วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555
"80 ปีประชาธิปไตย" แต่เผด็จการครองอำนาจอยู่กว่า 50 ปี
หมายเหตุ - นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) และอดีตประธานรัฐสภา เขียนบทความ ′80 ปีกับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย′ โอกาสครบรอบ 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 มีเนื้อหาที่น่าสนใจบางส่วนดังนี้
นับแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อปี 2475 เป็นต้นมา
จนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นฉบับที่ 18
ตลอดระยะเวลา 80 ปี ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า สังคมแบบวิถีประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามแบบนานาอารยประเทศนั้น ยังมิได้ฝังหยั่งลึกในสังคมของประเทศไทยเท่าที่ควร
เป็นเหตุให้หลายครั้งบ้านเมืองเกิดภาวะวิกฤต สังคมแตกแยก มิอาจนำหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาวิกฤตบ้านเมืองได้
เนื่องจากตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ประเทศมีพัฒนาการทางการเมืองล่าช้า แม้ช่วง 15 ปีแรกหลังการเปลี่ยนแปลง อาจกล่าวได้ว่าระบบกำลังดำเนินไปในทิศทางประชาธิปไตยเป็นลำดับ
แต่มาสะดุดเมื่อมีการทำรัฐประหารปี 2490 นับแต่นั้นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศแทบจะไม่ตกมาอยู่ในมือหรือเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
มักมีกระบวนการสกัดกั้นพัฒนาการประชาธิปไตยมาโดยตลอด ส่งผลให้ประเทศเข้าสู่วงจรรัฐประหาร ยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และสุดท้ายก็ยึดอำนาจ
เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองในรูปแบบเผด็จการอำนาจนิยมเป็นเวลานาน โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
1. เกิดการรัฐประหาร 11 ครั้ง กบฏ 11 ครั้ง
2. เกิดพรรคการเมืองมากกว่า 300 ชื่อ
3. มีนายกฯ 28 คน
4. จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาแล้ว 60 ชุด
5. มีผู้นำทหารที่เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ภายหลังการรัฐประหาร ตั้งแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และพล.อ.สุจินดา คราประยูร
รวมทั้งนายกฯ ′นอมินี′ ฝ่ายพลเรือนหรือบุคคลภายนอกที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น เช่น นายควง อภัยวงศ์, นายธานินทร์ กรัยวิเชียร, นายอานันท์ ปันยารชุน และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
รวมแล้วสามารถอยู่ในตำแหน่งมากกว่า 50 ปี
6. ขณะที่นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งรวมกันไม่ถึง 30 ปี
7. มีการเลือกตั้งส.ส. 25 ครั้ง
8. มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา 28 คน มีสภาผู้แทนราษฎร 24 ชุด
9. มีสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกสภานิติบัญญัติกว่า 11,100 คน แบ่งเป็นส.ส. 7,973 คน ส.ว. 1,700 คน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งมาจากการแต่งตั้ง 1,500 คน
ที่ผ่านมาปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้พัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จ คือ อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศยังไม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
วิธีแก้ไขปัญหาที่ง่ายที่สุด คือ ยอมรับในหลักการเบื้องต้นว่า ′การปกครองระบอบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศจะต้องเป็นของประชาชน′
หากประชาชนตัดสินใจอย่างใด ต้องยอมรับในการตัดสินใจนั้น ตามหลักการที่ว่าเป็น ′การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน′
และการแก้ไขปัญหาจะต้องแก้ไขไปตามระบบ นักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องถูกจัดการตามระบบของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากล
ไม่ควรพิจารณาโดยศาลเดียว และผู้พิพากษาตุลาการทุกคนต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระ วินิจฉัยคดีปราศจากอคติ
มิใช่พอเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นก็นำกำลังทหารออกมายึดอำนาจ โดยมีสูตรสำเร็จคือรัฐบาลบริหารประเทศโดยมีการทุจริตที่ยอมรับไม่ได้ จึงทำให้พัฒนาการของประชาธิปไตยสะดุดหรือหยุดชะงักลง
สิ่งนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยไปได้ไม่ไกล ที่สำคัญ บุคคลสำคัญของฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจถูกกล่าวหาในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นจนถูกยึดทรัพย์หลายคน
หลังจากประเทศไทยต้องผ่านเหตุการณ์ล้มลุกคลุกคลานทางการเมืองหลายครั้ง เกิดการรัฐประหาร เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ไร้เสถียรภาพในการบริหารงานของรัฐบาล และมีการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม
ในที่สุดจึงมีการเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง โดยรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงวางราก ฐานธรรมาภิบาลของประเทศ
รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่เป็นแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง รวมถึงขานรับแนวคิด ′ธรรมาภิบาล′ (Good Governance)
เป้าหมายสำคัญคือวางรากฐานของสังคมให้เข้มแข็ง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น สร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐ โดยตั้งองค์กรอิสระต่างๆ
วางโครงสร้างทางการเมืองให้เข้มแข็งโดยให้การจัดตั้งรัฐบาลมีเสถียรภาพ พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ไปจนถึงการวางรากฐาน ธรรมาภิบาลการบริหารจัดการประเทศ
ที่สำคัญรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการปฏิรูประบบเลือกตั้งในประเทศไทยใหม่ โดยนำ ′ระบบผสม′ มาใช้ กล่าวคือใช้ระบบเลือกตั้งตามอัตราส่วน
โดยพรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเสนอต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศเลือกพรรคการเมือง ถือหลัก ′พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค′
ผสมกับระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากรอบเดียว โดยแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นเขตเล็ก มีผู้แทนได้เขตละ 1 คน
เหตุผลสำคัญของระบบเลือกตั้งตามอัตราส่วนหรือระบบปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อป้องกันการทุจริตซื้อเสียง เพราะกำหนดให้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งใหญ่ มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งถึง 42 ล้านเสียง จึงยากต่อการซื้อเสียง
ประการที่ 2 การบังคับให้พรรคการเมืองต้องมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมเสนอต่อประชาชน ถ้าได้รับเลือกตั้งแล้วไม่ปฏิบัติตาม ประชาชนจะเลือกพรรคอื่นเข้ามาแทน
ประการที่ 3 พรรคการเมืองมีโอกาสมั่นคง และมีโอกาสบริหารงานอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาประชาธิปไตยของไทยต้องสะดุดลงอีกครั้ง เมื่อ 19 ก.ย.2549 เกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งอ้างสาเหตุความแตกแยกทางการเมืองขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารครั้งนี้ไม่สามารถหยุดยั้ง หรือเปลี่ยน แปลงแก้ไขความแตกแยกทางการเมืองได้
แต่ไปสร้างเงื่อนไขใหม่ให้กับการเมืองในประเทศไทย ส่งผล กระทบไปถึงสถาบันการเมืองอื่นๆ โดยเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้ว มีจุดอ่อนหรือข้อด้อยหลายประการ
เช่น ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากตัวแทนประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มุ่งแต่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากนักการเมืองและรัฐบาลชุดที่ผ่านมา จนลืมหลักวิชาการและหลักกฎหมาย
และที่สำคัญคือไม่ไว้วางใจตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้ามา อ้างว่าได้เป็นผู้แทนเพราะซื้อเสียง และดูถูกประชาชนว่าไม่มีความรู้เรื่องการเมือง
ในหมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐก็กำหนดรายละเอียดไว้มาก จนทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดต่อไปมีภารกิจและข้อผูกมัดว่าจะต้องทำอะไรมากมาย
ทั้งที่เป็นแนวนโยบายที่กำหนดโดยคณะบุคคลบางคน ไม่ได้กำหนดโดยประชาชน จึงทำให้มีความคล่องตัวในการทำงานน้อย
นอกจากนี้ ยังนำฝ่ายตุลาการมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทำให้ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลโดยอำนาจ 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ตามหลักการปกครองประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาเสียดุล เอียงข้างฝ่ายตุลาการมากเกินไป
เพราะหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องตีความเรื่องการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอย่างเคร่งครัด คือ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เปรียบเสมือนถนน 3 เลนที่ให้รถแต่ละคันต้องไม่วิ่งข้ามเลน
ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารเกี่ยวพันกันโดยความเห็นชอบจากเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ ฉะนั้นไม่ว่าจะทำถูกหรือผิด ผู้ที่จะตัดสินลงโทษ ยกย่อง หรือชมเชย คือประชาชน
เราจะไปดูถูกประชาชนว่าไม่มีความรู้ไม่ได้ แต่ต้องเคารพในเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
อาจกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ร่างโดยคนไม่มีความรู้เรื่องการเมือง ส่วนใหญ่ไม่เคยนั่งในสภา ไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง จึงมีแนวโน้มนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างสูง
กลายเป็นการแก้ปัญหาแบบลิงแก้แห ใช้คนไม่รู้จริงมาแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่รู้จริงแล้วยังไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ และขาดประสบ การณ์ ที่สำคัญคือมีอคติกับนักการเมืองและประชาชน
แม้ตลอด 80 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะต้องผ่านเหตุการณ์ล้มลุกคลุกคลานทางการเมืองหลายครั้ง แต่อยากให้ประชาชนชาวไทยเชื่อมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งดีที่สุดในกระแสโลกปัจจุบัน
เพราะเป็นการปกครองที่มีเจตนารมณ์สำคัญ เพื่อการคุ้มครองและรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมบ้านเมืองอย่างสงบสุข มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เคารพซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่างทางความคิด
บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม ยุติธรรม และสันติธรรม
การที่ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และวัฒนธรรมมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศ และได้รับการยอมรับนับถือจากนานาประเทศ
ก็ด้วยผลจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคณะผู้บริหารประเทศในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างแต่ประเทศไทยก็มีการพัฒนาอย่างก้าวหน้า
แต่วิธีการแก้ไขปัญหาจะต้องแก้ไปตามระบบ เช่น นักการเมืองที่ ทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องมีการจัดการตามระบบของกฎหมายหรือองค์กรที่มีอยู่ เป็นต้น
มิใช่พอเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นก็นำกำลังทหารออกมายึดอำนาจ
การทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีได้ จะต้องมุ่งเน้นให้ผู้แทนซึ่งเป็นผู้ที่ถูกเลือกโดยประชาชน เข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือพวกพ้อง หรือกลุ่มที่สนับสนุนตนเองแต่เพียงเท่านั้น
เป็นเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยประชา ชนต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ ทั้งการเลือกผู้แทนที่ดี และการตรวจสอบติดตามการทำงานของตัวแทนที่เลือกไป ให้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
รวมถึงการถอดถอนตัวแทนหรือผู้ปกครองที่ไม่ดีออกไปด้วย โดยองค์กรอิสระที่ประกอบด้วยผู้ทำหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระซื่อสัตย์สุจริต และปราศจากอคติทั้งปวง
ความสามัคคีปรองดองจะเกิดขึ้นโดยกฎหมายปรองดองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสาระสำคัญที่บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อยได้ก็เพราะทุกฝ่ายยึดมั่นในหลักกฎหมายเดียวกัน
โดยกฎและกติกาที่ใช้บังคับต้องเป็นกฎและกติกาที่ยุติธรรม ผู้ใช้กฎหมายต้องใช้กฎหมายโดยปราศจากอคติทั้งปวง และการใช้กฎหมายต้องประกอบด้วยหลักเมตตาธรรม
ประชาธิปไตยเริ่มต้นปีที่ 81 ขอให้ยึดมั่นในหลักที่ว่า ′ความยุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิด′ และ ′เมตตาธรรมค้ำจุนโลก′
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น