วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555
คนที่บ่อนทำลายศรัทธาต่อศาลที่สุดคือตุลาการการเมือง
(ที่มา เฟซบุ๊กส่วนตัว เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
บทเสวนาว่าด้วยสังคมอยู่ด้วยศรัทธา, ตำนานฐานราก (foundational myth) และการเลิกเชื่อ
คุณ chava lin ชวนผมคุยต่อในเรื่องศรัทธาของสังคม ผมเสนอความเห็นโยงไปยังเรื่องตำนานฐานรากและการเลิกเชื่อ ดังนี้
ปุจฉา: เรื่องศรัทธานั้นจะว่าไปก็จริงอยู่เพราะการที่คนเราศรัทธาอะไรซักอย่างหนึ่งบางทีมันก็ไม่มีเหตุผลว่าทำไมหรือเพราะอะไร จะไปตัดสินว่าถูกหรือผิดก็ไม่มีใครรู้ได้เพราะมันเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลล้วนๆ เช่น ความเชื่อในเรื่องศาสนา หรือปูชนียบุคคลรูปเคารพต่างๆ (เหมือนที่อาจารย์เคยเขียนว่าควร handle with care)
แต่ในเรื่องของสถาบันตุลาการนั้น มันเกี่ยวข้องยึดโยงกับคนมากมายหลายกลุ่มในสังคม ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งกลุ่มคนที่ศรัทธาทั้งตัวและหัวใจและกลุ่มคนที่ยอมเชื่อในกรอบเหล่านั้น ไม่ใช่เพราะศรัทธาแต่เพราะเชื่อว่ามีหลักการและเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อ การใช้เรื่องของศรัทธาเข้ามาอธิบายว่าควรเชื่อในคำตัดสินของศาลแม้ว่าจะขาดหลักการและเหตุผลที่เป็นที่ยอมรับเลยฟังดูไม่ค่อย make sense (สมเหตุสมผล - มติชนออนไลน์) เท่าไหร่
วิสัชนา: คำว่าสังคมดำรงอยู่ด้วยศรัทธามีเค้าความจริงอยู่ ในทางปรัชญาการเมืองผมเรียกมันว่า foundational myth/fiction หรือตำนาน/นิยายฐานรากของรัฐ เป็นฐานความเชื่อร่วมกันและสังคมหวงแหนระแวดระวังมาก ห้ามท้า ห้ามถาม แต่ละรัฐก็จะยึดถือตำนานฐานรากต่างกันไป มันสำคัญขนาดทำให้ความต่างในหมู่ประชากรไม่ว่าชนชั้น ชนชาติ เพศ ศาสนาฯลฯ จางเจือลดความหมาย และก็สำคัญขนาดทำให้ความเหมือนทุกอย่างไม่มีน้ำหนัก ถ้าแตกต่างไม่ยอมรับกันเรื่องนี้ ตำนานฐานรากสำคัญเพราะมันช่วยระดมพลังของคนในรัฐมาร่วมกันทำภารกิจรวมหมู่ยาก ๆ ได้ สละหยาดเหงื่อแรงงานทรัพย์สินกระทั่งชีวิตเลือดเนื้อได้ แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้คนในรัฐลุกขึ้นมาฆ่ากันได้ด้วย
สังคมที่มีตำนานฐานรากจึงต้องจัดการกับมันอย่างระมัดระวัง (handle with care) แปลว่าไม่ใช้ฟุ่มเฟือยและระวังอย่าใช้ไปในทางที่ผิด ดีกว่านั้นพยายามให้ทัดทานตรวจสอบได้ด้วยเหตุผล ความรู้ ข้อเท็จจริง เพราะหากสังคมถูกตรึงด้วยตำนานฐานรากมากไปแล้ว ก็จะไม่อาจขยับปรับเปลี่ยนให้ทันสภาพการณ์ภายนอกภายในที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเหนือการควบคุม เพื่อให้สังคมก้าวหน้าปรับตัว ตำนานฐานรากจึงควรเปิดให้วิจารณ์ได้ ตรวจสอบได้ และถึงจุดหนึ่งคือ เลิกเชื่อได้ เลิกเชื่อไม่ได้แปลว่าทำลาย แต่แปลว่า เลิกเชื่อด้วยความเข้าใจ เลิกเชื่อโดยไม่จำเป็นต้องรังเกียจเกลียดชัง เมื่อเลิกเชื่อแล้วก็จะรู้จักปรับมันให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและสามารถเป็นที่เชื่อที่ยึดเหนี่ยวใหม่ได้ มีพลวัต ไม่ตายตัวหยุดนิ่ง สังคมไทยไม่เคยหัดให้คนเลิกเชื่อ เมื่อตาสว่างจึงโกรธเกลียด จำเป็นยิ่งที่เราต้องหัดไม่เพียงให้สังคมเชื่อเป็นศรัทธาเป็น แต่ต้องหัดให้สังคมเลิกเชื่อเป็นอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่อย่างทำลายด้วย
จะฟื้นฟูศรัทธาของสาธารณชนต่อสถาบันตุลาการอย่างไร?
มีท่านผู้ที่รู้จักและห่วงใยสถาบันตุลาการในแง่ศรัทธาของสาธารณชนเขียนติงผมมาว่า
"สังคมดำรงอยู่ด้วยศรัทธาครับ คนจำนวนมากศรัทธาในชาติ ศาสนา ในพระเจ้า คนไทยจำนวนมากศรัทธาในพระมหากษัตริย์ อาจารย์เกษียรก็อาจจะศรัทธาในวีรชน 6 ตุลาก็ไม่ว่ากัน คนจำนวนมากศรัทธาในศาลยุติธรรมซึ่งต้องยอมรับว่ามันยังเป็นข้อยุติได้ในสังคม คนจึงไม่ลากปืนมายิงหัวกบาลกันเพราะหาข้อยุติไม่ได้ นักศึกษาในคลาสอาจารย์เกษียรก็อาจจะศรัทธาในตัวอาจารย์ทั้งในเรื่องการให้ความรู้และมาตรฐานการวัดผล ผมเชื่อว่าผมและครอบครัวมีปัญหากับระบบยุติธรรมในประเทศนี้หรือแม้กระทั่งกับศาลยุติธรรมมากกว่าอาจารย์เกษียรหลายเท่านัก แต่ไม่เคยที่จะพยายามออกมาบ่อนทำลายศรัทธาที่มีต่อสถาบันศาล เราก็สู้ตามวิถีทางกฎหมายไป สู้มานานครับ อาจจะไม่นานถึง 6 ตุลา 19 แต่รับรองว่าความสาหัสไม่แพ้กับของอาจารย์แน่นอน การเป็นครูบาอาจารย์นักวิชาการไม่ควรแสดงโมหะจริตมากเกินไป ผมเชื่อว่าอาจารย์เป็นคนเก่งและเป็นคนดี แต่โมหะและอัตตากำลังจะลากอาจารย์และภาพลักษณ์ดี ๆ ของอาจารย์ลงไปสู่ดงของซาตาน.... ผมจะบอกว่ามันไม่มีหมาพาเหรดอย่างที่อาจารย์ฝันหรอกครับ จะมีก็ไม่กี่ตัว ที่เหลือมันวิ่งเข้าคอกหมดเหมือนกันนั่นแหละ"
ผมขออนุญาตตอบดังนี้
คนที่บ่อนทำลายศรัทธาต่อศาลที่สุดคือตุลาการการเมืองโดยเฉพาะหลังนำสถาบันตุลาการเข้าไปพัวพันกับอำนาจการปกครองอันมิชอบธรรมหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ทางเดียวที่จะกอบกู้ได้คือ depoliticize ศาล (ทำให้ศาลปลอดการเมือง-มติชนออนไลน์) อย่าง thoroughly (สิ้นเชิง-มติชนออนไลน์) ทางนี้เท่านั้นจะฟื้นศรัทธาของสาธารณชนต่อศาลได้
คำตำหนิของท่านผมน้อมรับด้วยวิจารณญาณ แต่ก็ขอเรียนว่าคำเตือนผมอาจจะแรงไปสำหรับการรับฟังของบางท่านในแวดวงตุลาการ แต่ประเด็นคือการที่ศาลเล่นการเมืองทำให้ผู้คนในสังคมรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม รู้สึกว่าถูกอำนาจอันเขาอื้อมไม่ถึงถ่วงดุลทัดทานไม่ได้รังแก แม้แต่สภานิติบัญญัติของผู้แทนที่เขาเลือกเพื่อหวังจะปรับดุลอำนาจในบ้านเมืองให้สมดุลขึ้น ก็ถูกสกัดขัดขวางไว้อีก ความโกรธเป็นที่เข้าใจได้ ข้อเสนอผมคือประชาชนพร้อมจะกลับมาศรัทธาศาลใหม่ ขอแต่สถาบันตุลาการเปลี่ยนพฤติกรรมให้คู่ควรแก่ศรัทธาของมหาชน อย่า take it for granted (ทึกทักเอาเอง - มติชนออนไลน์) ยิ่งสถาบันตุลาการเล่นการเมืองหนักข้อขึ้น ความศรัทธายิ่งถูกทำลายลง ภาพการ์ตูนล้อเป็นอาการและกลอนของผมเป็นเพียงเสียงของคนที่พูดไปไม่ถึงหูอันสูงของตุลาการเท่านั้น หากฟัง หากปรับ ศรัทธาจะคืนคง และผมจะแต่งกลอนช่วยเชิดชูปกป้องศรัทธาต่อศาลให้ ขอแต่มีวันนั้นจริง
อาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างผมไม่มีอำนาจอธิปไตยในมือ ศาลมีอำนาจตุลาการ ควรใช้ให้เที่ยงธรรม ยึดกฎหมาย อย่าเล่นการเมือง อย่ารังแกคนโดยไม่ชอบธรรม อย่าเอื้อมไปริบเอาอำนาจที่ไม่ใช่ของตุลาการโดยชอบไป ผมยังหวังว่าสถาบันตุลาการจะกู้ตัวเองได้ ถ้าท่านไม่คิดทำ ต่อให้ผมเงียบ ก็จะมีคนอื่นเขียนยิ่งกว่ากลอนหรือที่น่ากลัวกว่านั้น ไม่วาด ไม่เขียน แต่ทำอย่างอื่นที่ไม่ดีต่อบ้านเมืองของเรากว่านี้อีก
อันตรายของระบบศาลยุติธรรมที่ตั้งอยู่บนศรัทธาสถานเดียว
ในหนังสือ "การิทัตผจญภัย: นิยายปรัชญาการเมือง" ของ สตีเว่น ลุคส์ (ค.ศ. 1995) บทที่ 12 ความยุติธรรม ได้นำเสนอภาพจินตนาการของระบบศาลยุติธรรมแห่งประโยชน์นคร ซึ่งเน้นความสำคัญของความเชื่อหรือศรัทธาของมหาชนต่อศาล ว่าเป็นดังหินผาฐานรากที่จะอำนวยให้ระบบศาลดำเนินงานต่อไปได้:
"ระบบยุติธรรมของเราทั้งหมดจะดำเนินงานได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเชื่อว่ามันดำเนินงานไปด้วยดี ผู้คิดจะกระทำผิดต้องถูกทำให้เชื่อว่าความผิดที่เขาคิดทำจะไม่คุ้ม และคนอื่นที่เหลือทุกคนก็ต้องถูกทำให้เชื่อว่าผู้คิดจะกระทำผิดเชื่อเช่นนั้น ด้วยวิธีการนั้นเราก็ลดทอนการละเมิดกฎหมายให้เหลือต่ำสุด และเพิ่มทั้งความมั่นคงและความรู้สึกมั่นคงของเราได้สูงสุดด้วย....."
ประหนึ่งว่าหากปราศไร้ความเชื่อ/ศรัทธาของมหาชนเสียแล้ว ระบบศาลยุติธรรมของประโยชน์นครทั้งหมดก็จะเปื่อยยุ่ยล้มเหลวละลายลงต่อหน้าต่อตาทันที
และเนื่องจากถือว่าความเชื่อหรือศรัทธาต่อระบบศาลสำคัญคับขันขนาดนั้น เพื่อธำรงรักษาศรัทธาความเชื่อต่อศาลนั้นไว้ ระบบยุติธรรมของประโยชน์นครจึงพร้อมจะเสียสละสิ่งต่อไปนี้คือ ผู้บริสุทธิ์ (แพะ), ข้อเท็จจริง, อดีต, หลักนิติธรรม, และความยุติธรรม สละทิ้งทั้งหมด ขอเพียงแลกมาซึ่งศรัทธาต่อศาลสืบไปเท่านั้น
อนิจจา... ฤาระบบศาลยุติธรรมของไทยเราจะดำเนินไปสู่ทางอันตรายสายนั้น