เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ พร้อมนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อุปนายกสภาจุฬาฯ แถลงข่าวภายหลังการประชุมสภาจุฬาฯ ซึ่งมีคุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ นายกสภาจุฬาฯ เป็นประธาน ว่าที่ประชุมมีมติเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ของนายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2550 เนื่องจากจุฬาฯ ได้รับแจ้งว่าวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของนายศุภชัยได้คัดลอก หรือลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarize) โดยลอกเลียนผลงานทางวิชาการ และนำไปเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษา และได้รับอนุมัติปริญญาโดยสภามหาวิทยาลัยในการประชุมเดือนพฤษภาคม 2551 เมื่อจุฬาฯได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว จึงดำเนินการตามขั้นตอน สอบสวนหาข้อเท็จจริง และพบว่าวิทยานิพนธ์ดังกล่าวได้คัดลอกผลงานตามเอกสาร งานวิจัย หรือบทความอื่นอย่างมีนัยสำคัญ และในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการลอกเลียนวรรณกรรมโดมมิชอบ ดังนั้น จุฬาฯจึงให้ผู้เสนอวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวมีโอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง และแสดงพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการบริหารคณะที่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ สำเร็จการศึกษา ที่จะทำให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสิทธิได้รับปริญญา
"เมื่อคณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งจากรายงานการสอบสวนหาข้อเท็จจริง จากการให้ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานของผู้เสนอวิทยานิพนธ์ เห็นว่าวิทยานิพนธ์มิได้เป็นไปตามระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2542 ทั้งการกระทำดังกล่าวยังเป็นการประพฤติผิดจริยธรรมทางวิชาการ ทำให้ผู้เสนอวิทยานิพนธ์ขาดคุณสมบัติข้อที่เป็นผู้มีความประพฤติดีตามระเบียบดังกล่าวด้วย ดังนั้น สภาจุฬาฯจึงมีมติให้เพิกถอนมติของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้บุคคลนั้น ตามข้อเสนอและมติของคณะกรรมการบัณฑิตวิทยาลัย และคณะกรรมการบริหารคณะ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555 เพราะต้องการให้เกิดผลกระทบต่อผู้เสียหายน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิที่นำไปใช้ในอดีต" นพ.ภิรมย์กล่าว
อธิการบดีจุฬาฯกล่าวต่อว่า อนึ่ง คณะกรรมกฤษฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้ว หากปรากฏว่าบุคคลที่สภามหาวิทยาลัยได้มีมติอนุมัติให้ปริญญาไปแล้วนั้น ขาดคุณสมบัติ หรือมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ที่จะสำเร็จการศึกษาตามที่กฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อบังคับมหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ซึ่งมีผลให้มติสภามหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับการอนุมัติการให้ปริญญาแก่บุคคลดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบ สภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการให้ปริญญาย่อมมีอำนาจที่จะเพิกถอนมติดังกล่าวได้
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า จุฬาฯไม่กังวลที่อาจถูกฟ้องร้อง เพราะเป็นสิทธิของผู้ถูกเพิกถอน ในส่วนของสภาจุฬาฯ ได้ทำตามหน้าที่ และได้พิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้ว รวมถึงให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว กรณีนี้ถือเป็นรายแรกของจุฬาฯ
ด้านนายศุภชัย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ระหว่างไปปฏิบัติงานในประเทศสิงคโปร์ว่า ยังไม่ทราบเรื่อง และว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่งเข้าไปชี้แจงเรื่องดังกล่าวที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
"หากได้ข้อสรุป หรือมีมติใดๆ ผมจะต้องรับทราบข้อมูลด้วย ดังนั้น จึงไม่เชื่อว่าจะมีการแถลงถอดถอนปริญญาเอกในทันทีทันใด" นายศุภชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศุภชัยมีกำหนดเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 25 มิถุนายนนี้