วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

“จาตุรนต์” เผย ตุลาการดิ้นห้ามแก้รธน. คือ “รัฐประหารบนบัลลังก์”

(10 มิถุนายน 2555 go6TV) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา  นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้รับเกียรติเป็นวิทยากร งานเสวนา "ตุลาการภิวัตน์ หรือ รัฐประหารบนบัลลังก์ศาล" ณ ห้อง PSB 1101 อาคารคณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีประชาชน นิสิต นักศึกษา ให้ความสนใจเข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า "การรัฐประหารได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นการรัฐประหารโดยตุลาการภิวัฒน์หมายความว่ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญทำให้เกิดการล้มรัฐบาลขึ้นได้ โดยเฉพาะการยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ในความหมายที่มีการเสนอกันขึ้นมา คือ การให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาจัดการแก้ปัญหาการเมือง โดยมีสมมุติฐานว่าฝ่ายตุลาการเป็นอิสระ ปลอดจากการเมือง และจะทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนได้ดีกว่าฝ่ายอื่นๆ ซึ่งคำอธิบายนี้ขัดกับความข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย กล่าวคือฝ่ายตุลาการไม่เคยคุ้มครองปกป้องระบบประชาธิปไตย หรือไม่ได้ปลอดจากฝ่ายการเมืองหากแต่ปลอดจากประชาชน ในที่สุดได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ไร้ซึ่งบทบาทในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ไม่เหมือนกับตุลาการในประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นประชาธิปไตย"

"ตุลาการภิวัฒน์ดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการตั้งแต่ก่อนรัฐประหารในปี 2549 ที่เห็นได้ชัดจากการหารือกันระหว่างประธานศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลฎีกา ซึ่งต่อมาได้ออกมาแถลงว่าการพิจารณาคดีต่อจากนี้จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตรงนี้มันผิดหลักพื้นฐานของนิติธรรมและเจตนารมณ์ของการให้มีศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ จากการหารือนั้นได้เกิดผลทำให้ศาลปกครองได้สั่งชะลอ หรือระงับการเลือกตั้ง 1 ครั้งก่อนการทำรัฐประหาร และศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยไปในทางเดียวกัน คือ สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ด้วยเหตุที่มีการหันคูหาเลือกตั้งออกมาด้านนอก ทั้งที่การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งเพียงฝ่ายเดียว"

"เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ได้แสดงออกอย่างชัดเจนด้วยการยุบพรรคไทยรักไทย ในคำวินิจฉัยนั้นได้แสดงการรับรองการทำรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คำสั่งทั้งหลายเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายโดยการอ้างคำสั่งศาลฎีกาในอดีต ที่สำคัญได้ใช้ประกาศ คปค.ฉบับที่ 17 เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนซึ่งเป็นการใช้อำนาจเผด็จการย้อนหลัง ขัดต่อหลักนิติธรรมหลายประการ ลงโทษคนที่ไม่ได้มาต่อสู้ดำเนินคดี ต่อมาก็ใช้พจนานุกรมถอดถอนนายกรัฐมนตรีโดยไม่อิงกฎหมาย และพิจารณายุบพรรคการเมืองโดยไม่ต้องไต่สวนว่าพรรคการเมืองหรือนักการเมืองนั้นทำผิดจริงหรือไม่ จึงเป็นเหตุให้ล้มรัฐบาลไปทั้งหมด 2 ชุด"

"ปัญหาของประเทศไทยที่เป็นวิกฤติกันมา ได้เกิดการล้มรัฐบาลด้วยการรัฐประหาร และมีรัฐธรรมนูญซึ่งเกิดการถกเถียงว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เมื่อมีการเลือกตั้งเข้ามาก็ล้มรัฐบาลชุดนั้นลงไปอีก เมื่อมีการตัดสินด้วยการเลือกตั้งครั้งหลังสุด ประชาชนได้ตัดสินหลายครั้งว่าต้องการให้ใครเข้ามาเป็นรัฐบาลแต่กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ไม่คิดจะล้มเลิก"

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า "ปัจจุบันมีข้อถกเถียงว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ทางพรรคการเมือง สมาชิกสภานิติบัญญัติก็อาศัยกติกาตามรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกแบบให้ประชาชนเลือกสสร. คือต้องมาจากประชาชน และให้ประชาชนลงประชามติในขั้นสุดท้าย เพื่อที่จะหาข้อยุติว่ารัฐธรรมนูญที่ประชาชนเห็นชอบคือแบบใดกันแน่ มันเป็นกระบวนการที่จะแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองของประเทศ คือ ใครควรจะเป็นรัฐบาล และรัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไรตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย"

"เมื่อกำหนดให้ลงมติในวันที่ 5 มิ.ย.ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติว่าจะรับคำร้องของประชาชนที่ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญและอัยการ ผู้คนทั้งหลายก็เข้าใจว่าอัยการต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและถ้าอัยการเห็นว่าเป็นปัญหามีมูลก็ต้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผลปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับพิจารณาคำร้องที่มาประชาชนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และมีคำสั่งที่สร้างความสับสนในสังคม เมื่อไปตรวจดูก็พบว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้แบบฟอร์มหัวกระดาษเป็นหนังสือเรียกขอเอกสารจากหน่วยงาน แต่สั่งถึงเลขาธิการรัฐสภาให้แจ้งประธานสภาให้ชะลอการพิจารณาลงมติในวาระ 3 ถามว่าทำไมไม่สั่งไปที่ประธานรัฐสภา เพราะในอำนาจเรียกขอเอกสารมันไม่ครอบคลุมถึงรัฐสภา เขาก็คงรู้ว่าไม่มีอำนาจสั่ง ต่อมาก็มีหนังสือถึงประธานสภาแจ้งว่าได้สั่งเลขาธิการรัฐสภาแล้ว ตรงนี้ทำให้เกิดการถกเถียงว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจอย่างไร ใช้อำนาจอย่างไร และจะมีผลอย่างไรต่อไป"

"มตินี้เป็นที่ถกเถียงกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้อง และพิจารณาได้หรือไม่ ทีแรกก็ถกเถียงในเรื่องภาษาที่เขียนว่า บุคคลและพรรคการเมืองจะใช้สิทธิเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือไปให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมิได้ ผู้ใดทราบมีสิทธิที่จะร้องต่ออัยการสูงสุดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เขาก็ตีความว่า ผู้ทราบสามารถจะไปยื่นต่ออัยการและไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ขณะคนที่เข้าใจมาโดยตลอดว่า ผู้ทราบยื่นต่ออัยการให้อัยการตรวจสอบข้อเท็จจริงและร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หมายความว่าอัยการต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อเห็นว่ามีมูลจึงไปยื่นคำร้อง แต่ถ้าตีความตามศาลรัฐธรรมนูญคือ ผู้ทราบยื่นให้อัยการตรวจสอบข้อเท็จจริงและผู้ทราบไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นอย่างนี้อัยการจะมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเดียว พอเถียงกันแบบนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็บอกให้ไปดูรัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ตีความตามศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ดี"

อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย  กล่าวต่อไปว่า เมื่อวานนี้มีการเอาหนังสือคำสั่งเก่าออกมา ซึ่งเป็นการให้คำตอบที่ชัดเจนที่สุดว่าเคยตีภาษาไทยนี้เป็นอย่างไร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้องของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ ที่ได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นข้อความเดียวกันมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เขาร้องว่านายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ได้เรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ซึ่งไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยและจะนำไปสู่การได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยไม่ใช่วิถีทางของรัฐธรรมนูญ และขอให้มีการยุบพรรค ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมพิจารณาคำร้องและวินิจฉัยว่าผู้ร้องต้องไปยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องไม่มีอำนาจที่จะร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนุญ และลงชื่อโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน โดยสรุปมันการเล่ห์กลทางภาษาของศาลรัฐธรรมนูญ ใช้มาตรา 68 นี้ขัดวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ด้วยตัวของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเหตุให้คนไปยื่นถอดถอน หากศาลรัฐธรรมนูญทำตัวเป็นรัฐธรรมนูญต่อไป"

"ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจว่ากฎหมายใดๆ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ไม่มีอำนาจยุติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐสภาต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอำนาจในการร่าง และวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญอยู่ที่รัฐสภา นี่คือระบบกฎหมายของประเทศนี้ที่จะเอามาตรา 68 มาก้าวก่ายไม่ได้ สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญทำคือเอามาตรา 68 ซึ่งว่าด้วยบุคคลมาใช้กับรัฐสภาแล้วตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภากำลังพิจารณาอยู่ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ และรัฐสภา คณะรัฐมนตรีไม่ใช่บุคคล"

อย่างไรก็ตามถ้าศาลรัฐธรรมนูญยังทำต่อไปจะนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง การเสนอถอดถอนครม.ทั้งคณะ และหากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ลงมาเล่นด้วย และสอบว่ามีมูล ครม. ต้องพักการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เปิดโอกาสให้ข้าราชการประจำทำหน้าที่แทนรัฐมนตรี จะทำให้เกิดวิกฤติทันทีและนำไปสู่มาตรา 7 หมายถึงศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะขัดรัฐธรรมนูญในเรื่องอำนาจในการบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภา ซึ่งฝ่ายตุลาการได้เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง หักล้างอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ถ้ารัฐสภาลงมติก็ถือว่าเรื่องเป็นที่ยุติ ส่วนเขายังจะสั่งอีกหรือไม่ว่าห้ามส่งเรื่องไปให้นายกรัฐมนตรีก็ต้องติดตามกันต่อ"

"เมื่ออาทิตย์ก่อนได้เสนอไปแล้วว่าเกิดการรัฐประหารโดยตุลาการภิวัฒน์ เราต้องช่วยกันต่อต้านการรัฐประหารนี้ทำไม่สำเร็จ และเมื่อทำไม่สำเร็จย่อมส่งผลให้พวกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นกบฎ"