นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และ ตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กล่าวระหว่างงานเสวนา “โอลิมปิก และบอลโลก ทางออกผู้บริโภค ไม่ต้องชมจอดำ” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ว่า การแข่งขันโอลิมปิกที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้อาจเกิดปัญหาจอดำอีกครั้ง เพราะโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทรท.ได้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดมาแบบระบบภาคพื้นดิน (Terrestrial)
ทั้งนี้ ลิขสิทธิ์ดังกล่าว จึงไม่ครอบคลุมถึงทีวีดาวเทียม โทรทัศน์ที่ดูผ่านระบบอินเตอร์เน็ตโดยบอกรับสมาชิก หรือ ไอพีทีวี และช่องทางออกอากาศ หรือ แพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้ผู้ชมที่รับชมผ่านดาวเทียมทุกจานจะไม่สามารถรับชมได้ แต่เชื่อว่า ทรท.จะเร่งเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนได้รับชมการแข่งขันครั้งนี้ เพราะเป็นการแข่งขันของมวลมนุษยชาติ
นางนุสรา กาญจนกุล นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2537 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมระบุชัดเจนว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิ์สามารถจะให้สิทธิ์แก่ผู้รับสิทธิ์ไปดำเนินการใดๆ ได้ และเมื่อเจ้าของสิทธ์ให้สิทธิ์ไปแล้ว ผู้ได้รับสิทธิ์จะต้องเผยแพร่อย่างเป็นธรรม และไม่ไปหาผลตอบแทนหรือจำกัดสิทธิ์ หรือไปดำเนินการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจรจาการค้า ลิขสิทธิ์รายการ กล่าวว่า รมว.กระทรวงพาณิชย์สามารถออกประกาศได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกจอดำอีก ซึ่งหากกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความร่วมมือ ก็สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเรื่องนี้เป็นการแข่งขันทางธุรกิจ เอกชนได้ผลประโยชน์จากการเก็บค่ากล่องรับสัญญาณ และฟรีทีวีไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์อีก
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการพูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์ ส่งผลให้ผู้แทนของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โต้แย้งว่า การออกอากาศของช่อง 7 ไม่เคยอนุญาตให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์ดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวีรายใดนำช่องสัญญาณของช่อง 7 ไปออกอากาศต่อ (Re Broadcast) ดังนั้น ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเหล่านี้ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ที่นำช่อง 7ไปออกอากาศต่อ
นายสันติภาพ เตชะวณิช อดีตผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยและตัวแทน บริษัท ทศภาค กล่าวว่า กสทช.ต้องเร่งออกกฎเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ทั้งหมดโดยเร็ว โดยกำหนดให้มีสถานีโทรทัศน์ที่ให้บริการประชาชน 1 ช่อง รวมทั้งควรให้ทีวีสาธารณะ เช่น ไทยพีบีเอส มีส่วนในการประมูลลิขสิทธิ์เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่ใช่การแข่งขันที่กำหนดโดยเอกชนในขณะนี้ และราคาลิขสิทธิ์การแข่งขันจากต่างประเทศที่จะสูงเกินความจำเป็นสำหรับประเทศไทย
น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ผู้บริโภคกำลังลำบาก หากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ยังเป็นเช่นนี้ และคำตอบไม่เป็นที่น่าพอใจ และขอให้ทางทรท. ผู้ประกอบการฟรีทีวีและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ไปหารือแนวทางที่จะทำให้ผู้ชมได้ชมการแข่งขันโอลิมปิกในทุกช่องทาง โดยบอร์ด กสท.จะนำเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 9 ก.ค.นี้
อ้างอิง โพสต์ทูเดย์