วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

"ศ.ธงชัย-โรเบิร์ต" ให้สัมภาษณ์หลังให้การศาลอาญาระหว่างประเทศ



ศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อดีตผู้นำขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519   ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ในสหรัฐฯ  เขียนจดหมายถึงศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ไอซีซี   ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเหยื่อในเหตุการณ์เมษายน - พฤษภาคม 2553  โดยเขาเป็นหนึ่งในผู้เข้าให้ข้อมูลกับอัยการ พร้อมกับกลุ่มคนเสื้อแดง 
 
โดยศาสตราจารย์ธงชัย  ได้เล่าย้อนถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีลักษณะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่เหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในเดือนตุลาคม ปี 2516 ที่มีผู้เสียชีวิต 70 ราย และบาดเจ็บอีกนับพันคน ที่จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีหน่วยงานใด ที่เข้าไปตรวจสอบถึงสิ่งที่เกิดขึ้น 
 
จนกระทั่งเดือนตุลาคม ปี 2519 ก็เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก โดยรัฐบาลสลายการชุมนุมของประชาชนและนักศึกษา จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 40 ราย บาดเจ็บอีก 100 คน 
 
ซึ่งการสลายการชุมนุมดังกล่าว มีการใช้อาวุธหนัก บางคนถูกเผาทั้งเป็น ถูกข่มขืน รวมถึงการแขวนคอ ขณะที่ ผู้รอดชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็ถูกจับตัวไปคุมขัง ซึ่งรวมถึงตัวของเขาเองด้วย ที่ถูกคุมขังนานถึง 2 ปี แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว ไม่มีใครออกมาตรวจสอบ หรือลงโทษผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ทุกคนพยายามที่จะลืมเรื่องนี้ และปล่อยให้สิ่งที่เกิดขึ้นผ่านพ้นไป
 
จากนั้น ในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 ก็เกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีก และมีผู้เสียชีวิตถึง 70 ราย ซึ่งแม้ว่าในครั้งนี้ จะมีการเปิดเผยรายงานการตรวจสอบคดีดังกล่าวออกมา แต่ข้อมูลบางส่วนกลับถูกเซ็นเซอร์ และบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง
 
โดยศาสตราจารย์ธงชัย ได้เรียกร้องให้ไอซีซี  ช่วยเข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์สังหารผู้ประท้วง เมื่อสองปีก่อน และช่วยนำตัวคนผิดมาดำเนินคดี เนื่องจากสถาบันหลักต่างๆในประเทศไทย ไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ เนื่องจากวัฒนธรรมการนิรโทษกรรมคนผิด ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก และฝังรากลึกในสังคมคนไทย
 
ศาสตราจารย์ธงชัย ระบุว่า เหตุการณ์นองเลือดทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นับตั้งแต่เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ปราบกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวสิ้นสุดลง บรรดาผู้นำในสังคมไทยต่างไม่มีใครสนใจที่จะสืบสวนหาข้อเท็จจริง และเอาผิดกับผู้สั่งการสังหารประชาชน
 
ขณะเดียวกัน ระบบตุลาการในไทย ก็ไม่เคยแสดงบทบาทที่เป็นอิสระ ในการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น เนื่องจากพวกเขายึดมั่นในหลักการที่ว่า การปฏิวัติรัฐประหาร   ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องหากทำสำเร็จ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้มีอำนาจไม่เกรงกลัวในการสั่งการปราบปรามประชาชน
 
โดยในเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมในเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม ปี 2553 ผู้นำทางการเมือง และการทหารของไทย ไม่ได้คำนึงถึงผลที่พวกเขาจะได้รับหลังการสั่งการปราบปรามประชาชน อันเนื่องมาจากวัฒนธรรมการละเว้นโทษดังกล่าว ทำให้พวกเขาใช้มาตรการที่ไม่ชอบธรรม ทั้งการกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย และสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาเพื่อหาความชอบธรรมในการสังหารประชาชน  
 
บทสรุปของจดหมายฉบับนี้ ศาสตราจารย์ธงชัย ยังย้ำว่า แม้ประเทศไทย จะไม่โดดเด่นในสายตาประชาคมโลก  และมีผู้เสียชีวิตไม่มากเหมือนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่การรับพิจารณาคดีนี้ จะป้องกันไม่ให้เกิดวงจรการให้อภัยผู้กระทำผิดซ้ำซาก 

ไม่มีความคิดเห็น: