วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

DSI รับคดี “สุเทพ” พร้อมพวก กปปส. เป็นคดีพิเศษ เจอ 6 ข้อหาหนัก เตรียมออกหมายเรียก


17 ธันวาคม 2556 go6TV – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) นายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการ รมว.ยุติธรรม ในฐานะรองประธาน กคพ.พร้อมด้วยคณะกรรมการคดีพิเศษ ร่วมประชุมเพื่อพิจารณารับคดีอาญาเป็นคดีพิเศษโดยมี นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เป็นเลขานุการ กคพ.ประมวลเรื่องเข้าสู่การพิจารณา โดยใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 2 ชม. ซึ่งหลังการประชุมนั้นที่ประชุมได้มีมติรับคดี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกลุ่ม กปปส.พร้อมพวก ที่เกิดในช่วงการชุมนุมเป็นคดีพิเศษ

นายธาริต แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กคพ.มีมติรับกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมพวก ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดทางอาญา สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่ กทม. และบางจังหวัดตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นมา และความผิดที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพัน โดยมีมติให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษดีเอสไอ พนักงานอัยการ และพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ร่วมสอบสวนด้วยความโปร่งใส ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เนื่องจากเป็นคดีที่มีซับซ้อน ต้องใช้ พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ บูรณาการร่วมกัน 3 ฝ่าย เพื่อประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม ตนยืนยันว่าการพิจารณาของคณะกรรมการ กคพ.เป็นไปตามข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย เพราะการสอบสวนของตำรวจได้พบความผิดเกิดขึ้นก่อนหน้านี้จนกระทั่งศาลอาญาออกหมายจับในคดีกบฏ เบื้องต้นตำรวจได้รับคดีเกี่ยวกับ กปปส.ไว้ 60 คดี แต่พิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษมีเพียง 20 คดี โดยมีฐานความผิดในคดีหลัก ประกอบด้วย มาตรา 113 มาตรา 114  มาตรา 116  มาตรา 117 มาตรา 210 และมาตรา 215 ประมวลกฎหมายอาญา

ดีเอสไอสามารถดำเนินคดีได้ทั้งหมดในคดีเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันในภาพรวมรวม ทั้งกลุ่มท่อน้ำเลี้ยงสนับสนุน ส่วนที่เหลือเป็นคดีเล็กน้อยพกพาอาวุธมีด หรือทำร้ายร่างกายกัน ส่วนแนวทางการสอบสวนตนจะเรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษคดีดังกล่าวเป็นนัดแรกในเวลา 14.00 น. วันที่ 18 ธ.ค.56 โดยจะมีการพิจารณาออกหมายเรียกแกนนำคนอื่นๆ ด้วย และกลุ่มท่อน้ำเลี้ยง การตรวจสอบบัญชี และการอายัดบัญชี ตนจะแถลงแนวทางการดำเนินคดีหลังการประชุม ส่วนคดีที่กบฏ ที่ศาลอาญาออกหมายจับนายสุเทพ ไว้ เมื่อ กคพ.ลงมติเป็นคดีพิเศษ หมายจับคดีดังกล่าวจะอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ และพนักงานสอบสวนจาก สตช. ส่วนแนวทางการนำตัวนายสุเทพ มาดำเนินคดีตามหมายจับยังเร็วเกินไปที่จะตอบว่าจะออกไปจับกุมภายนอก หรือจะเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา ต้องหารือกับพนักงานสอบสวนก่อน” นายธาริตกล่าว

มีรายงานว่า สำหรับคดีที่ดีเอสไอได้รับไว้เป็นคดีพิเศษ เพื่อดำเนินคดีต่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมพวก ประกอบด้วย มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญหรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ (3) แบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 114 ผู้ใดสะสมกำลังพล หรืออาวุธตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกัน เพื่อเป็นกบฏ หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการ เพื่อเป็นกบฏ หรือยุยงราษฎรให้เป็นกบฏ หรือรู้ว่ามีผู้จะเป็นกบฏแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

มาตรา 117 ผู้ใดยุยง หรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้าง หรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขาย หรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใดๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อบังคับรัฐบาลหรือเพื่อข่มขู่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 210 ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิด อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท


มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ไม่มีความคิดเห็น: