วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ห้ามพลาด!!! "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" เขียนบทความ "ว่าด้วยกรณี สมคิด-ปรีดี-ดุษฎี"

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความสั้นๆ ชื่อ "ว่าด้วยกรณี สมคิด-ปรีดี-ดุษฎี : สมคิด หมายถึงกรณีอะไร ที่เอ่ยชื่อปรีดี?" ลงเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งมีเนื้อหาดังต่อไปนี้


ข้างล่างนี้ เขียนทิ้งไว้ 2 วันแล้วมั้ง แต่ไม่โพสต์ ส่วนหนึ่งเพราะต้องการหยุดโพสต์อ่านหนังสือ (ดูที่อธิบายไว้ในกระทู้แรกของวันนี้) อีกส่วน ก็ไม่ถึงกับอยากขัดอกขัดใจ "เพื่อนๆ" หลายคนนัก เรื่องปรีดี


แต่จริงๆ มันมีประเด็นซีเรียสอยู่ ปัญหาสมคิด ผมว่า ไม่ใช่วิจารณ์ หรือ พาดพิงถึงปรีดี พร้อมสุจินดา ฯลฯ .... ผมเห็นว่า เขาอยากทำก็ทำได้ ไม่มีข้อห้ามอะไร ปรีดีไม่ใช่เทวดา ที่พูดถึงในทางลบไม่ได้


ปัญหาอยู่ที่เขาไม่ยอมจะอธิบาย-อภิปราย ให้เหตุผลประกอบ และไม่กล้าพอ ที่จะยืนยันในความเชื่อของตัวเอง เมื่อมีคนมาโต้แย้ง (ดูข้อความข้างล่างของผม)


เรื่องนี้ บางทีทำให้อดคิดถึงเหตุการณ์ เมื่ออาทิตย์ก่อนไม่ได้ ตอนที่คุณประจิณ (ประจิณ ฐานังกรณ์ - มติชนออนไลน์) ออกมาพูด ถึงทักษิณในทางลบ แล้วถูกโห่ เป็นการใหญ่ (ในงานแถลงข่าวของคณะนิติราษฎร์เมื่อวันที่ 25 กันยายน - มติชนออนไลน์) (ต้องสารภาพว่า แม้แต่ผมที่ยืนอยู่ข้างหลัง ยังฟังไม่ค่อยรู้เรื่องว่า ประจิณ พูดอะไร เพราะเสียงโห่กลบไปเยอะ - คือ แสดงอาการไม่พอใจ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ แต่ที่เกิดขึ้นคือ โห่ จนฟังเขาไม่รุ้เรื่องเลย แล้วจะรู้ได้ไงว่า เขามีเหตุผลอะไรที่พูดในทางลบ? แล้วจะโต้แย้งเขาด้วยเหตุผลอย่างไร? อย่างที่บอกว่า ขนาดผมยืนตรงนั้น ยังฟังไม่รู้เรื่อง)


คืออย่างกรณีสมคิดนี่ ผมไม่รู้สึกอะไรเลยนะ ไม่ได้โกรธในแง่ที่เขาพูดถึงปรีดี พร้อมๆ กับสุจินดาหรือถนอมอะไรโน่น (แค่ผิดหวังที่เขาไม่ยอมอธิบาย หรือกล้าพอจะโต้แย้งออกมา) ใครที่อ่าน ที่ อ.พนัส เขียนโต้สมคิด ขอให้สังเกตว่า อ.พนัส ก็ "เฉยๆ"เหมือนกัน ไม่ได้ยกประเด็นเรื่องมีชื่อปรีดีอยู่ในรายชื่อนั้นด้วย


ในทำนองเดียวกัน ผมก็เฉยๆ ไม่ได้รู้สึกเป็นพิเศษอะไรที่คุณดุษฎีมาโต้ ในลักษณะที่หลายๆ คนเหมือนจะรู้สึก "ลูกสาวปรีดี มาโต้" อะไรแบบนั้น


จริงๆ ผมก็หวังว่า ในอนาคต บรรดาเพื่อนๆ เสื้อแดงทั้งหลาย ควรจะทำให้ตัวเองรู้สึกเฉยๆ ได้ เพียงแค่ได้ยินใครพูดในทางลบถึงทักษิณเช่นกัน


โอเค โม้มาเยอะ ดูที่ผมเขียนทิ้งไว้ 2 วัน แต่ไม่ได้โพสต์ข้างล่างก็แล้วกัน


.....................


เสียดายที่ สมคิด เป็นอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า lacks the courage of his own′s conviction คือขาดความกล้าจะยืนยันในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูก แม้จะถูกโต้แย้งโจมตี


ประเด็นที่เขาใส่ปรีดีไป ในครั้งแรก และดุษฎี ออกมาแย้ง ความจริงเป็นประเด็นสำคัญอยู่ และผมเห็นว่า การที่ดุษฎีเป็นลูกปรีดี ไม่เป็นตัวตัดสินความถูกผิด (ผมไม่เห็นด้วยว่า เพียงเพราะดุษฎีมาโพสต์แย้ง จะต้องแปลว่า สมคิด ผิด และผมเองไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ - เหมือนอย่างที่ดูเหมือนหลายคนจะรู้สึก - ที่เห็นดุษฎีมาเขียนแย้ง)


น่าเสียดาย ที่แต่แรกเลย สมคิด ไม่ยอม (ไม่กล้า) ขยายความหรือให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ทำไมจึง "นับ" ปรีดี เข้าไว้ใน list นั้นด้วย (ผมคิดว่า ผมพอจะเดาได้ว่า เขาต้องการจะสื่ออะไร ดังจะอธิบายต่อไป) ดุษฎีเองก็เพียงแต่แย้งว่า ไม่สามารถใส่ปรีดีเข้าไว้กับรายชื่ออื่นๆ ได้ โดยไม่ได้อธิบายเช่นกัน แต่อันนี้ พอเข้าใจได้ เพราะตัว "โจทย์" ที่สมคิดตั้ง ไม่มีการอธิบายแต่แรก


เมื่อมีการโต้แย้งเกิดขึ้น สมคิด เลย "ถอย" ระดับหนึ่ง ด้วยการแทนที่จะอธิบายเพิ่มเติม กลับมาเขียนคำถามใหม่ 2 ข้อ แต่การเขียนนั้น ก็แสดงลักษณะที่ผมว่าข้างบนอีก (lacks courage ..) คือแทนที่จะเชื่อมโยง อธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรม เกี่ยวกับกรณีปรีดี ที่เขาเขียนไว้ตอนแรก ก็เขียนเป็นนามธรรมๆ ไว้ยังงั้น


สุดท้าย สมคิดก็เลยลบทุกอย่างออกหมด


ผมเดาว่า ประเด็นที่สมคิด ต้องการจะสื่อตอนใส่ชื่อปรีดีครั้งแรกนั้น ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงกับการตั้งคำถาม 1 ใน 2 ข้อครั้งหลัง ความจริง เป็นประเด็นรูปธรรม นั่นคือ เขาหมายถึงเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "กบฏวังหลวง" หรือ ที่ปรีดีเองเรียกว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492" คือเหตุการณ์ที่ปรีดี ระดมกำลังอาวุธพยายามยึดอำนาจ หรือพยายามรัฐประหาร


ผมเชื่อว่าคำถาม 2 ข้อของสมคิด ข้อแรก ก็คงหมายถึงเหตุการณ์เดียวกันนี้แน่นอน ในขณะที่ข้อ 2 หมายถึง รบ.ทักษิณ และ รปห.19 กันยา


นั่นคือ เขาต้องการถามว่า ในกรณีที่มีคณะรัฐประหาร ได้อำนาจมาไม่ถูกต้อง (รปห. 8 พ.ย.2490) เป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่ ที่จะพยายามใช้วิธียึดอำนาจแบบที่ปรีดีใช้ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ (คำของสมคิด คือ "ถ้านาย ก.ทำรัฐประหารและได้อำนาจรัฐมา เราจะต่อสู้นอกระบบกฎหมายเพื่อเอาอำนาจรัฐกลับคืนมาได้หรือไม่?")


ในขณะที่ข้อ 2 ก็ถามกลับกัน โดยมีภาพ รบ.ทักษิณ และ รปห.19 กันยา อยู่เบื้องหลัง คือ ถามว่า ถ้าในกรณีที่ รบ. ได้มาชอบธรรมก็จริง แต่กลายเป็นเผด็จการ และไม่มีวิธีการตามกฎหมายจะจัดการได้ จะใช้วิธีนอกกฎหมาย คือรัฐประหาร ได้หรือไม่


จะเห็นว่า เหล่านี้เป็นประเด็นซีเรียสอยู่ และไม่ใช่ประเด็นที่ตอบกันได้ง่ายมากๆ เสียทีเดียว (และไม่ควรตอบด้วยเหตุผลเพียงเพราะ "เป็นปรีดี" แสดงว่า ถูกต้องหมด)


ถ้ามีเวลา ผมอยากจะเขียน "ตอบ" ประเด็นเรื่อง 26 กุมภา 2492 (หรือ ถ้าใครได้ดูคลิปการ์ตูนของ "คชสาร ตั้งยามอรุณ" อันแรกสุดเลย ที่กล่าวถึง รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 แล้วผมไปดีเบตกับเขาที่บอร์ด "คนเหมือนกัน" จะเห็นว่า เป็นประเด็นเดียวกัน) หรือแม้แต่ย้อนหลังไปถึง "รัฐประหาร" 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งผู้จัดการ (บทความสุรวิชช์ คนหนึ่ง ดูเหมือนจะมีคนอื่นอีก) ยกขึ้นมา


ขอขอบคุณมติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: