วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

รายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย " ไทยคือรัฐทหาร "


รายงานประจำปี 2010 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย

Asian Human Rights Commission (AHRC)

“ประเทศไทยรื้อฟื้น รัฐทหาร”

เนื่อง จาก วันที่ 10 ธันวาคม คือ วันสิทธิมนุษยชนสากล รายงานที่ออกมาจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย ที่มีสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในส่วนของประเทศไทยรายงานจะประกอบไปด้วย 20 หน้า เราจะไม่แปลทั้งหมดเพราะไม่มีเวลาแต่สรุปสาระสำคัญๆ ออกมา

รายงานนี้เริ่มด้วยการเสนอว่า ในไทยมีการรื้อฟื้น “รัฐทหาร” ซึ่งเน้นความมั่นคงภายใน หลังรัฐประหาร 19 กันยาเรื่อยมา มีการเพิ่มอำนาจให้กับพวกที่ต่อต้านสิทธิมนุษยชนในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐและแม้แต่ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย AHRC มีการเรียกร้องให้สหประชาชาติยกเลิกความสัมพันธ์กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ของไทย พร้อมกันนั้น AHRC วิจารณ์การเพิกเฉยของกรรมการสิทธิฯ ขององค์กรสหประชาชาติเอง โดยสาเหตุมาจากการที่ประธานคณะกรรมการนี้เป็นคนของรัฐบาลไทย

AHRC อธิบายว่าในรัฐทหาร มีการจงใจผูกพันสถาบันกษัตริย์ กับนิยามของ “ความมั่นคงภายใน” ทั้งๆ ที่บทบาทสถาบันกษัตริย์เป็นประเด็นถกเถียงอย่างรุนแรงภายในสังคมไทยปัจจุบัน

รายงานของ AHRC กล่าวถึง ดา ตอร์ปิโด ที่ถูกจำคุก 18 ปีในข้อหาหมิ่นกษัตริย์ จิรนุช เปรมชัยพร ผู้บริหารประชาไท ที่โดนข้อกล่าวหามากมาย สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) ที่โดนกลั่นแกล้งจากการที่เขาเป็นนักเคลื่อนไหวสันติ และกรณีการอุ้มฆ่าทนาย สมชาย และ อิหม่ามในภาคใต้ ฯลฯ ในกรณีภาคใต้ผู้กระทำความผิดยังคงลอยนวลอยู่

ในกรณี ผ่านฟ้า และ ราชประสงค์ปีนี้ AHRC ฟันธงว่า รัฐบาลไทยจงใจเลือกสังหารพลเมืองเสื้อแดงที่ออกมาประท้วง โดยที่รัฐบาลใช้อาวุธสงครามรุนแรงและสไนเปอร์ เมื่อพิจารณาการประท้วงของคนเสื้อแดงครั้งนี้ มันอาจจะเป็นภัยต่อการคงอยู่ของรัฐบาล แต่ไม่มีหลักฐานอะไรทั้งสิ้นที่บ่งบอกว่าเป็นภัยต่อประเทศชาติ ดังนั้นการเข่นฆ่าประชาชนที่ราชประสงค์ไม่มีความชอบธรรมตามหลักการสิทธิ มนุษยชนสากล และแม้แต่ในกรอบของ พรก.ฉุกเฉินเองก็ไม่มีความชอบธรรม

รายงานนี้มีการพูดถึง การทรมานคนเสื้อแดงโดยทหาร เช่น การเอาน้ำมันราดและข่มขู่ว่าจะเผาทั้งเป็น การที่ ศอฉ. ใช้อำนาจเผด็จการในการเรียกนักเคลื่อนไหวเข้าพบ รวมถึงนักศึกษาโดยที่ไม่ให้ทนายเข้าไปด้วย และการที่ พรก.ฉุกเฉินฟอกตัวเจ้าหน้าที่รัฐล่วงหน้าเพราะระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรก็ได้ภายใต้ พรก.นี้ โดยที่ไม่มีความผิด การเผยแพร่แผนผัง “แนวร่วมล้มเจ้า” ของ ศอฉ. และรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นการกล่าวหาและข่มขู่พลเมืองโดยไม่มีหลักฐานอะไรทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยรัฐบาลไทย

AHRC เปิดโปงระบบสองมาตรฐานในระบบยุติธรรม เช่น เรื่องของการจับกุมแม่ค้าเสื้อแดงที่ขายรองเท้าแตะ ทั้งๆที่ในสมัยพันธมิตรฯเคลื่อนไหวก็มีการขายรองเท้าแตะที่มีใบหน้าของอดีต นายกรัฐมนตรีทักษิณ โดยที่ไม่มีข้อกล่าวหาและการจับกุมแต่อย่างใด ในกรณีรองเท้าแตะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย ได้ทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็น “เรื่องไร้สาระ” โดยการพูดว่าการนำภาพนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ไปไว้บนรองเท้าเป็นการละเมิด สิทธิของนายอภิสิทธิ์

ผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย คือ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 19 กันยา และจนถึงทุกวันนี้ไม่มีใครถูกลงโทษเพราะระบบศาลล้มเหลวในการปกป้องสิทธิ มนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นกรณีความขัดแย้งในภาคใต้ หรือ สงครามปราบยาเสพติด หรือความขัดแย้งปัจจุบันระหว่างคนเสื้อแดง กับรัฐบาลอภิสิทธิ์

ท่ามกลางการปกป้อง “รัฐทหาร” นอกจากจะมีการจัดการกับผู้ที่เป็น ปรปักษ์ ต่อรัฐทหารนี้แล้ว ยังมีการข่มขู่คนที่ไม่เลือกข้างจนพื้นที่เสรีภาพในสังคมหายไป และมีการเซนเซอร์สื่ออย่างรุนแรง การรื้อฟื้น “รัฐทหาร” ในประเทศไทยครั้งนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับรัฐเผด็จการเก่าในยุคเผด็จการทหาร แต่มีการพัฒนาความสามารถของรัฐในการโฆษณาชวนเชื่อ และการใช้เทคโนโลจีเพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้าม

ทุกวันนี้ ในการรื้อฟื้น “รัฐทหาร” ที่เน้นความมั่นคงภายใน ผู้ที่ประท้วงอย่างสันติ หรือแสดงออกด้วยวาจากับข้อเขียน เสี่ยงกับการติดคุกหลายสิบปี แต่การอุ้มฆ่าทนายสิทธิมนุษยชน การประทุษร้าย การทรมาน และจงใจฆ่า ผู้ประท้วงเสื้อแดงที่มีแต่หนังสติ๊ก ดอกไม้ไฟ ไม้ไผ่ และ ปลาร้า ได้รับคำชมและทหารผู้กระทำความผิดได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรางวัล นี่คือประเทศไทย

อ่านฉบัยเต็มภาษาอังกฤษที่

http://www.humanrights.asia/resources/hrreport/2010/AHRC-SPR-011-2010.pdf


แปลโดย Giles Ji Ungpakorn

ไม่มีความคิดเห็น: