล่าวรวมพิจารณาไปกับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องหรือไม่ นายพิมล กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะตุลาการฯอีกครั้งว่าจะมีดุลยพินิจอย่างไร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งหนังสือสำเนาคำร้องกรณีดังกล่าวแจ้งไปยังรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น