วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ฉายารัฐบาลแห่งปี "รัฐบาลรอดฉุกเฉิน"



สื่อทำเนียบรัฐบาล ให้ฉายารัฐบาลรอดฉุกเฉิน ส่วนนายกฯอภิสิทธิ์ ได้ฉายา นายกรัฐมนตรี : ซีมาร์คโลชั่น "สุเทพ"ทศกัณฐ์กรำศึก

การตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปีของผู้สื่อข่าวสายทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาล จากประสบการณ์การทำงานที่ปรากฏต่อสื่อสาธารณะ โดยมิได้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้ใดผู้หนึ่ง แต่มาจากมติส่วนรวมของสื่อมวลชน โดยในปีนี้ ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลได้ประชุม และมีมติให้ตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี 255 3 ดังนี้

ฉายารัฐบาล : รัฐบาลรอดฉุกเฉิน

ตลอดปี 2553 รัฐบาลต้องเผชิญกับวิกฤตหลายด้าน ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตภัยธรรมชาติ วิกฤตการเมืองทั้งในและนอกสภา เกิดความขัดแย้งและแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคม จนต้องประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในหลายพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ ยังไม่รวมวิกฤตสังคมอื่นๆ จนทุกฝ่ายมองว่ารัฐบาลไม่น่าจะบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ แต่สุดท้ายรอดจากวิกฤตต่างๆ รวมทั้งรอดพ้นจากคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางข้อกังขาจากสังคม

ฉายานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี : ซีมาร์คโลชั่น

ในภาวะที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก วิกฤติความขัดแย้งทางสังคมทั้งระดับประเทศ ลงไปถึงระดับครอบครัว เปรียบเสมือนผู้ป่วยหนักที่ต้องการยารักษาโรคให้หายขาด บางปัญหาต้องทำการผ่าตัด-ปรับโครงสร้าง - เปลี่ยนอวัยวะ สังคมคาดหวังว่านายกฯ จะเข้ามาแก้ไขปัญหาและรักษาอาการของประเทศได้ แต่ผลการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ยังทำได้ผลเพียงการบรรเทาโรค เปรียบเสมือนการใช้ “ ซีม่าโลชั่น ” ทาแก้คันเท่านั้น

ฉายานายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี : ทศกัณฐ์กรำศึก

เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในทุกเรื่อง เปรียบเหมือนทศกัณฑ์ที่มีหลายหน้า อาทิ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แม่บ้านพรรคประชาธิปัตย์ ผู้จัดการรัฐบาล บิดาของนายแทน เทือกสุบรรณ ที่ถูกโจมตีเรื่องการครอบครองที่ดินเขาแพง เกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี ทำให้ต้องเผชิญศึกหนักจากรอบด้าน ทั้งศึกที่จบไปแล้ว และศึกที่ยังดำรงอยู่ แต่ด้วยความมีประสบการณ์การเมืองสูง รอบจัด จึงเอาตัวรอดจากศึกรอบด้านมาได้ ขนาดหลุดจากเก้าอี้ส.ส. เพราะถือหุ้นต้องห้าม ตามด้วยการไขก๊อกจากเก้าอี้รองนายกฯ ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม สุดท้ายก็ฟื้นชีพการเมืองครบทุกตำแหน่ง เปรียบเสมือนทศกัณฑ์ที่ถอดกล่องดวงใจได้ ไม่มีวันสิ้นชีพ

ฉายาพล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี : ลิ้นชาละวัน

ผลงานในตำแหน่งรองนายกฯ ไม่เป็นที่ประจักษ์-เป็นรูปธรรม แต่บทบาทที่เด่นชัดคือการเดินสายเจรจาสร้างความปรองดองกับทุกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล และกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองทุกสี รวมทั้งการเจรจากับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนถูกวิจารณ์ว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผลการเจรจาก็ไม่สำเร็จ เปรียบเหมือนการใช้ลิ้นจระเข้ที่ไม่มีต่อมรับรส กินอะไรก็ไม่รู้รสชาติ การเจรจาของชาละวัน-สนั่น จึงไม่มีการตอบรับจากทุกฝ่าย

ฉายานายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี : กริ๊ง...สิงสื่อ

แม้จะพ้นจากการกำกับดูแลสื่อในช่วงครึ่งปีหลัง แต่บทบาทที่เด่นชัดคือการสั่งการสื่อสำนักต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง มักโทรศัพท์สายตรงไปถึงกองบรรณาธิการ-สถานีโทรทัศน์ เพื่อชี้นำและกำหนดทิศทางในการนำเสนอประเด็นข่าว ทำให้บางสื่อเกิดความอึดอัด แต่ต้องทำตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกครั้งที่เสียงโทรศัพท์ของสื่อดังขึ้น มีชื่อผู้โทร. เข้าเป็นรมต.สาทิตย์ จะทำให้ทุกสื่อรู้สึกสยองขวัญกับคำสั่งที่สิงสู่ส่งมาตามสาย

