แถลงการณ์ร่วม (joint communiqué) ขาดมันแล้วสักวันจะรู้สึก
วันนี้ผมดูรายการทีวีรายการหนึ่ง มีการพาดพิงถึงคำแถลงการณ์ร่วม หรือ joint communiqué ที่ผมได้รับมอบอำนาจจาก ครม.รัฐบาลท่านสมัครไปเซ็นในปี 2551 ผมได้ยินข้อกล่าวหาเดิมๆแบบแผ่นเสียงตกร่องจากพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตร เช่น คำแถลงการณ์ร่วมที่ผมทำเป็นเหตุให้กัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารได้ฝ่ายเดียวบ้างละ หรือ ข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นเพราะคำแถลงการณ์ร่วมทำให้กัมพูชายื่นตีความคำพิพากษาในศาลโลกในขณะนี้บ้างละ ผมจึงขอเรียนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องคำแถลงการณ์ร่วมเป็นลำดับดังนี้ครับ
1) ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชามา 51 ปีแล้วตามคำตัดสินศาลโลก ที่ยังถกถึยงกันคือพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร
ก่อนอื่นขอย้อนไป 51 ปีที่แล้วที่หลายคนยังไม่เกิดครับ ในวันที่ 15 มิถนายน 2505 ศาลโลกตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่ศาลโลกไม่ได้ตัดสิน้เรื่องเส้นเขตแดนตามที่กัมพูชาร้องขอ มันจึงเกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรขึ้น เพราะไทยอ้างเป็นของไทย แต่กัมพูชาก็อ้างเป็นของกัมพูชาครับ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะต่างฝ่ายต่างยึดถือแผนที่คนละชุด และยึดถือเส้นเขตแดนคนละเส้น (ไทยยึดสันปันน้ำแต่กัมพูชายึดแผนที่ระวาง 1 ต่อ 200,000) สรุปอีกที่หนึ่งคือ ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา แต่พื้นที่ทับซ้อนยังเถียงกันอยู่ ผมขออุปมาอุปมัยเหมือน ตัวปราสาทเป็นศาลพระภูมิ ส่วนพื้นที่ทับซ้อนเปรียบเป็นสนามหญ้า
2) กัมพูชายื่นคำขอเอาทั้งตัวปราสาทและพื้นที่ทับซ้อนไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกตั้งแต่สมัยรัฐบาล คมช. แล้ว
ในปี 2549 กัมพูชายื่นคำขอเอาตัวปราสาทและพื้นที่ทับซ้อนไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก เปรียบเปรยคือ เอาตัวศาลพระภูมิและสนามหญ้าไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งในปี 2550 ไทยคัดค้านเพราะเขาได้ผนวกเอาพื้นที่ทับซ้อนเข้าไปด้วย
3) รัฐบาลสมัครและผมรับเผือกร้อนต่อจากรัฐบาล คมช.
รัฐบาลสมัครเข้าบริหารประเทศในเดือน กุมภาพันธ์ 51 เรารับเผือกร้อนมาจากรัฐบาลทหาร คมช. กัมพูชาเขายื่นเรื่องขึ้นทะเบียนตัวปราสาทและพื้นที่ทับซ้อนฝ่ายเดียวมาก่อนเราเข้ารับตำแหน่งแล้วครับ ดังนั้นที่มาเที่ยวด่าว่ารัฐบาลสมัครเป็นผู้ทำคำแถลงการณ์ร่วมจนทำให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียวจึงเป็นเท็จครับ
4) รัฐบาลสมัครและผมปกป้องพื้นที่ทับซ้อน ปกป้องดินแดน ยอมให้เขาขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท ส่วนพื้นที่ทับซ้อนให้บริหารจัดการร่วมกันจนกว่าจะมีการปักปันเขตแดนถาวร
ถ้ากัมพูชาเขาเอาเฉพาะตัวปราสาทไปขึ้นทะเบียนมันจะไม่มีปัญหาเลยครับ เขาทำได้ เพราะตัวปราสาทเป็นของเขามา 51 ปีแล้ว แต่ปัญหามันเกิดเพราะกัมพูชาเขาเอาทั้งตัวปราสาทและพื้นที่ทับซ้อน หรือเปรียบเปรยเป็น เอาศาลพระภูมิบวกสนามหญ้าไปขึ้นทะเบียน พวกผมจึงไปเจรจาให้กัมพูชาตัดพื้นที่ทับซ้อนหรือสนามหญ้าออก และสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารที่เป็นของเขามา 51 ปีตามที่ศาลโลกตัดสิน เจรจายากมาก ท้ายที่สุดเขายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก และยอมขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น และแนวทางและผลการเจรจาได้นำมาเขียนไว้ในคำแถลงการณ์ร่วมครับ ส่วนพื้นที่ทับซ้อนให้บริหารจัดการร่วมกันไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการปักปันเขตแดนถาวรโดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
5) คำแถลงการณ์ร่วมทำขึ้นเพื่อให้กัมพูชาตัดพื้นที่ทับซ้อนออก ไม่ใช่ทำขึ้นเพื่อให้กัมพูชาใช้ประกอบในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
พรรคประชาธิปัตย์โจมตีแบบแผ่นเสียงตกร่องว่าคำแถลงการณ์ร่วมที่ผมทำเป็นเหตุให้กัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารได้ฝ่ายเดียวซึ่งไม่จริงครับ อย่างที่เรียนไว้ในข้อ 4) ข้างต้น ถ้ากัมพูชาเขาเอาเฉพาะตัวปราสาทไปขึ้นทะเบียนมันจะไม่มีปัญหาเลยครับ เขาทำได้อยู่แล้ว เพราะตัวปราสาทเป็นของเขามา 51 ปีแล้ว แต่คำแถลงการณ์ร่วมเป็นผลของการเจรจาให้กัมพูชาตัดพื้นที่ทับซ้อนออก และยอมขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น คำแถลงการณ์ร่วมทำขึ้นเพื่อปกป้องดินแดนครับ อุปมาอุปมัย คือคำแถลงการณ์ร่วมไม่ใช่บันไดให้กัมพูชาเหยียบเพื่อไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่เป็นกำแพงกั้นไม่ให้กัมพูชาเอาพื้นที่ทับซ้อนไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกครับ
6) คณะกรรมการมรดกโลกห้ามนำคำแถลงการณ์ร่วมเข้าประกอบการพิจารณาในวันที่มีมติให้ขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
ท่านคงจำได้นะครับว่าในเดือนมิถุนายน 2551 ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือน กรกฎาคม 2551 ที่ประเทศแคนาดา ศาลปกครองได้สั่งไม่ให้ใช้คำแถลงการณ์ร่วม ดังนั้นแม้รัฐบาลสมัครจะเห็นว่าเอกสารนี้มีประโยชน์มาก แต่ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล ดังนั้นในวันที่ 7 กค 51 ในวันที่พิจารณาว่าจะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกหรือไม่ คณะกรรมการมรดกโลกมีมติในข้อ 5 ของมติคณะกรรมการมรดกโลก ห้ามนำคำแถลงการณ์ร่วมเข้าประกอบการพิจารณา ดังนั้นคำแถลงการณ์ร่วมจึ่งถูกตัดออกไม่ให้ใช้ประกอบการพิจารณาเลยครับ ผมก็แปลกใจว่าทั้งๆที่ผมมีเอกสารที่เป็นมติคณะกรรมการมรดกโลกยืนยันเช่นนี้ ก็มีคนออกมาตะแบงว่าคำแถลงการณ์ร่วมทำให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนตัวปราสาทได้ฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นความเท็จครับ
7) ขณะนี้กัมพูชาขึ้นทะเบียนได้เฉพาะตัวปราสาท และไม่รวมพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นชะง่อนเขา หน้าผาและถ้ำ
ตามที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อ 9 มติคณะกรรมการมรดกโลกวันที่ 7 กค 51 ว่าทรัพย์สินที่กัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ลดขนาดลงและไม่รวมพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นชะง่อนเขา หน้าผาและถ้ำ ตามแนวทางที่เจรจากันในคำแถลงการณ์ร่วมครับ
8) นักกฎหมายระหว่างประเทศชั้นนำของโลกและไทยยอมรับว่าคำแถลงการณ์ร่วมเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย
เพราะ เป็นครั้งแรกที่กัมพูชายอมรับในเอกสารว่ามีพื้นที่ทับซ้อน แต่ศาลปกครองตัดสินให้เป็นโมฆะไปแล้วครับตอนนี้
9) ศาลรัฐธรรมนูญเติมคำว่า “อาจ” ในรัฐธรรมนูญ และตัดสินว่าคำแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนไปเซ็น
มาตรา 190 ระบุว่าหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต้องขอความเห็นชอบจากสภาก่อนไปทำ แต่ผมขอเรียนก่อนครับว่าทั้งไทยและกัมพูชาไม่ต้องการทำหนังสือสัญญาครับ เราต้องการทำคำแถลงการณ์ร่วมเพื่อเป็นเครื่องช่วยจำว่าได้เจรจาอะไรกันไว้ ทั้งสองฝ่ายไม่มีเจตนาก่อนิติสัมพันธ์กันครับ ดังนั้นจึงไม่มีทางเป็นหนังสือสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศได้ แต่ศาลท่านตัดสินของท่านว่าเป็นหนังสือสัญญา นอกจากนั้นท่านบอกว่าแม้คำแถลงการณ์ร่วมไม่มีบทบัญญัติเปลี่ยนแปลงอาณาเขต แต่ “อาจมีบทบัญญัติเปลี่ยนแปลงอาณาเขต” ศาลไปเติมคำว่า “อาจ” เข้าไปในรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถทำได้ครับ เพราะตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ไม่ได้ ทำได้เพียงใช้และตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้นครับ เพราะเท่ากับยอมให้อำนาจตุลาการมาวิ่งคร่อมเลนอำนาจนิติบัญญัติ นอกจากนั้นศาลตัดสินว่าคำแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมอย่างกว้างขวางตามมาตรา 190 ซึ่งบทบัญญัตินี้เขียนคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ใช้งานไม่ได้ จนต้องมีการแก้ไขถึงสองครั้งในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และกำลังมีการเสนอให้แก้ไขในสภาขณะนี้ครับ
ผมขอกล่าวโดยสรุปครับว่าแม้จะใส่ร้าย โจมตีเพียงไร ความจริงก็เป็นความจริง จะพูดกี่ครั้ง จะด่ากี่หน ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคุณค่าของคำแถลงการณ์ร่วมได้ เราไม่สามารถปิดฟ้าด้วยฝ่ามือฉันใด เราก็คงไม่สามารถบิดเบือนความจริงได้ตลอดไปฉันนั้น เอกสารชิ้นนี้มีประโยชน์ในการปกป้องดินแดน และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเดินตามแนวทางนี้ วันนี้เราคงจะไม่มีคดีตีความที่อยู่ในศาลโลก และหลายชีวิตคงไม่ต้องสูญเสียในบริเวณชายแดนไทยกัมพูชาครับ
นพดล ปัทมะ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น