วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

อาจารย์จุฬาฯ ชี้ข้อเสนอ "คณะรัฐบุคคล" ถือเป็นการทำรัฐประหารเงียบ ย้ำชัด "ประธานองคมนตรี" ไม่ได้มีหน้าที่รับสนองฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกรณีคณะรัฐบุคคลเสนอให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พูดคุยกับองค์กรต่างๆ ทั้งตุลาการและทหาร และผู้นำทางสังคม เพื่อร่างพระบรมราชโองการทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แก้วิกฤตการเมือง

“จากข้อเสนอของ พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะคณะรัฐบุคคลนั้น มองว่าถ้ากระทำการได้สำเร็จจริงๆ จะถือเป็นการทำรัฐประหารเงียบชนิดหนึ่ง เพราะว่าสุดท้ายเป้าประสงค์ของข้อเสนอนี้คือการได้มาซึ่งนายกฯมาตรา 7 อันเท่ากับการเปลี่ยนผู้ถือครองอำนาจรัฐ พร้อมทั้งใช้ช่องทางมาตรา 7 เป็นการกำหนดการได้ผู้นำรัฐไปในตัวอีกด้วย


ส่วนกรณี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่จะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการแต่งตั้งนายกฯนั้น คิดว่ายิ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่ามาตรา 7 นี้ไม่ได้ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ที่จะแต่งตั้งใครเป็นนายกฯ แต่ทว่ากลับมีการตีความมาตรา 7 ให้เหมารวมว่าเป็นการให้อำนาจของพระมหากษัตริย์มีการแต่งตั้งนายกฯ ซึ่งในความเป็นจริงพระองค์ไม่สามารถจะกระทำเช่นนั้นได้ เพราะข้อความดังกล่าวมีความชัดเจนว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้บังคับแต่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นเป็นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


ตามประเพณีนี้มีช่องทางคลี่คลายปัญหาได้ คือ แก้ไขไปตามกระบวนการปกติ คือ การเลือกตั้ง แต่ก็มีสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การจงใจให้กระบวนการเลือกตั้งกลายเป็นวิกฤตภายในตัวระบอบประชาธิปไตย


ประเด็นถัดมาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ได้บล็อกไว้อีกว่า การได้มาซึ่งนายกฯ จำเป็นต้องเป็น ส.ส. และที่สำคัญขอย้ำว่า ประธานองคมนตรี ไม่ได้มีหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งใครเป็นนายกฯแต่อย่างใด หากแต่เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภา ดังนั้น มันจึงมีปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่มี ส.ส. และประธานรัฐสภา ในขณะนี้ ดังนั้น อยากจะเสนอ คือ ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่สาระหลักที่จะเป็นต้องเดินมาที่นายกฯมาตรา 7 แต่จะทำอย่างไรให้กระบวนการตามปกติสำเร็จลุล่วงไปได้


ดังนั้น ข้อเสนอดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้ และไม่มีความชอบธรรมใดๆ อย่างยิ่งที่จะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ไม่มีตำแหน่งจะสามารถทูลเกล้าฯยื่นนายกฯมาตรา 7 ได้ แต่ยังมีกระบวนการประชาธิปไตยที่พอมีช่องทางปกติแก้ไขได้ โดยจัดการเลือกตั้งให้สมบูรณ์


ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการดึงเอาสถาบันเชิงประเพณีมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มอำนาจเก่ามาโดยตลอดและการใช้สถาบันมาแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตยนี้ไม่ใช่ครรลองที่ถูกต้องชอบธรรมซึ่งประเทศไทยอยู่ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญจะทำอะไรต้องอยู่ใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นพระมหากษัตริย์ไม่สามารถทำอะไรที่เหนือไปจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้



ดังนั้น ข้อเสนอต่างๆ ที่ออกมาในเชิงผ่านสถาบันพระมหากษัตริย์นี้ นอกจากไม่ไปเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้วยังไม่เป็นประชาธิปไตยอีกด้วย หากแต่ใช้สถาบันเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มตนเองมากกว่าที่จะจรรโลงสถาบันพระมหากษัตริย์ควบคู่ไปกับระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่งเพราะจะระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและจะเป็นการเพิ่มพูนปัญหาให้มากขึ้นไปอีก

ไม่มีความคิดเห็น: