"...คำประกาศอิสรภาพ ของพระยาพหลพลพยุหเสนา..คนนี้"คือส่วนหนึ่งในการแสดงของ นิสิต นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รวมตัวกันเป็น คณะราษฎรที่สองต่อต้านอำนาจนอกระบบ เพื่อเป็นการรำลึกครบรอบ เนื่องในการปฏิวัติการปกครองของไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
หากนับรวมระยะเวลาการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงปัจจุบัน ก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 80 แล้ว แต่เส้นทางการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยของประเทศไทยก็ไม่ได้ถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะถ้าลองไปพลิกดูหน้าประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าประเทศไทย ถูกใช้กำลังในการแย่งชิงอำนาจการปกครอง ระหว่างทหารและพลเรือน รวมแล้ว 17 ครั้ง โดยแบ่งเป็นการปฏิวัติ รัฐประหาร 10 ครั้ง ก่อกบฏ อีก 7 ครั้ง
และในแต่ละครั้งที่มีการปฏิวัติ รัฐประหาร รัฐธรรมนูญ ของประเทศก็ถูกฉีกและถูกสร้างขึ้นมาใหม่ อยู่เรื่อยๆ ซึ่งทางนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ก็ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ทำให้กฎหมายของประเทศมีทิศทางที่ชัดเจน เพราะต้องยึดตามคำแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้เส้นทางประชาธิปไตยของประเทศ เข้าสู่วงจรอุบาทว์ของการเมืองไทย ที่วนเวียนอยู่ที่รัฐประหาร นำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ก่อนจะเป็นการเลือกตั้งผู้แทนเพื่อมาดำรงตำแหน่งทั้งในรูปแบบของรัฐสภา และรัฐบาล ซึ่งสุดท้ายเมื่อการบริหารของประเทศเริ่มเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ และความมั่นคงของประเทศ เป็นเหตุหลัก ก็จะกลับเข้าสู่การทำรัฐประหารอีกครั้ง
ดังนั้นการออกมาแสดงความคิดเห็นในรูปแบบหยิกแกมหยอก ของเหล่าบรรดาเยาวชนรุ่นหลัง ที่บริเวณด้านหน้า กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนวันครบรอบ 80 ปี ที่ประเทศมีการปกครองรูปแบบประชาธิปไตยถือเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจน ว่าเมื่อใดที่การเมืองของประเทศ มีทหารเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง อาจเปรียบเสมือนเป็นการทำให้เส้นทางประชาธิปไตยของไทย ถอยหลังเข้าคลองสู่จุดอับอีกครั้ง