เมื่อเวลา 15.15 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.พร้อมคณะผู้บริหาร และผู้อำนวยการเขตต่างๆ มาประชุม ในการเตรียมแผนอพยพประชาชน ในกรุงเทพฯ หากเกิดกรณีน้ำเข้าท่วม
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ตามการคาดหมายในสัปดาห์หน้าจะมีน้ำก้อนใหม่ ลงมาจากทางเหนือ ให้มีการเตรียมพร้อม ในสิ่งจำเป็นต้องทำ ตนจะมาหารือเรื่องการอพยพประชาชน การดูแลประชาชน และทรัพย์สินต่างๆ รวมถึงการเยียวยาฟื้นฟูผู้ประสพภัยในกทม.
ด้านนายสัญญา ชีนิมิตร ผอ.สำนักการระบายน้ำ รายงานว่า ในวันนี้ มีน้ำเหนือที่ผ่านกทม.จากเขื่อนเจ้าพระยา บวกกับเขื่อนพระราม 6 ปริมาณ 4,943 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 22 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่วนที่อ.บางไทร อยู่ที่ 3,191 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 41 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งขณะนี้ต้องระมัดระวัง ริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งวานนี้ ระดับอยู่ 2.03 เมตร จากแนวคันกั้นน้ำ 2.50 เมตร ส่งผลให้ 13 เขตที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ได้รับผลกระทบเพิ่ม ขอฝากให้เขต เข้าไปดูแลประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ น้ำที่จะขึ้นช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนนี้ จะต้องติดตามเฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ 2 ฝั่งเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด เพราะบางพื้นที่ อาจจะมีน้ำรั่วซึมตามแนวป้องกันได้ ซึ่งอาจจะมีฝนตกเพิ่มเป็นตัวเติมปริมาณน้ำ จนทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำของกทม.บางแห่งมีปัญหาได้ จึงต้องมีการเฝ้าระวังจนถึงสิ้นเดือน และคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงได้
นายสัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนสภาพอากาศในขณะนี้ยังมีร่องความกดอากาศต่ำอยู่ในกทม.จนอาจจะมีฝนตกลงมาเพิ่มเติม จนทำให้การระบายน้ำทางธรรมชาติ อาจจะทำได้ยากขึ้น จึงต้องมีการเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะพื้นที่ริมน้ำ ฝั่งตะวันออกของกทม. อาทิ มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวา อาจจะมีระดับสูงขึ้นได้
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับพื้นที่ ที่ต้องซักซ้อมแผนอพยพประชาชน อยู่ใน 13 เขตที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาและกทม.ฝั่งตะวันออกประกอบด้วย เขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง และคลองสามวา
ขณะที่ 13 เขตที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำได้แก่ 1.เขตบางซื่อ ได้แก่ ชุมชนพระราม 6 (ฝั่งติดแม่น้ำ) และชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ 2.เขตดุสิต ได้แก่ ชุมชนเขียวไข่กา ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ (เชิงสะพานกรุงธน) ชุมชนซอยสีคาม (ซอยสามเสน 19) ชุมชนปลายซอยมิตรคาม (ซอยสามเสน 13) และชุมชนวัดเทวราชกุญชร (ถนนศรีอยุธยา) 3.เขตพระนคร ได้แก่ ชุมชนท่าวัง ชุมชนท่าช้าง และชุมชนท่าเตียน
4.เขตสัมพันธวงศ์ ได้แก่ ชุมชนวัดปทุมคงคา (ท่าน้ำสวัสดี) และชุมชนตลาดน้อย5.เขตบางคอแหลม ได้แก่ ชุมชนวัดบางโคล่นอก ชุมชนหน้าวัดอินทร์บรรจง ชุมชนซอยมาตานุสรณ์ และชุมชนหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 6.เขตยานนาวา ได้แก่ ชุมชนโรงสี (ถนนพระราม 3) 7.เขตคลองเตย ได้แก่ ชุมชนสวนไทรริมคลองพระโขนง 8.เขตบางพลัด ได้แก่ ชุมชนวัดฉัตรแก้ว
9.เขตบางกอกน้อย ได้แก่ ชุมชนสันติชนสงเคราะห์ ชุมชนปากคลองน้ำตาล-คลองพิณพาทย์ ชุมชนตรอกวังหลัง และชุมชนดุสิต-นิมิตรใหม่ 10.เขตธนบุรี ได้แก่ ชุมชนปากคลองบางกอกใหญ่ 11.เขตคลองสาน ได้แก่ ชุมชนเจริญนครซอย 29/2 12.เขตราษฎร์บูรณะ ได้แก่ ชุมชนดาวคะนอง และ 13.เขตทวีวัฒนา ได้แก่ ชุมชนวัดปรุณาวาส
สำหรับพื้นที่ชั้นใน กทม.จากการสำรวจพบว่า มี 15 พื้นที่เป็นจุดอ่อนและเสี่ยงต่อน้ำท่วม ได้แก่ 1)เขตสาทร ย่านถนนจันทร์ เซนต์หลุยส์ สาธุประดิษฐ์ 2)เขตพญาไท ถนนพหลโยธิน ช่วงคลองสามเสน-คลองบางซื่อ 3)เขตพระโขนง ถนนสุขุมวิท จากคลองพระโขนง-ซอยลาซาล 4)เขตวัฒนา ซอยสุขุมวิท 39 และ 49 5)เขตวังทองหลาง ถนนลาดพร้าว จากคลองลาดพร้าว-ห้างเดอะมอลล์ 6)เขตบึงกุ่ม ถนนนวมินทร์ จากคลองดอนอีกา-แยกถนนประเสริฐมนูกิจทั้งสองฝั่ง
7)เขตดินแดง ถนนรัชดาภิเษก หน้าห้างโรบินสัน 8)เขตจตุจักร ถนนรัชดาภิเษก แยกลาดพร้าว 9)เขตราชเทวี ถนนเพชรบุรี จากถนนบรรทัดทอง-แยกราชเทวี 10)เขราชเทวี ถนนนิคมมักกะสัน 11)เขตราชเทวี ถนนพระรามที่ 6 หน้าตลาดประแจจีน 12)เขตบางแค ถนนเพชรเกษม ซอย 63 (ซอยวัดม่วง) 13)เขตยานนาวา ถนนเย็นอากาศ จากถนนนางลิ้นจี่- ซอยศรีบำเพ็ญ 14)เขตประเวศ ถนน ศรีนครินทร์ ช่วงคลองตาสาด-คลองตาช้าง และ 15)เขตพระนคร ถนนสนามไชยและถนนมหาราช
ขอขอบคุณ โพสท์ทูเดย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น