วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

นักวิชาการรามคำแหง ตำหนิข้อเสนอรัฐบุคคล "เป็นเผด็จการมุสโสลินี" ย้ำทางออกคือ "การเลือกตั้ง" เท่านั้น

นายบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้แสดงความคิดเห็นแย้งต่อกลุ่มคณะรัฐบุคคล ที่แนะนำให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ว่าเป็นข้อเสนอที่โน้มเอียงไปเผด็จการมุสโสลินี และรบกวนเบื้องพระยุคลบาท ทั้งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ถึงทางตัน มีทางออกให้จัดการเลือกตั้ง แต่ไม่ทำกันเอง

“กรณีข้อเสนอของกลุ่มคณะรัฐบุคคล เป็นการละทิ้งหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานโดยสิ้นเชิง เพราะความคิดดังกล่าวนี้เป็นการไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก และการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย ด้านการเมืองกว่า 80 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งจากข้อเสนอดังกล่าว เสมือนการกระทำให้มุสโสลินีขึ้นมามีอำนาจช่วงทศวรรษ 1922 ในประเทศอิตาลี เพราะในสมัยนั้นมุสโลลินี นำทัพเดินเข้ากรุงโรม ต่อหน้าคนหกหมื่นคนพร้อมทั้งบอกเป้าหมายง่ายมาก โดยบอกว่าเราจะปกครองอิตาลี เพราะฉะนั้นกระบวนการนี้น่าเป็นห่วง ที่จะพาให้สังคมเข้าภาวะวิกฤตกว่าเดิมเสียอีก ทว่าวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ มีทางออกทางเดียวที่ง่ายสุด คือไปลงเลือกตั้ง

ข้อเสนอดังกล่าว มีลักษณะที่โน้มเอียงไปทางเผด็จการมุสโสลินี ซึ่งในแง่ประวัติศาสตร์มุสโสลินีก็พาอิตาลีไปสู่ความพ่ายแพ้ มากไปกว่านั้นแทนที่กลุ่มบุคคลคนเหล่านี้จะเดินหน้าไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย แต่มุ่งไปกดดันสถาบันเชิงประเพณี คิดว่าเป็นการกระทำที่ไม่บังควรที่ไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในอดีตเมื่อครั้ง 14 ตุลาคม 2516 และเหตุพฤษภาประชาธรรม 2535 นั้น คิดว่า 14 ตุลาคม 2516 เป็นสถานการณ์พิเศษ จริงๆ ที่เห็นคู่ขัดแย้งชัด แต่ปัจจุบันนี้ความพยายามของ กปปส.ที่เดินมาได้จนถึงตอนนี้ ที่บอกว่าศัตรูที่แท้จริงคือตระกูลชินวัตร แต่ตนไม่เชื่อว่าการนำเอาคนในตระกูลชินวัตรออกจากประเทศไทยได้ จะเป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมือง อีกเหตุผลหนึ่ง กลุ่มทุนที่เชื่อมโยงทางการเมืองทั้งสองฝ่าย และกลุ่มทางการเมืองทั้งสองฝ่ายมีไม่น้อย เพราะฉะนั้นก็ต่างจากพฤษภาประชาธรรม 2535 ด้วย"



ไม่มีความคิดเห็น: