The most powerful images from the protests against President Hosni Mubarak in Egypt on Feb 4, 2011.
ประชาชนชาวอียิปต์ที่ต่อต้านประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ยังคงออกมารวมตัวเคลื่อนไหวกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อขับไล่ผู้นำรายนี้ออกจากตำแหน่ง เมื่อวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน กองทัพก็ได้เพิ่มกำลังทหารเข้าไปดูแลจัตุรัสตาห์รีร์ในกรุงไคโร หลังเกิดเหตุความไม่สงบจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มสนับสนุนและต่อต้านนายมูบารัค ซึ่งผลให้ให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 800 ราย
อย่างไรก็ตาม กลับไม่มีสัญญาณว่ากลุ่มผู้สนับสนุนนายมูบารัคจะออกมาก่อกวนกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านเช่นดังเหตุการณ์ในช่วงสองวันที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ นายมูบารัคเพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้สึก "หมดเรี่ยวแรง" ที่จะอยู่ในตำแหน่งประาธานาธิบดีอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องต่อต้านแรงกดดันที่บีบคั้นให้ตนเองลาออกจากตำแหน่ง เพราะวิตกว่าหากเขาลาออกแล้ว ประเทศอียิปต์ก็จะต้องตกอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบ
ขณะเดียวกัน อยาโตลลาห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ได้ออกมาระบุว่าการลุกฮือของประชาชนในอียิปต์และตูนิเซียถือเป็น "ขบวนการปลดปล่อยอิสลาม"
โดยคาเมนีกล่าวระหว่างเข้าร่วมพิธีละหมาดในมหาวิทยาลัยเตหะรานว่า ประชาชนกำลังได้เห็นถึงการสะท้อนกลับมาอีกครั้งหนึ่งของเหตุการณ์ปฏิวัติอิสลามในประเทศอิหร่าน เมื่อปี พ.ศ.2522
"การตื่นตัวของชาวมุสลิมในอียิปต์ คือ ขบวนการปลดปล่อยอิสลาม และข้าพเจ้า ในนามของรัฐบาลอิหร่าน ขอแสดงความเคารพต่อประชาชนชาวอียิปต์และตูนิเซีย" ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกล่าวและกระตุ้นให้ กลุ่มผู้ประท้วงชาวอียิปต์เดินตามรอยการปฏิวัติอิหร่าน ซึ่งทำการโค่นล้มผู้นำที่เอียงข้างสหรัฐอเมริกา และสถานปนาสาธารณรัฐอิสลามขึ้นมาแทนที่
คาเมนีระบุอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตูนิเซียและอียิปต์ถือเป็นสัญญาณแห่ง "การตระหนักรู้ของอิสลามิกชน" ในภูมิภาคอาหรับ นอกจากนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านั้นยังแสดงให้เห็นถึง "ความพ่ายแพ้ที่หมดทางเยียวยา" ของสหรัฐฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น