วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"นักวิจัยนาซ่า" ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง "นายกรัฐมนตรี" ขอร้องสนับสนุนงานวิจัยระดับโลก




เป็นประเด็นความมั่นคงที่ถกเถียงกันมากกับโครงการความร่วมมือ กับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซา) ในการใช้สนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี เพื่อศึกษาผลกระทบของอนุภาคแขวนลอยในชั้นบรรยากาศและสภาพภูมิอากาศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 2 โครงการแม้จะเป็นโครงการทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม

หากย้อนที่มาของโครงการนี้ เริ่มจาก การพูดคุยกันระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. กับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา จึงได้มีข้อตกลงในการศึกษาวิจัยร่วมกัน โดยได้ลงนามความร่วมมือระหว่าง นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กับนายชาร์ลส์ เอฟ โบลเดน ผู้บริหารจัดการโครงการ เมื่อ 28 เดือนกันยายน ปี 2553

ทั้งสองโครงการประกอบ ด้วย โครงการ The seven Southeast Studies (7 SEAS) Mission และโครงการ Southeast Asia Composition, cloud, climate coupling Regional Study (SEAC4RS)

โครงการ 7 SEAS มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของอนุภาคแขวนลอยในอากาศ (aerosol particles) ต่อชั้นบรรยากาศและสภาพภูมิอากาศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยโครงการนี้มีความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกากับนักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคนี้ คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม โดยมี Office of Naval Research (ONR) เป็นผู้ดำเนินการหลักติดตามการเปลี่ยนแปลง

สภาพภูมิอากาศของภูมิภาคในระยะยาว, การสำรวจภาคสนาม และการศึกษาวิจัย โดยครอบคลุม 7 หัวข้อดังนี้
1.Aerosol lifecycle and air quality 2.Tropical meteorology 3.Radiation and heat balance
4.Clouds and precipitation5.Land processes and fire6.Oceanography (Physical and Biological)
7.Environmental characterization through satellite analyses, model prediction, and verification
ได้ผู้ประสานงานโครงการนี้ คือ Dr.Jeffrey S. Reid,US Naval Research Laboratory (NRL) เพื่อเข้าร่วมในโครงการ โครงการ 7 SEAS Mission โดยทาง NRL ได้มีการดำเนินการออกแบบภาคสนาม ครั้งแรกบริเวณโรงเรียนชุมพลทหารเรือ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในระหว่างวันที่ 3-12 มิถุนายน 2554 แต่ปัจจุบันเลื่อนออกไปจนนาซาอาจจะถอนโครงการเพราะไม่สามารถศึกษาการก่อตัวของเมฆในช่วงเวลาดังกล่าวได้

เครื่องมือวัดต่างๆ ในการใช้วัดคือ เช่น Hyper-spectral water leaving radiance, Hand held microtops และ Weather balloon เป็นต้น จากนั้นจะนำค่าที่ได้จากการสำรวจมาเปรียบเทียบกับค่าการสะท้อนแสง (Reflectance) ที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียม อาทิ MODIS, HICO, EO-1 Hyperion, และ THEOS

ส่วนอีกโครงการคือ โครงการ SEAC4 RS จะเริ่มดำเนินการในเดือนสิงหาคมและสิ้นสุดเดือนกันยายน 2555 โดยจะมุ่งเน้นการศึกษาบทบาทการไหลเวียนของลมมรสุม (Asian monsoon circulation) และ convective redistribution ต่อ upper atmospheric composition and chemistry รวมไปถึงอิทธิพลของ Biomass burning และมลพิษที่มีผลต่อระบบอุตุนิยมวิทยาในภูมิภาค

โครงการนี้จะใช้เครื่องบินทั้งหมด 3 ลำ คือ เครื่อง DC-8, ER-2, และ GV นอกจากนี้รวมอีก 1 ลำ เป็นเครื่องบินฝนหลวงของไทย ซึ่งสามารถวัด aerosol particles, atmospheric, chemistryศึกษาฝุ่นแขวนลอย การก่อตัวของเมฆ เพื่อหาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

การศึกษาดังกล่าวได้นำเครื่องบินมาดัดแปลงใส่อุปกรณ์เฉพาะขึ้นไปตรวจวัดทางกายภาพและทางเคมีของเมฆ อุณหภูมิ และความชื้นในชั้นบรรยากาศ พร้อมรับส่งข้อมูลเชื่อมโยงกับดาวเทียมในการตรวจความผิดปกติของชั้นบรรยากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยเครื่องบินจะขึ้นไประดับความสูงจากพื้นดินประมาณ 12 กม.

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บอกว่า การศึกษาดังกล่าวของนาซามีมานานกว่า 20 ปีก่อน โดยกลุ่มนักวิจัยไทยมีความพยายามที่จะเข้าร่วมโครงการวิจัยกับนาซา เพื่อศึกษาอนุภาค หรือ แอโร่ซอล ในชั้นบรรยากาศ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น แอโร่เน็ต เบสท์เอเชีย และเอเชียบราวน์คลาวด์ ที่ดำเนินการมาอย่างยาวนาน และมีสถานีตรวจวัดทั่วโลก ในอินเดีย จีน หรือแม้แต่ประเทศลาว

"สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการศึกษาคืออนุภาคฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ มีผลทำให้โลกเย็น เนื่องจากแสงอาทิตย์ผ่านมายังโลกได้น้อยลง ซึ่งคำตอบที่ได้อาจพลิกทฤษฎีโลกร้อนที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งธงอยู่ ณ ตอนนี้ ในขณะที่นาซาได้รับมอบหมายให้ดูแลภารกิจนี้โดยตรงในชื่อว่า Earth Science Program" ดร.อานนท์กล่าว และว่า ฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ เป็น 1 ใน 7 ปัจจัยที่ทำให้สภาพภูมิอากาศในเอเชียเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

เช่นเดียวกัน ข้อมูลของ ดร.นริศรา ทองบุญชู นักวิทยาศาสตร์ที่เคยเข้าร่วมโครงการวิจัยของ นาซาเมื่อปี 2544 กล่าวเช่นกันว่า นาซาสนใจการเคลื่อนย้ายของฝุ่นละอองลอย และได้เข้าไปศึกษาในแต่ละภูมิภาคมานานแล้ว เพราะรวมทั้งปัญหาเรื่องฝุ่นด้วย

"เขาสนใจการเคลื่อนย้ายตัวของฝุ่นเมื่อรวมกับชั้นบรรยากาศแล้วมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะชั้นบรรยากาศไม่ต่างจากหลอดทดลองที่เมื่อฝุ่นไปทำปฏิกิริยาจะเกิดปัญหาหรือไม่นั่นคือเรื่องที่เขาสนใจ"

การปฏิบัติการของ เครื่องบินทั้ง 4 ลำจึงเพื่อหาคำตอบเหล่านี้ แต่เหตุผลที่เลือกสนามบินอู่ตะเภา เพราะสะดวก เนื่องจากอยู่ใกล้ที่ตั้งของสถานีรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชติ หรือธีออส ของประเทศไทย ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื่องจากขณะที่ทดลองต้องมีการประสานงานกันระหว่างทีมงานทั้ง 2 ฝ่าย โดยสั่งให้ดาวเทียมถ่ายภาพไปพร้อมกับการบินขึ้นไปเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศของนาซา
นอกจากนี้ยังรวมถึงการวางแผนการบินที่ไปกลับได้เพราะไทยอยู่ตรงกลางที่จะบินไปรอบและไม่เสียเวลาสามารถเก็บข้อมูลได้ภายในเวลาที่กำหนดได้

"ความจริงเขาติดต่อที่เนปาลเอาไว้ด้วยแต่เมื่อวางแผนเส้นทางบินแล้ว พบว่า บินไปกลับไม่ได้อยู่ในเวลาที่กำหนด จึงเลือกไทยเพราะอยู่ตรงกลางรวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่นอินเทอร์เน็ต มีความพร้อมมากกว่าจะเลือก ลาว กัมพูชา" ดร.นริศรากล่าว

ส่วนการวางแผนการบินนั้น จะบินประมาณ 21 เที่ยวภายในระยะเวลา 2 เดือนอาจจะเรียกได้ว่าบินทุกประมาณ 2-3 วัน โดยการกำหนดเส้นทางบินนั้น จะเกิดจากการระดมนักวิทยาศาสตร์ทั้งด้านอุตุนิยมวิทยา นักโมเดลจำลอง เพื่อประเมินเส้นทางบินเพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์การศึกษาและความปลอดภัย

"การกำหนดเส้นทางบินจึงไม่สามารถวางแผนและบอกไปเลยว่าจะบินแบบไหนเพราะต้องคำนวณสภาพอากาศในช่วงเวลานั้นด้วย"
การทำงานภายในเครื่องบินจะถูกออกแบบให้กลายเป็นห้องปฏิบัติการ โดยมีเครื่องมือวัดและเก็บอากาศตัวอย่างรอบนอกของเครื่องบินจะต่อท่อเพื่อดูอากาศเข้าไปเก็บตัวอย่างตรวจวัดซึ่ง นักวิทยาศาสตร์ที่ขึ้นไปแต่ละครั้งจำนวน 20-30 คน โดยนักวิจัยคนหนึ่งจะมีพื้นที่ของตัวเองพร้อมเครื่องมือตรวจวัด

ก่อนจะปฏิบัติหน้าที่จะมีผังการทำงานชัดเจนมีชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่จะขึ้นเครื่องพร้อมทั้งวัตถุประสงค์ในการศึกษา รวมไปถึงวิธีการศึกษาด้วย
กำหนดการศึกษาถูกตั้งขึ้นในช่วงที่เป็นเวลาที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการก่อตัวของเมฆ ดังนั้น หากไทยไม่ตัดสินใจ อาจพลาดโอกาส ดร.นริศรา บอกว่า เขาต้องการศึกษาเรื่องการเกิดเมฆการเกิดฝน เวลาจะต้องเหมาะสม หากช้าไปเรื่อยๆ ก็อาจจะพลาดได้ เนื่องจากเขาต้องเตรียมอุปกรณ์ โดยใช้เวลา 2 เดือนในการขนของลงเรือ แต่เราก็เลื่อนก็เรื่อยๆ

"เราเล่นประเด็นอะไรกันก็ไม่รู้ ถ้าเราทำไม่ได้ มันคือพลาดเลยเพราะโอกาสที่เราจะได้ข้อมูลดิบเพื่อเอาไว้ใช้ประโยชน์มีไม่มาก" ดร.นริศรากล่าว

เช่นเดียวกับ ดร.อานนท์ที่บอกว่า สิ่งที่ประเทศไทยจะเสียไปหากงานโครงการวิจัยนี้ต้องยกเลิก คือการพัฒนาคน และข้อมูล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้นในส่วนของนักวิจัย ที่จะปฏิบัติภารกิจร่วมกับนาซาเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมด้านอากาศของเรา