วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
ตุลาการศาล รธน.เริ่มไต่สวนกรณีแก้ รธน.
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมพิจารณาไต่สวนคดีกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ในเช้าวันนี้ โดยจะเริ่มจากการเบิกความคำร้องที่ผู้ร้องยื่นอ้างอิงรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่าด้วยการพิทักษ์รัฐธรรมนูญก่อน ขณะที่ ชมรม ส.ส.ร.ปี 2550 ออกแถลงการณ์ให้กำลังใจการพิจารณาของตุลาการ และ พร้อมน้อมรับในคำวินิจฉัย
(5 กรกฎาคม 2555 - go6TV) นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า หลังจากได้ประชุมตรวจเอกสารและพยาน เพื่อร่วมวางกรอบการไต่สวนพิจารณาที่จะมีขึ้นในเช้าวันนี้แล้ว ขณะที่ศาลได้คัดพยานที่ต้องมาให้ปากคำทั้งสองวันรวม 15 ปาก โดยวันนี้ (5 ก.ค.) ให้ฝ่ายผู้ร้องนำพยานบุคคลเข้าไต่สวนด้วยวาจาต่อศาลก่อน 7 คน จาก 15 คน ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม,นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์,นายวันธงชัย ชำนาญกิจ,นายวิรัตน์ กัลยาศิริ,นายสุรพล นิติไกรพจน์,นายวรินทร์ เทียมจรัสและนายบวร ยสินทร
ส่วนพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง 8 คน ที่จะขึ้นให้ปากคำในวันถัดไป ได้แก่ นายวัฒนา เซ็งไพเราะ หรือ นายสมศักดิ์ เกียรสุรนนท์,นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล,นายโภคิน พลกุล,นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ,นายอุดมเดช รัตนเสถียร,นายสามารถ แก้วมีชัย,นายชุมพล ศิลปอาชา และ นายภราดร ปริศนานันทกุล ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มกิจกรรมของกลุ่มในกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านการทำหน้าที่ของศาล โดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด พร้อมประชาชนจำนวนมาก เดินทางไปแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการให้ใบแดงตุลาการฯ
ขณะที่กลุ่มมวลชนที่เรียกตัวเองว่า "กองทัพปลดแอกประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เข้าปักหลักชุมนุมให้กำลังใจตุลาการฯ รวม 3 วัน โดยมีแนวร่วมที่แสดงเจตนาสมทบการชุมนุมในวันพรุ่งนี้อีก คือกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ส่วน ชมรม ส.ส.ร. ปี 2550 ซึ่งมี นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ เป็นประธาน ออกแถลงการณ์ให้กำลังศาลรัฐธรรมนูญ และ พร้อมน้อมรับคำวินิจฉัย แต่ได้ย้ำเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญในมาตรา 68 และ มาตรา 291 ในการห้ามล้มล้างรัฐธรรมนูญฯ ทุกรูปแบบ ทั้งการปฏิวัติรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจเผด็จการทางรัฐสภาเป็นช่องทางล้มล้าง ด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประกาศใช้แทน
ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับ 5 คำร้อง ทั้งจากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์,ส.ว.กลุ่มหนึ่งและจากภาคประชาชน รวมถึงนักวิชาการที่เข้ายื่นเรื่องให้วินิจฉัยโดยอ้างอิงถึงมาตรา 68 ว่าด้วยการพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือการได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญ ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการเลิกการกระทำได้