วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2557

อ.เอกชัย ไชยนุวัติ : 4 ประเด็นเห็นแย้งคำร้องนายกฯ ย้าย "ถวิล เปลี่ยนศรี"

ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เข้าชื่อสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา เสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อประธานวุฒิสภายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 91 นั้น เนื่องจากนายไพบูลย์อ้างว่า การโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 266 (2), (3) และมาตรา 268 เป็นเหตุให้ต้องพ้นสภาพนายกรัฐมนตรีรักษาการตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 

และนายไพบูลย์ระบุว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีรักษาการพ้นจากตำแหน่งตามคำร้อง "ก็จะเข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคสุดท้าย ว่าให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และ 173 โดยอนุโลม?ดังนั้น ที่ประชุมวุฒิสภาจึงสามารถทำหน้าที่เสนอชื่อนายกฯ และให้ ส.ว.ลงมติเห็นชอบ ก่อนที่จะให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นำรายชื่อนายกฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการต่อไป" 

ผมมีข้อสังเกตโต้แย้งนายไพบูลย์ นิติตะวัน 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การโยกย้ายข้าราชการประจำเป็นเหตุแห่งการถอดถอนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี?

นายไพบูลย์อ้างว่า การที่นายถวิลถูกโยกย้ายตำแหน่งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2554 อันเป็นประกาศให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ไป และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.33/2557 พิพากษาว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายไพบูลย์จึงอ้างเป็นเหตุถอดถอนนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 267 ประกอบมาตรา 266 (2), (3) ซึ่งเป็นเรื่องการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์

ประเด็นนี้อธิบายได้ว่า การโยกย้ายข้าราชการตามดุลพินิจพิจารณาความเหมาะสมของผู้บังคับบัญชาเพื่อใช้งานบุคลากรตามความเหมาะสมกับงานราชการแผ่นดินเรื่องนี้เป็นลักษณะสำคัญที่สะท้อนการบริหารราชการแผ่นดินในระบบสายงานแบบบังคับบัญชา หาใช่การก้าวก่ายหรือแทรกแซงข้าราชการประจำไม่ หากแต่เป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยแท้ ส่วนการโยกย้ายข้าราชการนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นคนละเรื่องกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ 

การที่ศาลปกครองพิพากษาว่าคำสั่งทางปกครองหรือกฎใดไม่ชอบด้วยกฎหมาย หาได้หมายความว่าเป็นการกระทำเอื้อประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายแก่ผู้บังคับบัญชาไม่ เพราะการโยกย้ายข้าราชการก็เพื่อประโยชน์ในการใช้งานข้าราชการตามความเหมาะสมกับสภาพงานได้อย่างคล่องตัว หาใช่ประโยชน์ในทาง "ทุจริต" ไม่ แม้บางกรณีคำสั่งหรือกฎนั้นอาจ "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ก็ตาม 

คดีแบบนี้เป็นคดีในศาลปกครองจำนวนเป็นหมื่นคดีในแต่ละปี หากจะถือเกณฑ์ว่า การโยกย้ายข้าราชการที่ศาลปกครองพิพากษาว่ามิชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนประกาศหรือคำสั่งโยกย้ายเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์แล้วต่อไปนี้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลใดๆ จะไม่กล้าโยกย้ายข้าราชการประจำ เพราะจะเป็นเหตุแห่งการถูกถอดถอนเสมอ จะกลายเป็นว่า งานที่เป็นอำนาจทางบริหารโดยแท้ต้องดำเนินไปอย่างแข็งกระด้าง 

เมื่อผู้บังคับบัญชาไม่มีอำนาจบริหารบุคลากรก็จะเป็นเหตุให้ข้าราชการประจำไม่เชื่อฟังคำสั่งตามสายการบังคับบัญชาเพราะผู้บังคับบัญชาไม่อาจให้คุณให้โทษแก่ตนได้เพราะเกรงถูกถอดถอนตลอดเวลา เช่นนี้จะก่อผลเสียต่อสายการบังคับบัญชาทั้งระบบ และเป็นสภาพที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่งในการบริหารราชการแผ่นดิน 

ประเด็นที่ 2 วิธีการยื่นคำร้องของนายไพบูลย์ ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ

นายไพบูลย์อ้างฐานอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 91 ในการให้รองประธานวุฒิสภายื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายกรัฐมนตรี เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 91 เป็นเรื่องการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา เพราะมีเหตุตามมาตรา 106 (3) (4) (5) (6) (7) (8) (10) หรือ (11) หรือมาตรา 119 (3) (4) (5) (7) หรือ (8) แล้วแต่กรณี หาได้มีกรณีตามมาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 266 (2), (3) และมาตรา 268 ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในประเด็นที่ 1 อย่างที่นายไพบูลย์กล่าวอ้างเป็นเหตุแห่งการถอดถอนแต่อย่างใด 

กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 91 ในการยื่นคำร้องถอดถอนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในการรับคำร้องเช่นว่านั้นไว้พิจารณาวินิจฉัย การใดที่องค์กรของรัฐจงใจดำเนินการโดยปราศจากฐานอำนาจอย่างชัดแจ้งอาจเป็นความผิดอาญาฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายได้

ประเด็นที่ 3 (การถอดถอนหลังยุบสภา) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ตาม รธน. มาตรา 180 (2) ที่บัญญัติว่า "รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (2) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร"

หมายความว่า ปัจจุบันนี้ แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเป็นบุคคลเดิม เช่นเดียวกับตอนก่อนมีการยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556 แต่ผลในทางกฎหมายในทางอำนาจและหน้าที่มีอย่างจำกัดชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ที่ให้อำนาจ กกต. เข้ามาควบคุมคณะรัฐมนตรีเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ไม่ดำเนินนโยบายใดๆ ใหม่ หรือมีผลผูกพัน ครม.ชุดใหม่ไม่ได้ 

ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีได้พ้นหรือลาออกไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้นที่จะพิจารณาอีกครั้งว่า นายกรัฐมนตรีได้สิ้นสถานภาพไปหรือยัง ใน รธน.ระบุชัดเจนว่า การให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบก็เพื่อควบคุมตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิให้ลุแก่อำนาจ ดังนั้น เมื่อผู้นั้นไม่ได้ดำรงตำแหน่งแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญต้องจำหน่ายคดีเท่านั้น 

ทั้งนี้ ขอให้เปรียบเทียบ กรณี (1) คำร้องของนายอภิสิทธิ์ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้อง (ไม่พิจารณาต่อไป) เนื่องจาก ศาลอ้างว่า มีการยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556 ไปแล้ว ทำให้ความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์สิ้นสุดลงในประเด็นที่ผู้ร้องว่าขาดคุณสมบัติ เพราะกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งปลดนาย อภิสิทธิ์ออกจากราชการ 

หรือ (2) คำวินิจฉัยที่ 22/2554 ที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และพวก รวม 18 คน ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) หรือไม่ (เหมือนกับกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์) แต่เมื่อคุณหญิงกัลยาพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีในระหว่างพิจารณาคดี ศาลรัฐธรรมนูญจึงจำหน่ายคำร้องเช่นเดียวกัน 

ดังนั้น เมื่อ ส.ส.อภิสิทธิ์ไม่ได้เป็น ส.ส.เพราะยุบสภา เมื่อรัฐมนตรี กัลยา โสภณพนิช พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีแล้ว เหมือนกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการยุบสภาเช่นเดียวกัน 

ถ้าใช้มาตรฐานการตีความกฎหมายเช่นเดียวกัน โดยปราศจากอคติใดๆ เทียบเคียงกับคดีอภิสิทธิ์และคุณหญิงกัลยา ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องจำหน่ายคำร้องกรณีนี้ด้วยเช่นกัน ศาลจะตีความขยายไปถึง การพิจารณาคุณสมบัติ "ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี" ไม่ได้ เพราะ นอกจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ชัดแจ้งแล้ว รัฐธรรมนูญบังคับให้ นายกรัฐมนตรี "ต้อง" ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป ตามมาตรา 181 เพื่อให้ประเทศไทยยังมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อไป
ประเด็นที่ 4 แนวคิดของ ส.ว.ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เสนอจะตั้งนายกฯ เถื่อน โดยอ้างมาตรา 180 ประกอบมาตรา 172 และมาตรา 173 โดยอนุโลม ได้หรือไม่

กรณีที่นายไพบูลย์อ้างว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีรักษาการพ้นจากตำแหน่ง วุฒิสภาจะต้องดำเนินการสรรหานายกรัฐมนตรีขึ้นแทน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 180 ที่บัญญัติให้นำมาตรา 172 มาตรา 173 มาบังคับใช้โดยอนุโลม เพื่อให้วุฒิสภารับผิดชอบในการตั้งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปัจจุบันการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังมีปัญหา ไม่สามารถจัดได้เสร็จสิ้น นายไพบูลย์ยังอ้างว่า ส.ว.ต้องทำหน้าที่นี้ เพราะประเทศชาติจะขาดผู้นำไม่ได้

ผมขอทำความเข้าใจดังนี้ กรณีตามมาตรา 180 วรรคท้าย เป็นกรณีรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงและยังไม่มีการยุบสภา กรณีจึงนำบทบัญญัติมาตรา 172 ว่าด้วยอำนาจของ "สภาผู้แทนราษฎร" ในการดำเนินให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี และมาตรา 171 ยังยืนยันด้วยว่า "นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 172" 

ฉะนั้น กระบวนการที่วุฒิสภาจะสรรหานายกรัฐมนตรีขึ้นเองแทนสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นไปไม่ได้เลยตราบเท่าที่ยังมีรัฐธรรมนูญนี้นายไพบูลย์มักอ้างเสมอว่า เป็นการตีความโดยอนุโลม ด้วยความเคารพ การตีความโดยอนุโลมที่กฎหมายบัญญัตินั้น เป็นการ "อนุโลมภายในกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้" เท่านั้น 

การอนุโลมให้นำบทบัญญัติที่ใกล้เคียงกันมาบังคับใช้หาได้เป็นการ "อนุโลมครอบจักรวาล" ไม่ หรือแม้แต่นายไพบูลย์อ้างสุญญากาศเพราะขาดนายกรัฐมนตรี (ซึ่งเรียนไปแล้วว่า หากบังคับใช้รัฐธรรมนูญด้วยความสุจริต จะไม่มีทางเกิดสุญญากาศเช่นว่านั้นได้) นายไพบูลย์จึงพยายามหาบทบัญญัติมาตราอื่นมาบังคับใช้แทน วิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี โดยพยายามอ้างว่าเป็นการตีความกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่การตีความของนายไพบูลย์ ไม่ใช่การอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย หากแต่เป็น "การยกเลิกรัฐธรรมนูญ" โดยตรง! 

การตีความกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง (argumentum a simile) ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายไม่บัญญัติบังคับแก่กรณีนั้นไว้ แต่กรณีนี้ปรากฏว่า การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฯ ก็ได้บัญญัติวิธีการได้มาโดยชัดแจ้ง และขณะนี้อยู่ระหว่างการยุบสภาเพื่อรอให้มีการเลือกตั้งใหม่และเปิดสภาผู้แทนราษฎร 

ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการของการเลือกตั้ง และนายกรัฐมนตรีรักษาการซึ่งพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว และตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 181 วรรคหนึ่ง บังคับให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่ ไม่สามารถพ้นจากตำแหน่งโดยการถอดถอนได้อีก และกรณีก็ปรากฏชัดแจ้งว่า กรณีถอดถอนตามมาตรา 91 เป็นกรณีถอดถอนก่อนยุบสภา และขณะนี้นายกรัฐมนตรียุบสภาไปแล้วจึงนำมาตรานี้มาบังคับใช้หาได้ไม่

หากปรากฏว่าวุฒิสภาดำเนินการสรรหานายกรัฐมนตรีและรองประธานวุฒิสภานำรายชื่อทูลเกล้าฯ กระบวนการเหล่านี้คือการล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และปฏิเสธมิได้ว่านี่คือการยกเลิกรัฐธรรมนูญและเป็นการรัฐประหารทางรัฐธรรมนูญ เป็นการปล้นอำนาจไปจากประชาชน แล้วเข้าสู่ระบอบเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบ



ไม่มีความคิดเห็น: