เปิดผลการสืบสวนกรณีการประกวดราคาเช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบตามโครงการจัดทำระบบให้บริการประชาชนทางด้านการทะเบียนและบัตรแบบใหม่(ของกรมการปกครอง)เลขที่ ยธ. 0800/3395 ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปผลการสืบสวนส่งถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ระบุว่า กรณีปรากฏข้อมูลจากทางสื่อมวลชนว่า มีข้าราชการกรมการปกครองและเอกชน ร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสในการเช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบตามโครงการจัดทำระบบให้บริการประชาชนทางด้านการทะเบียนและบัตรแบบใหม่ (ของกรมการปกครอง) วงเงิน3,490,845,673 บาท ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และต่อมาดีเอสไอได้มีคำสั่งที่ 230/2553 ลงวันที่ 30 เม.ย.53 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวน และได้อนุมัติจากอธิบดีดีเอสไอ ให้ทำการสืบสวนตามมาตรา 23/1 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ
ทั้งนี้ผลการสืบสวนที่แล้วเสร็จ ได้สาระสำคัญสรุปได้ว่า การดำเนินการประกวดราคาเช่าระบบคอมพิวเตอร์ฯนั้น มีประเด็นต้องพิจารณาทั้งสิ้น 4 เรื่อง ดังนี้ 1. คณะกรรมการประกวดราคามีอำนาจและหน้าที่ในการชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับข้อกำหนดขอบเขตของงาน (TOR ) หรือไม่
คณะพนักงานสืบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า ในกรณีนี้อธิบดีกรมการปกครอง ได้ลงนามหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0303/5970 ลงวันที่ 30 ธ.ค. 52 แต่งตั้งคณะกรรมการประกวดราคา โดยมีนายอวยชัย อินทร์นาค เป็นประธานกรรมการ โดยมีกรรมการประกอบด้วย นายกมลโลจฒน์ เชียงวงศ์ นายปรีดา บุญประคอง นายทรงชัย ลิ้มไกลท่า น.ส.บุญวิมล ศิลป์สาคร นายอรุณ อ่องดี และน.ส.ณัฐพิมล จโนภาส เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการประกวดราคา ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 โดยเคร่งครัด การดำเนินการต่างๆที่อยู่ในขั้นตอนของการประกวดราคาจึงอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการประกวดราคา ดังนั้นคณะกรรมการการประกวดราคา จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการชี้แจงและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับข้อกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) ร่วมกับคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงาน (TOR)ด้วย แต่การชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อซักถามที่เกี่ยวกับข้อกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) คณะกรรมการประกวดราคาจะต้องชี้แจงตามที่ได้กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาตั้งแต่ต้นเท่านั้น
2 .การชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อซักถามของกรรมการประกวดราคาในที่ประชุมเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 53 เกี่ยวกับการขอให้มีระบบรักษาความปลอดภัยด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมกล่องใส่บัตรที่เครื่องผลิตบัตรประจำตัวประชาชน เป็นการชี้แจงเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้กำหนดไว้ในขอบเขตของงาน (TOR) เดิม หรือเป็นการชี้แจงภายใต้ขอบเขตของงาน (TOR) เดิม
คณะพนักงานสืบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ การดำเนินการของคณะกรรมการประกวดราคา เป็นการชี้แจงเพิ่มเติมนอกเหนือคุณลักษณะเฉพาะของเครื่องพิมพ์บัตรประจำตัวประชาชน ( ID PRINTER ) ที่ได้กำหนดไว้ในภาคผนวก 4 ข้อ 2.8 เมื่อพิจารณาประกอบความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุว่าด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) ซึ่งมีความเห็นว่า กรณีคณะกรรมการประกวดราคามีอำนาจชี้แจงรายละเอียด และตอบข้อซักถามเกี่ยวกับข้อกำหนดขอบเขตงาน (TOR) เฉพาะที่ได้กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาตั้งแต่ต้นเท่านั้น
( นายมงคล สุระสัจจะ อธิบดีกรมการปกครอง )
จึงเห็นว่าคณะกรรมการประกวดราคาไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 47 ประกอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ข้อ 5 และข้อ 8 ซึ่งหากคณะกรรมการประกวดราคาเห็นว่า การเพิ่มเติมคุณลักษณะดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อทางราชการก็ชอบที่จะปรับปรุงขอบเขตของงาน (TOR) และกำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาตั้งแต่ต้น โดยจัดทำเป็นเอกสารประกวดราคาเพิ่มเติม รวมทั้งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ที่ได้รับหรือได้ซื้อเอกสารประกวดราคาไปแล้วทุกรายทราบด้วย แต่คณะกรรมการประกวดราคา ได้ใช้วิธีการชี้แจงตอบข้อซักถามแทนทั้งที่เป็นสาระสำคัญ เป็นเหตุให้บริษัทดาต้า โปรดักส์ ท้อปเป้ง ฟอร์ม จำกัด ได้รับความเสียหาย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และทำให้เกิดความเสียหายแล้ว โดยเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในส่วนนี้ ได้แก่ คณะกรรมการประกวดราคาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชี้แจงเพิ่มเติมคุณลักษณะเฉพาะของระบบอุปกรณ์เครื่องผลิตบัตรประจำตัวประชาชน โดยให้มีการรักษาความปลอดภัยด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม กล่องใส่บัตรประจำตัวประชาชนที่เครื่องผลิตบัตรประจำตัวประชาชน 3. การชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อซักถามของกรรมการประกวดราคา ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 53 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแรงดันไฟฟ้าขาออกของอุปกรณ์สำรองไฟฟ้า ( UPS ) จากบวกลบ 5% เป็นบวกลบ 10% เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากที่ได้กำหนดไว้ในขอบเขตของงาน (TOR ) เดิมหรือไม่
คณะพนักงานสืบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ การดำเนินการของคณะกรรมการประกวดราคา ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์สำรองไฟฟ้า ( UPS) เป็นการแก้ไขร่างขอบเขตของงาน (TOR) ที่ระบุไว้ในภาคผนวก 4 ข้อ 2.12 อย่างชัดเจน การเปลี่ยนแปลงค่าแรงดันไฟฟ้าขาออกเช่นนั้น จะทำให้อุปกรณ์เครื่องสำรองไฟฟ้าไม่เสถียร อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับระบบคอมพิวเตอร์ และไม่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ
( นายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย )
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะเฉพาะที่ต่ำกว่ามาตรฐานเดิม โดนมิได้มีการปรับลดงบประมาณในส่วนนี้ลง ทั้งที่ราคากลางของคุณลักษณะเดิม และราคาตามท้องตลาดของคุณลักษณะใหม่ ตามข้อมูลของคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงาน (TOR) มีความแตกต่างกันถึงประมาณ 2,000 บาทต่อ 1เครื่อง เมื่อคำนวณจากปริมาณของอุปกรณ์เครื่องสำรองไฟฟ้า ตามโครงการฯที่จะต้องมีจำนวน7,762 เครื่อง จะเป็นจำนวนเงินที่แตกต่างกันประมาณ 15,524,000 บาท ผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในส่วนนี้ ได้แก่ คณะกรรมการประกวดราคาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชี้แจงการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์สำรองไฟฟ้า (UPS)
4. คณะทำงานทดสอบด้านเทคนิคได้มีการทดสอบด้านเทคนิคตามที่ได้กำหนดไว้ในขอบเขตของงาน (TOR) หรือไม่
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ คณะทำงานทดสอบด้านเทคนิคมีการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากข้อกำหนดในขอบเขตของงาน (TOR) ซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้มีความเห็นว่า กรณีการทดสอบด้านเทคนิคถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้กำหนดไว้ใน TOR ตั้งแต่ต้น ดังนั้นคณะทำงานทดสอบด้านเทคนิคจึงต้องทดสอบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน TOR เท่านั้น การที่จะมีการอ้างเรื่องระยะเวลาที่จะสิ้นสุดของโครงการเดิม ในวันที่ 15 ก.พ. 53 มาเป็นเหตุในการเร่งรัดการทดสอบโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน TOR นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะขั้นตอนนี้เป็นสาระสำคัญ และการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว ทำให้ผู้ผ่านการทดสอบทางเทคนิคมีสิทธิเข้าเสนอราคาทั้งที่ยังไม่ผ่านการทดสอบที่ถูกต้องครบถ้วน ทำให้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบริษัทที่ผ่านการทดสอบสามารถดำเนินงานตามโครงการจัดทำระบบให้บริการประชาชนทางด้านการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่ของกรมการปกครองได้ และอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบบการให้บริการประชาชน รวมถึงผลกระทบกับหน่วยงานราชการต่างๆที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบคอมพิวเตอร์ของกรมการปกครอง
และเนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ตามโครงการนี้มีการตั้งมาตรฐานไว้สูง ที่อาจทำให้บริษัทผู้เข้าร่วมการประกวดราคาบางรายไม่ผ่านการทดสอบตั้งแต่ต้น การดำเนินการทดสอบด้านเทคนิคที่ไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ใน TOR จึงอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายหนึ่งรายใดที่เข้ารับการทดสอบ เพื่อให้มีสิทธิเข้าเสนอราคาได้ การทดสอบด้านเทคนิคควรจะต้องกระทำอย่างรอบคอบ เพราะการเปลี่ยนถ่ายระบบที่มีความสำคัญต้องใช้เวลาในการดำเนินการพอสมควร ตามที่คณะกรรมการคอมพิวเตอร์ภาครัฐได้เน้นและให้ความเห็นไว้ ซึ่งกรณีนี้สวนทางกับการดำเนินการของคณะกรรมการประกวดราคาและคณะทำงานทดสอบด้านเทคนิค ที่เร่งรัดการดำเนินการประกวดทดสอบด้านเทคนิค จนอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบบการให้บริการประชาชน ทั้งที่ในความเป็นจริงยังสามารถที่จะรอให้ผู้รับผิดชอบส่งมอบหน่วยความจำสำรอง (HARD DISK)และเครื่องคอมพิวเตอร์ COS จำลองมาใช้ในการทดสอบทางด้านเทคนิคเพื่อให้เป็นไปตามที่ TORกำหนดไว้ แต่กลับเร่งรัดการทำทดสอบไปก่อน ทำให้การทดสอบไม่เป็นไปตาม TOR ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ ผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในส่วนนี้ ได้แก่ คณะกรรมการประกวดราคาและคณะทำงานทดสอบด้านเทคนิค ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทดสอบด้านเทคนิค ที่ไม่ได้ดำเนินการตาม TOR
( นายธานี สามารถกิจ )
จากข้อเท็จจริงและความเห็นของพนักงานสืบสวน ตามประเด็นข้อ 2,3,4 นั้น ทั้ง 3 กรณีได้มีการโต้แย้งและทักท้วงการดำเนินการประกวดราคาทั้งจากคณะกรรมการกำหนด TOR คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ภาครัฐ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ การโยกย้ายข้าราชการที่มีความเห็นตรงข้าม และผู้ที่ถูกคำสั่งโยกย้ายก็เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการประกวดราคาครั้งนี้ และช่วงเวลาที่ถูกย้ายก็สอดคล้องกัน ในส่วนการเพิ่มคุณลักษณะของอุปกรณ์ประกอบ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย และกีดกันการเข้าเสนอราคาของเอกชน บางรายที่ไม่มั่นใจว่า เมื่อไม่มีอุปกรณ์ที่มีการเพิ่มเติมจาก TORแล้ว จะผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ จึงตัดสินใจไม่ยื่นซองประกวดราคา การลดคุณลักษณะของอุปกรณ์ประกอบ ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และในส่วนการทดสอบด้านเทคนิค แม้จะมีการทดสอบด้านเทคนิคภายหลังจากที่การประกวดราคาผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่ระเบียบสำนักนายกฯ กำหนด เนื่องจากการทดสอบที่ครบถ้วน ต้องทำในขั้นตอนประกวดราคา แต่กรณีนี้เกิดขึ้นภายหลังเมื่อได้ตัดคู่แข่งลงแล้ว
การกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฮั้วประมูล)ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. คณะกรรมการประกวดราคา และคณะทำงานทดสอบด้านเทคนิค ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มและลดคุณลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์ประกอบตามโครงการประกวดราคาครั้งนี้ อาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด เนื่องจากได้ดำเนินการประกวดราคาและให้มีการทดสอบเทคนิคต่างไปจาก TOR ที่ได้กำหนดไว้ ตามป.อาญามาตรา 157 และพ.ร.บ.(ฮั้ว) มาตรา 11
2. นายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผอ.กองคลัง อาจจะเข้าข่ายความผิด ในกรณีที่ไม่ดำเนินการชะลอโครงการฯ และถอนเรื่องคืนจากสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย ตามข้อสั่งการของอธิบดีกรมการปกครอง (นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์) ตามป.อาญา มาตรา 157 และพ.ร.บ.(ฮั้ว) มาตรา 10
3. นายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ (รองอธิบดีกรมการปกครองในขณะนั้น) อาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดกรณีลงนามเห็นชอบในบันทึกสรุปผลการประกวดราคา เสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยพิจารณานำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เห็นชอบโครงการประกวดราคา เนื่องจากรับทราบแล้วว่า มีการร้องเรียนและทักท้วงว่าการประกวดราคาดำเนินการไม่เป็นไปตาม TOR และทราบว่านายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครอง ได้สั่งให้ชะลอโครงการไว้ก่อน แต่ก็ได้ลงนามเห็นชอบไปในฐานะผู้รักษาราชการแทน ในขณะที่อธิบดีเดินทางไปราชการต่างประเทศ ตามป.อาญา มาตรา 157 และพ.ร.บ.(ฮั้ว) มาตรา 10
4. นายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิด เนื่องจากได้ลงนามเสนอโครงการประกวดราคา ให้ รมว.มหาดไทยให้ความเห็นชอบ ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่า กรมการปกครองอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการประกวดราคา และควรจะได้รับทราบข้อสังเกตจากเจ้าหน้าที่กรมการปกครองอยู่แล้วว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการขอถอนเรื่องการประกวดราคาคืนจากสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อรอฟังผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามป.อาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 10
5. นายมงคล สุระสัจจะ อธิบดีกรมการปกครอง อาจเข้าข่ายเป็นผู้กระทำความผิด เนื่องจากทราบอยู่แล้วว่า โครงการประกวดราคาครั้งนี้ มีการทักท้วงจากหลายหน่วยงาน และบางส่วนยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามป.อาญา มาตรา 157 และพ.ร.บ.ฮั้วมาตรา 10
มีพฤติการณ์ของบุคคลที่อาจจะเข้าข่ายเป็นผู้กระทำความผิด คือ นายธานี สามารถกิจ (ปัจจุบันเป็นผู้ว่าฯ จ.ปทุมธานี) และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ คณะทำงานของรมว.มหาดไทย มีพยานยืนยันว่าบุคคลทั้ง 2 เกี่ยวข้องกับการพูดจาข่มขู่ จูงใจให้นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ลงนามในบันทึกเห็นชอบสรุปผลการประกวดราคา แต่เมื่อนายวงศ์ศักดิ์ไม่ยอมลงนาม ก็มีคำสั่งโยกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงข้าราชการรายอื่นๆที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการประกวดราคาที่แตกต่างไปจาก TOR และได้ร้องขอให้ทบทวนโครงการ ก็ถูกโยกย้ายเช่นกัน ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานผู้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบหรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น
แต่เนื่องจากกรณีนี้นายวงศ์ศักดิ์ ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลข้างต้น ดีเอสไอจึงต้องส่งเรื่องให้ป.ป.ช.พิจารณา โดยได้ส่งข้อมูลและเอกสารการร้องทุกข์กล่าวโทษในเรื่องนี้ให้เลขาธิการป.ป.ช. ดำเนินการเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น