วันนี้ (19 ก.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยจีที 200 (GT200) และอัลฟ่า 6 (ALFA 6) กรณีที่ดีเอสไอสรุปผลการสอบสวนการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวของ 13 หน่วยงาน ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่า ดีเอสไอจะรอการตรวจสอบภายในของหน่วยงานทั้ง 13 แห่ง เพื่อให้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อบริษัทผู้ผลิต และตัวแทนจำหน่ายเครื่องดังกล่าว ซึ่งตนขอให้เวลาหน่วยงานเหล่านี้สักระยะ หากพบว่าไม่มีหน่วยงานใดเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ และยืนยันว่า ตรวจสอบการจัดซื้อของหน่วยงานแล้วไม่พบว่าถูกหลอกลวง หรือทุจริต ดีเอสไอจะสอบถามถึงรายละเอียด และเข้าตรวจสอบว่าข้อมูลเป็นจริงหรือไม่ เพราะแม้ไม่มีหน่วยงานใดเข้าร้องทุกข์ แต่จากมูลความผิดที่ดีเอสไอสอบพบก็สามารถดำเนินคดีได้ แต่ช่วงนี้จะให้โอกาสทั้ง 13 หน่วยงานตรวจสอบตัวเองก่อน แต่เชื่อว่าทั้ง 13 หน่วยงานจะไม่รอให้คดีขาดอายุความ
“ในการดำเนินคดีอาญา อัยการอาจมีคำขอในทางแพ่งโดยขอให้ศาลพิพากษาลงโทษทั้งอาญา และให้ชดใช้ในทางแพ่ง โดยต้องดูความเชื่อมโยงระหว่างตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย หรือบริษัทแม่ในประเทศอังกฤษ หากการซื้อขาดตอนไม่ซื้อบริษัทแม่จะเป็นความรับผิดชอบตัวแทนจำหน่าย แต่ถ้าบริษัทแม่เป็นตัวการซื้อขายความรับผิดชอบของบริษัทแม่ ต้องดูรายละเอียดแต่ละสัญญาที่มีการสั่งซื้อ ระหว่างนี้ ขอให้หน่วยงานที่จัดซื้อไปตรวจสอบกันเองก่อนว่าซื้อแพงหรือไม่ มีการฮั้วหรือไม่ ได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพตรงตามที่อวดอ้างหรือไม่ ยืนยันว่า การออกมาเปิดเผยข้อมูลในช่วงนี้เป็นเพราะถูกทวงถามความคืบหน้าหลังทางการอังกฤษดำเนินคดีฉ้อโกงต่อเจ้าของบริษัทที่หลอกลวงขายให้แก่ลูกค้ากว่า 20 ประเทศ” นายธาริต กล่าว
นายธาริต ยังกล่าวถึงกรณีที่ รมว.กลาโหม ออกมายืนยันประสิทธิภาพการทำงานว่าใช้ได้จริง และขอให้ดีเอสไอสอบถามความเห็นของผู้ใช้งานเพื่อประกอบการพิจารณานั้น ยืนยันว่า ดีเอสไอไม่ได้ทำคดีเพื่อจับผิดหน่วยงานใด แต่เมื่อมีการกล่าวหา ดีเอสไอก็ต้องตรวจสอบไปตามหน้าที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น