วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

"ปลัดยรรยง" ท้าเดิมพัน "ปชป." สมัยมาร์คให้ ก.พานิชย์แก้ไข่ชั่งโล น้ำมันปาล์ม ทำไมไม่พูด!



นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวตอบโต้กรณีพรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ปลดออกจากตำแหน่งว่า ขอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พิจารณาปลดนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกจากตำแหน่ง เพราะทำหน้าที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการเสนอข้อมูลสินค้าแพงทั้งแผ่นดิน จึงอยากถามว่ามีสินค้าใดแพงบ้าง ไปสำรวจที่ไหน และคนสำรวจมีความรู้ เคยจ่ายตลาดมาก่อนหรือเปล่า เพราะข้อเท็จจริงสินค้าทั้งถูกและแพง เช่น ไข่ไก่ เนื้อหมูราคาลดลงจากเดือนเมษายนปีก่อน แต่ไม่พูดถึง ขณะที่ ถั่วฝักยาว  กก. 80 บาท จากการตรวจตลาดซึ่งเป็นของเดือนพ.ค.55 แต่กลับนำตัวเลขเดือนเม.ย.ปีที่แล้วเป็นการบิดเบือนตัวเลข

“นายชวนนท์ มีบุคลิกภาพไม่เหมาะสมเป็นโฆษกพรรค เพราะแม้จะหน้าไม่หล่อเหมือนพระเอกโฆษกพรรคเพื่อไทยก็ไม่เท่าไหร่ แต่นี่หน้าตากับเหมือนปลาบู่ชนเขื่อน คือหน้าตาเจ็บๆ ไม่ไว้วางใจคนอื่น ขอให้พรรคประชาธิปัตย์เลือกคนอื่นที่หน้าตาดี ซึ่งมีมากมาย ทั้งหล่อเล็ก หล่อใหญ่ หล่อจิ๋ว เลือกใครก็ได้ที่มีบุคลิกภาพที่ดีเป็นมิตรและมีความสามารถกว่านี้ จะช่วยให้พรรคฯ มีฐานมวลชนเพิ่มขึ้นได้ ผมพร้อมจะเดิมพันด้วยตำแหน่งปลัดของผม ถึงแม้เดิมพันขอเค้าจะน้อยกว่า เพราะเค้าไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ท้าเลยถ้ามีข้อมูลว่า พาณิชย์ทำข้อมูลเท็จ หรือผมทำข้อมูลเอาใจการเมืองก็เปิดเผยมา หรือแจ้งต่อสาธาณชนได้ และที่ผ่านมาสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ กระทรวงพาณิชย์ก็เป็นเครื่องไม้เครื่องมือช่วยแก้ปัญหาของแพงมาตลอด ทั้งน้ำมันปาล์มขาดแคลน หรือทำไข่ชั่งกิโลขาย”นายยรรยงกล่าว

นายยรรยงกล่าวว่า การดำเนินการแก้ปัญหาของแพงกระทรวงพาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการเพิ่มการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการกำกับดูแลราคาสินค้า (วอร์รูม) ให้เข้มข้นขึ้น โดย รมว.พาณิชย์ เป็นประธานกำกับดูแลเอง เน้นกำกับดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น 20 รายการ โดยจะนำของกรมการค้าภายใน กับสำนักดัชนีราคาสินค้า เชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลภาคประชาชน และธุรกิจ หากมีสินค้าใดที่มีแนวโน้มปรับราคาสูงกว่าปกติ หรือเสี่ยงจะขาดแคลน ต้องกำหนดมาตรการดูแลป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา

สำหรับราคาอาหารสำเร็จรูปที่ปรับสูงขึ้นสวนทางกับต้นทุนอาหารสด และเครื่องประกอบอาหารที่ถูกลงนั้น นายยรรยง กล่าวว่า จากการสำรวจเห็นว่าราคาอาหารจานด่วนส่วนใหญ่ยังขาย 30-35 บาท ยกเว้นห้างสรรพสินค้าหรือร้านหรูหราที่ราคาอาจแพงบ้าง แต่ยอมรับว่า การใช้มาตรการไปบังคับเข้มงวดคงทำลำบาก เพราะผู้ค้าส่วนใหญ่เป็นรายย่อย  ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาจะเน้นการดูแลกลไกตลาด สร้างทางเลือกอาหารราคาถูกแก่ผู้บริโภค เช่น ผ่านร้านมิตรธงฟ้าที่มี 5 พันกว่าแห่งทั่วประเทศ รวมถึงร้านถูกใจซึ่งมีผู้สมัคร 5,858 ราย และเปิดให้บริการจริงแล้ว 50 ราย

“ขอท้าทายพรคคประชาธิปัตย์ให้นำข้อมูลที่แท้จริงมาชี้แจงว่า สินค้ารายการใดแพงกว่าเมื่อเทียบเดือนเม.ย.ปีนี้ กับปีที่แล้ว ซึ่งทางนายกฯ พยายามอธิบายว่า ราคาวัตถุดิบเริ่มแพงขึ้นตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ประกอบกับราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ร้านค้าเริ่มขยับราคาอาหารสำเร็จรูป และในความเป็นจริงการเพิ่มราคาอาหารจะเพิ่มเป็นเศษจะไม่เพิ่ม 1 บาท หรือ 2 บาท  จึงนิยมเพิ่มคราวละ 5-10 บาทแทน  ที่ไม่ลดราคาลง เพราะรายย่อยก็ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าวัตถุดิบส่วนใหญ่จะปรับลดลง กระทรวงพาณิชย์พยายามจะหามาตรการเพิ่มเติมออกมากำกับดูแล เช่น  การนำข้าวถุงของรัฐบาล 3 หมื่นตันมาขายราคาถูกแก่แม่ค้า รวมถึงเสนอให้ ครม.พิจารณาข้อมูลราคาสินค้าเพื่อนำไปแก้ไขค่าครองชีพแบบบูรณาการ  เพราะเราก็เป็นห่วงปัญหาอาหารแพงกระทบกับประชาชน และอาจกระทบต่อเงินเฟ้อได้ ”

ไม่มีความคิดเห็น: