วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

"พีมูฟ" ชี้ทางออกวิกฤติประเทศไทย คือ เลือกตั้ง-ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง



16 ธันวาคม 2556 go6TV - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ "พีมูฟ" ประกอบด้วยเครือข่ายสลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สัมชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล แถลงการณ์ฉบับที่ 41 เรื่อง "ผ่าวิกฤติประเทศไทย เดินหน้าเลือกตั้ง ควบคู่การปฏิรูปประเทศไทย"

นางอำพร จำปาทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผยว่า ตามที่สถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในสภาวะวิกฤติในขณะนี้ โดยมีสาเหตุหลักคือความไม่เชื่อมั่นต่อพฤติกรรมของนักการเมือง และระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภาคส่วนต่างๆในสังคมได้ออกมาเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่นั้น ขปส.ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจนี่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต อันเป็นปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน ปัญหาการไร้สิทธิสถานะและชาติพันธุ์ ปัญหาจากการสร้างเหมืองและโรงไฟฟ้า ปัญหาการทำเกษตรพันธะสัญญา รวมทั้งปัญหาความไม่เป็นธรรมจาก กระบวนการยุติธรรม ทั้งจากคนจนในชนบทและคนจนในเมืองดังนั้นในฐานะหุ้นส่วนทางสังคมมีความเห็นต่อสถานการณ์วิกฤติทางการเมือง ดังนี้

1.การคอรัปชั่นที่เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย เกิดขึ้นจากการกระชับอำนาจไว้ที่นักการเมืองเพียงไม่กี่กลุ่ม ที่พากันฉกฉวยโอกาสและแย่งชิงทรัพยากรส่วนรวมไป กลุ่มคนจน คนรากหญ้า คนชายขอบตกอยู่ในสภาพของผู้ถูกกระทำมาตลอด คนเหล่านี้ถูกบังคับให้จำนนต่อการเอาเปรียบมายาวนานในสังคมไทย

2.มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ทั้งการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจและสังคม การปฏิรูปเป็นการปรับเปลี่ยนและยกระดับแนวคิด เนื้อหาและกฎเกณฑ์ต่างๆในอดีตที่ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของสังคม 

3.การปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้ คงไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ในช่วงเวลา 1 หรือ 2 ปี เพราะการปฏิรูปต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน โดยไม่ขัดแย้งต่อระบอบประชาธิปไตย และกติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการปฏิรูปอาจนำไปสู่การปรับปรุงกติกาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปด้วยต่อสถานการณ์ดังกล่าว 

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ "พีมูฟ" ขอแสดงจุดยืน ดังนี้

1.สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพราะเป็นขั้นตอนสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและกติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

2.สนับสนุนให้มีการปฏิรูปทางโครงสร้างครั้งใหญ่ ดังนี้ 

2.1 การปฏิรูปการเมือง ซึ่งขปส.ไม่เชื่อว่าการปฏิรูปการเมือง เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือแม้แต่การจัดตั้งองค์กรทางการเมืองเพื่อถ่วงดุลอำนาจจะเป็นหนทางเดียวที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างโดยรวมของสังคมไทย ถึงแม้จะมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิรูปการเมือง แต่หากขาดการปฏิรูปโครงสร้างอื่นๆที่สำคัญ ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่เป็นธรรมได้ 

2.2 การปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน 

2.3 การปฏิรูปการจัดการและการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ 

2.4การปฏิรูปอำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรม

ด้านนายกฤษกร ศิลารักษ์ ผู้ประสานงาน ขปส. กล่าวว่า "จากการประชุมหารือกันของขปส. มีมติร่วมกันว่า ทางออกของประเทศไทยขณะนี้ต้องมุ่งไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง ควบคู่ไปกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้างใหญ่ทางสังคม เพื่อเป็นหลักประกันสำคัญที่ยืนยันว่าเสียงของประชน จะไม่หมดความหมายลงหลังการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ในเบื้องต้น ขปส. จึงเห็นด้วยตามข้อเสนอของหลายฝ่าย ที่ต้องการให้มีการตั้งคนกลางขึ้นมาควบคุมดูแลกระบวนการเลือกตั้ง แต่เนื่องจากขณะนี้ความเห็นของประชาชนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ดังนั้นกระบวนการสรรหาคนกลางจะต้องเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันกระบวนการสร้างความร่วมมือในสังคมไทย ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะในระยะยาวจะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภาพรวมได้"

นายกฤษกร กล่าวต่อว่า "ก่อนหน้านี้ทาง ขปส. ได้รับเชิญทั้งจากรัฐบาลและ กปปส. ให้เข้าร่วมในเวทีปฏิรูปต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเราเห็นว่า การเข้าร่วมในเวทีดังกล่าวนั้นมุ่งไปที่การปฏิรูปแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพียงอย่างเดียว จึงขอสงวนท่าทีในการเข้าร่วมเวทีต่างๆ เพราะเราเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ต้องปฏิรูป 3 อย่าง ควบคู่กันไป คือ 1.การเมือง โดยเฉพาะการได้มาซึ่งอำนาจและการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม 2.เศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสร้างหลักประกันรายได้ของเกษตรกร และ 3.สังคม โดยเฉพาะการถ่วงดุลอำนาจทั้ง 3 ฝ่าย แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าขาดความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับสมัครเลือกตั้ง ในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2557 ทางขปส.จะประสานไปยังพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อนำเสนอรายละเอียดและรูปแบบแนวทางปฏิรูปเชิงโครงสร้างใหญ่ ที่ภาคประชาชนได้จัดเวทีขึ้นอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการแสดงจุดยืนของภาคประชาชนว่า การปฏิรูปเชิงโครงสร้างนั้นควรต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม"






ไม่มีความคิดเห็น: