“รมช.มท.” เตรียมเสนอ “นายกฯ” พิจารณา “ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน” 4 อำเภอ” ของชายแดนใต้ ลั่นยกเลิกอำนาจพิเศษจนท. ที่กระทบสิทธิ“ปชช.” ไม่ใช่เจรจาต่อผู้ก่อการร้าย ชี้เป็นเปิดพื้นที่รับฟัง ย้ำชัดต้องไม่ขัดรธน. โว 2 ปีสถานการณ์ดีขึ้น ระบุปชช.พอใจรบ.สูงถึง 54 % เผยใช้“การเมือง” นำ “การทหาร” มาถูกทางแล้ว
(7ธ.ค.) นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ในฐานะรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ครม.ใต้) กล่าวถึงการเสนอยกเลิกพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในบางอำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า จะมีการยกเลิกในอ.เบตง จ.ยะลา , อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี , อ.แว้ง และอ.สุคีรินทร์ จ.นราธิวาส ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมตำรวจ ทหาร และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ซึ่งในอำเภอดังกล่าวมีเหตุเกิดไม่เกิน 2 ครั้ง แต่การเกิดเหตุมากไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าจะเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้หรือไม่ ทั้งนี้การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็น การยกเลิกอำนาจพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทบกระเทือนสิทธิของประชาชน เช่น การจำกัดเวลาออกจากบ้าน หรือการกระทบกระเทือนสิทธิในการกักตัวบุคคลเกิน 1 เดือนเพื่อสอบถามหรือสืบสวน
เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่น่าจะเกี่ยวกับความถี่ของเหตุเกิด แต่จะมาจากประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ป้องกันเหตุเกิด
รมช.มหาดไทย กล่าวอีกว่า หากย้อนหลังไป 2 ปีที่แล้วจะพบว่า ปัจจุบันเหตุเกิดไม่ถึง 1,000 ครั้งต่อปี สถานการณ์ดีขึ้นมากประชาชนอยากได้สิทธิ ในการดำเนินชีวิตประจำวันเหมือนกับประชาชนคนไทยที่อื่นๆ ส่วนสาเหตุที่ทำให้การเกิดเหตุลดน้อยลงเกิดจากประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล ผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนพึงพอใจ 54 เปอร์เซ็นต์ของการแก้ปัญหา หากสังเกตจะเห็นว่าที่ผ่านมาเวลาจับกุมตัวผู้กระทำความผิด จะมีการต่อต้านจากเด็กและสตรีไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือนักการเมืองเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุเพื่อรับทราบหรือเก็บหลักฐาน แต่ขณะนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างมาก
“ ผมคิดว่าแนวทางการเมืองนำการทหารถูกทางแล้ว ทั้งนี้ 16 ธ.ค. ผมจะเดินทางไปศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ประเทศไอซ์แลนด์เหนือ ประเทศอังกฤษ ซึ่งความขัดแย้งระหว่างโปรแตสแตนท์และคาทอลิก ซึ่งเราจะไปดูว่าระบบการสร้างความสันติสุขทำอย่างไร ผมศึกษาเบื้องต้น 10 ประเทศที่มีความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ ประเพณี และวัฒนธรรมสุดจนนำไปสู่ความไม่ยุติธรรม
และความรุนแรง ท้ายที่สุดแล้วจะจบลงด้วยการเมืองนำการทหารทั้งหมด ” นายถาวร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะสามารถยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ทันปีใหม่หรือไม่ นายถาวร กล่าวว่า อยู่ที่นายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจประกาศ หรือยกเลิกประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพราะรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย เมื่อถึงเวลายกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินอำนาจ พิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐ จะเป็นปัญหาหรือไม่ จะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ก็เหมือนกับการให้อำนาจพิเศษกับเจ้าหน้าที่ในการควบคุมการชุมนุมของกลุ่มคน เสื้อแดง ซึ่งการยกเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉินเป็นการยกเลิกอำนาจพิเศษในการจำกัดเสรีการเคลื่อนไหวของผู้ก่อความไม่สงบ ทั้งนี้จะใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไปใช้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไปติดตามเรื่องดังกล่าวด้วยหรือไม่ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ตนจะเดินทางไปเพื่อจัดการเสวนาการใช้พ.ร.บ.ศอ.บต. ขณะนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านผู้แทนราษฎรไปแล้ว รอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ ขณะนี้โครงสร้างเรียบร้อยแล้ว มีก.พ. สำนักงบประมาณ และความคืบหน้าใกล้เสร็จแล้ว รวมถึงการยกร่างระเบียบอยู่ระหว่างคณะร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทยกำลังพิจารณา รวมไปถึงการติดตามการทำงานตามนโยบาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินหมายถึงการต่อรองกับกลุ่มความไม่สงบหรือไม่ นายถาวร กล่าวว่า คงไม่ใช่ แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมากกว่า รัฐบาลรับฟัง เพราะใช้นโยบายการการเมืองนำการทหาร ใครเรียกร้องอะไรเรารับฟังหมด
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ายินดีจะเจรจากับผู้ก่อการร้าย รมช.มหาดไทย กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ เป็นการเปิดพื้นที่ ส่วนเรื่องการเจรจาคนฟังอาจจะไม่เข้าใจ เราใช้คำกลางๆ นั่นคือการเปิดพื้นที่ให้กว้างขึ้น เหมือนกับกรณีที่นายกฯคุยกับคนเสื้อแดง
" เราไปรับฟังว่าเขาต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ ต้องการหยุดงานวันศุกร์หรือเปล่า หรือว่าต้องการพัฒนาอาชีพ ไม่ต้องการให้มีอบายมุข และต้องการใช้ภาษามลายู ซึ่งเป็นภาษาถิ่นแทนการใช้ภาษาไทยหรือไม่ เราต้องรับฟังในสิ่งที่ร้องขอว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรหรือไม่ หรือเป็นการร้องขอจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น ฉะนั้นการเปิดใจกว้างเพิ่มขึ้นถือเป็นการลดอุณหภูมิความคิดเห็นที่แตกต่าง ในสิ่งที่เขาไม่ได้รับการดูแลหรือการพัฒนา” รมช.มหาดไทย กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น