๒๖๐๐ ปี พุทธชยันตี หมายความว่าอะไร
คำว่า “พุทธชยันตี” เป็นคำที่ประเทศอินเดียและศรีลังกาประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๕๐๐ ในประเทศไทย ในสมัยนั้นประทศไทยได้จัดงาน “ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ” เป็นพิธีใหญ่มากที่ท้องสนามหลวง ในสมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ไทยเราใช้ “งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ” ก็เพราะในปีนั้นเป็นปีที่ประชาชนบางพวกเรียกว่า “กึ่งพุทธกาล” ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นว่าเป็นคำที่ไม่เป็นมงคล เพราะถ้า พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็น “ปีกึ่งพุทธกาล” ก็แสดงว่าพระพุทธศาสนาจะมีอายุเพียง ๕๐๐๐ ปีเท่านั้น ความจริงพระพุทธศาสนาจอยู่แค่ ๕๐๐๐ ปีหรือไม่นั้น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงพยากรณ์ไว้ พระองค์เพียงตรัสว่า “ถ้าตราบใดพุทธบริษัทยังปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว พระพุทธศาสนาก็จะดำรงอยู่ตราบนั้น” หรือความเป็นอรหันต์ก็มิได้พยากรณ์ไว้ว่าจะสูญสิ้นไปจากโลกเมื่อใด เพราะตราบใดที่พุทธบริษัทยังปฏิบัติเคร่งครัดอยู่ในพระธรรมวินัยแล้ว โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์อยู่ตราบนั้น แม้ในขณะนี้ในประเทศไทยอาจมีพระอรหันต์ แต่ท่านจะไม่ประกาศตัวว่าเป็นพระอรหันต์ ผู้ใดที่ประกาศตัวว่าเป็นพระอรหันต์ก็อย่าเพิ่งเชื่อตามอย่างงมงาย เพียงแต่อาจตั้งข้อสังเกตจากศีลาจารวัตรของท่านแล้วก็สันนิษฐานว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ซึ่งความจริงอาจถูกหรือผิดก็ได้
ที่ทางประเทศอินเดียและศรีลังกาได้จัดงานเฉลิมฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ว่าเป็นปีพุทธชยันตีนั้น เพราะอินเดียและศรีลังกาเขานับ พ.ศ.ก่อนของเรา ๑ ปี คือเขานับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็น พ.ศ. ๑ ส่วนไทยเรานับจากวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานครบ ๑ ปี เป็น พ.ศ. ๑ ทำนองเดียวกับที่ฝรั่งกับจีนนับอายุไม่ตรงกัน ข้าพเจ้าจำได้ว่าเมื่อคราวไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเยล (Yare) สหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่เขาถามว่าข้าพเจ้าอายุเท่าไหร่ ข้าพเจ้าตอบว่าอายุ ๓๑ ปี เขาก็ถามวันเดือนปีเกิดของข้าพเจ้า แล้วเขาก็บอกว่าข้าพเจ้าอายุ ๓๐ ปีเท่านั้น คือเขานับอายุเต็ม แต่คนจีนเขานับอายุย่าง คือนับทั้งที่อยู่ในท้องแม่ด้วย การนับอายุจึงแตกต่างกัน เช่นเดียวกับการนับ พ.ศ. ของไทยกับอินเดีย ฉะนั้น
คำว่า “พุทธชยันตี” โดยทั่วๆ ไป เราก็แปลว่า “วันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศชัยชนะ” เหนือกิเลสทั้งปวงที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี คาถาที่พระสงฆ์นิยมสวดเพื่อชัยมงคลหรือสวัสดิมงคลมักจะเริ่มด้วย “ชยันโต โพธิยา มูเล ฯลฯ” ซึ่งแปลว่า “ทรงมีชัยชนะ (มารทั้งหลาย) ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์” ซึ่งเราถือกันว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงพิชิตมารได้หมด หรือที่เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มารวิชัย” ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงพิชิตมารได้ก็เพราะพระองค์ทรงถูกมารผจญก่อนที่จะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ หลังจากที่ทรงพิชิตกิเลสได้หมดแล้ว ก็ได้ชื่อวาพระองค์ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น คำว่า “พุทธชยันตี” อีกความหมายหนึ่งก็คือ “วันที่เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลก”
โดยทั่วไป เราถือว่า “วันวิสาขบูชา” คือวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก คือเป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติและเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน โดยต่างปีกันคือ ประสูติก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ตรัสรู้ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี และเสด็จดับขันธปรินิพพานก่อนพุทธศักราช ๑ ปี แต่เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้อธิบายว่าวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็นวันเดียวกัน คือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิดเป็นพระพุทธเจ้า และในวันนั้นและขณะนั้นแหละเป็นวันที่พระสิทธัตถะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณจึงได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า และในวันนั้น ขณะเดียวกันนั้น พระองค์ก็ทรงนิพพาน คือ ทรงดับกิเลสได้หมดสิ้น ซึ่งเรียกว่า “อุปาทิเสสนิพพาน” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าคิดมากเช่นเดียวกัน
ได้มีบางคนสงสัยว่า “พุทธชยันตี” นี้นับอย่างไร คือ ปีนี้เป็น พ.ศ. ๒๕๕๕ ถ้านับรวมวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อีก ๔๕ ปีก่อนพุทธศักราช จึงรวมเป็น ๒๖๐๐ ปี คือเป็น ๒๖๐๐ ปีแห่งการเกิดเป็นพระพุทธเจ้า หรือ ๒๖๐๐ ปีแห่งการที่พระองค์ทรงเอาชนะกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง
ก่อนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณพระองค์ต้องทรงบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัลป์ พระชาติสุดท้าย ๑๐ พระชาติที่ทรงอุบัติในมนุษยโลก คือได้เสวยพระชาติเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสตว์ดิรัจฉานบ้าง ที่เรามักจำกันง่ายๆ ด้วยอักษรย่อคำหน้าของเจ้าพระสิบชาติ คือ “เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว”
“เต ก็ย่อมาจาก เตมีย์
ชะ ” มหาชนก
สุ ” สุวรรณสาม
เน ” เนมิราช
มะ ” มโหสถ
ภู ” ภูริทัต
จะ ” จันทกุมาร
นา ” นารทะ
วิ ” วิทูร
เว ” เวสสันดร”
ในแต่ละพระชาติก็ทรงบำเพ็ญบารมีอย่างอุกฤษฎ์ คือ
๑. เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์ ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีขั้นสูงสุด คือ ทรงมีพระประณิธานแน่วแน่ว่า จะไม่กระทำการใดๆ ที่จะต้องทำให้ต้องไปสู่นรก โดยทำพระองค์เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ เป็นง่อย แล้วออกบวชเพื่อจะได้ไม่ต้องทำบาปอีกต่อไป
๒. เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก ทรงบำเพ็ญวิริยบารมีขั้นสูงสุด คือทรงพยายามว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรในคราวที่เดินเรือไปค้าขาย แล้วเกิดเรืออับปาง ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะถึงฝั่งเมื่อใด
๓. เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นสุวรรณสาม ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีขั้นสูงสุด คือ ทรงมีความรักและความปรารถนาดีแก่คนที่เป็นมิตรและศัตรู
๔. เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมิราช ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีขั้นสูงสุด คือ ทรงแน่วแน่มั่นคง ไม่หวั่นไหว แม้ได้รับเชื้อเชิญให้เสวยสุขในสวรรค์ ก็ทรงปฏิเสธและกลับมาบำเพ็ญบารมีในโลกมนุษย์
๕. เมื่อพระพุทธเจ้าเข้าเสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิต ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมีขั้นสูงสุด คือทรงใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้ตนเองและผู้อื่นพ้นจากความยากลำบากได้
๖. เมื่อพระพุทธเจ้าเข้าเสวยพระชาติเป็นพระภูริทัต ทรงบำเพ็ญศีลบารมีขั้นสูงสุด คือ แม้จะถูกเบียดเบียนให้ได้รับทุกข์ทรมานปางตาย ก็ไม่ทรงทำร้ายผู้ทรมานตนนั้น
๗. เมื่อพระพุทธเจ้าเข้าเสวยพระชาติเป็นจันทกุมาร ทรงบำเพ็ญขันติบารมีขั้นสูงสุด คือ อดทนไม่โกรธตอบ กัณฑหาละผู้ประทุษร้ายถึงขั้นให้พระองค์จะถูกประหารชีวิต
๘. เมื่อพระพุทธเจ้าเข้าเสวยพระชาติเป็นนารทพรหม ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมีขั้นสูงสุด คือ ใช้ปัญญาลึกซึ้งกับพระทัยพระเจ้าอังคคติราชให้มีความเห็นถูกในเรื่องกฎแห่งกรรม และการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ
๙. เมื่อพระพุทธเจ้าเข้าเสวยพระชาติเป็นวิธูรบัณฑิต ทรงบำเพ็ญสัจจบารมีขั้นสูงสุด คือ เมื่อตกลงรับคำขอไปกับปุณณกยักษ์แล้ว แม้จะได้รับคำขอร้องให้คืนคำก็ไม่ยอม
๑๐. เมื่อพระพุทธเจ้าเข้าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ทรงบำเพ็ญทานบารมีขั้นสูงสุด คือการบริจาคทรัพย์สิ่งของให้เป็นทาน ต่อมาทรงบริจาคช้างสำคัญคู่บารมี จนเป็นเหตุให้ถูกเนรเทศไปอยู่ป่า
ท่านผู้ใดสนใจรายละเอียดเกี่ยวกับ “ทศชาติ” หรือ “พระเจ้าสิบชาติ” ก็สามารถหาอ่านได้เพราะในปัจจุบันมีผู้จัดพิมพ์ออกจำหน่ายและมีภาพประกอบอย่างสวยงามมากทีเดียว
จากการบำเพ็ญบารมีของของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เราจะเห็นได้ว่า การที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นจะต้องใช้เวลานานและต้องมีความตั้งใจจริงอย่างแน่วแน่ ไม่ทอดทิ้งธุระเสียกลางคัน ในที่สุดเราก็อาจประสบความสำเร็จดังที่มุ่งมาดปรารถนานั้นได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ในวันที่พระองค์ทรงได้รับบรมราชาภิเษกแล้วพระองค์ก็ได้ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการอันนับว่าเป็น “มหาพระประณิธาน” อันสูงสุดว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และพระองค์ก็ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจจนสุดพระสติปัญญาเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยามอย่างแท้จริง แม้พระองค์จะทรงพระประชวรต้องประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชกว่า ๒ ปี พอทรงมีพระกำลังวังชาแล้ว พระองค์ก็ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังตำบลทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งยังความปลาบปลื้มปีติให้แก่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ มิเพียงชาวทุ่งมะขามหย่องเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีเจริญรอยตามพระยุคลบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนานั้นเอง จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยทั้งมวลจงได้เจริญรอยตามพระยุคลบาทของพระองค์ท่านให้สมกับที่เรามีความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน มิใช่เพียงแต่เปล่งคำพูดออกมา แล้วเราก็จะประสบชัยชนะความทุกข์ยากทั้งปวงตลอดไป
ศ. พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ
ราชบัณฑิต
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น