ฉายานายกรณ์ จาติกวณิช รมว. คลัง : โย่งคาเฟ่

ในฐานะรมว. คลังจำเป็นต้องมีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ การแสดงบทบาทต่อสาธารณะทุกครั้ง เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณต่อความเชื่อมั่นเรื่องภาวะเศรษฐกิจ และเป็นท่าทีทางนโยบายของรัฐบาล แต่สำหรับนายกรณ์กลับแสดงออกไม่สมบทบาทขุนคลัง ในหลายกรณี อาทิ การเปิดผับเชียร์ฟุตบอลโลก การแสดงบทพ.ต. ประจักษ์ มหศักดิ์ คู่กับแอฟ ทักษอร ในละครวนิดา ภาคปลดหนี้ จนถูกวิจารณ์ว่ามีพฤติกรรมที่เน้นสร้างความบันเทิง-เฮฮา มากว่าบทบาทรมว.คลัง

ฉายานายมั่น พัธโนทัย รมช. คลัง : หยากไย่

เป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ได้เข้ามาร่วมรัฐบาลชนิดที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึง เมื่อนำส.ส. พรรคมาตุภูมิเพียง 3 เสียงมาร่วมรัฐบาล หลังพรรคประชาธิปัตย์ขับพรรคเพื่อแผ่นดินออกจากรัฐบาล แม้งานที่ทำจะเงียบเชียบ ไม่มีผลงานชัดเจน แต่ก็ยังชักใย-เกาะติดอยู่กับฝ่ายรัฐบาลได้ทุกยุค เปรียบเหมือน “ หยากไย่ ” ที่เกาะอยู่ในบ้านเรือน ที่ไม่มีประโยชน์ รอวันถูกปัด-กวาดทิ้ง

ฉายานายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว. มหาดไทย : เสืออิ่ม สิงห์โอด

ถูกวิจารณ์จากทั้งคนในและนอกกระทรวงมหาดไทยว่าเป็นยุคตกต่ำที่สุดของกระทรวงนักปกครอง ที่ถูกเรียกขานตามสัญลักษณ์ “ สิงห์ ” โดยปรากฏข่าวไม่ชอบมาพากลสารพัดโครงการ มีการแต่งตั้งโยกย้ายที่ถูกร้องเรียนว่าไม่เป็นธรรมมากที่สุด ทำลายสถิติเรื่องการมีว่าที่ปลัดกระทรวงมากที่สุด จนนักปกครองทุกสีทั้ง สิงห์ดำ-สิงห์แดง-สิงห์ขาวออกมาโอดครวญ เพราะถูก “ เสือ ” เจ้ากระทรวงขย้ำจนไม่เหลือความเป็น “ สิงห์ ” ขณะที่เสือ-คนรอบตัว รมว.กลับอิ่มหมีพีมันเสพสุข

ฉายาพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว. กลาโหม : ป้อมทะลุเป้า

ชื่อเล่นคือ “ บิ๊กป้อม ” เป็นพี่ใหญ่ของนายพลทุกเหล่าทัพ แม้คนภายนอกมองว่าบทบาทของเขาไม่โดดเด่น แต่ในความเป็นจริงเขากลับสร้างผลงานได้ทะลุเป้าในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการกุมอำนาจในฝ่ายความมั่นคง การปฏิบัติการกระชับพื้นที่ชุมนุมย่านราชประสงค์ การขออนุมัติใช้งบของกองทัพทั้งงบลับ-งบแจ้งที่ถูกครหาว่าสูงเป็นประวัติการณ์ การได้รับอนุมัติจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากรัฐบาลทุกรูปแบบ ทุกเงื่อนไข ทำให้เป็นปีที่ “ ป้อมทะลุทุกเป้า ”

ฉายานายจุติ ไกรฤกษ์ รมว. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร : หัวเทียนบอด-แบน

เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่นายกฯ ตั้งความหวังเอาไว้มากว่าจะเข้ามาพัฒนาระบบไอทีของประเทศ แต่ทั้งนายกฯ และคนไทยกลับต้องผิดหวังแทบทุกเรื่อง เพราะทั้งระบบ 3 จี บัตรประชาชนอเนกประสงค์ (สมาร์ทการ์ด) ทุกโครงการยังไม่สำเร็จ ทั้งที่พยายามสตาร์ทมาทั้งปี แต่ยังไม่ติด เหมือนรถที่หัวเทียนบอด แต่รูปธรรมการทำงานกลับเป็นการไล่บี้-สั่งแบนเครือข่ายพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้แบนติดดิน โดยเฉพาะการมุ่งแต่สะสางสัญญาสัมปทานของค่ายชินคอร์ป.

ฉายานางพรทิวา นาคาศัย รมว. พาณิชย์ : นาง “ ฟ้า ” สต๊อคลม

เป็นอดีตแอร์โฮสเตสที่ผันตัวมาเล่นการเมือง ก่อนรับบทแม่ค้าในฐานะรมว. พาณิชย์ ต้องค้า-ขายบริหารสินค้าเกษตร และระบายสต็อกสินค้าเกษตรทั้งหมด แต่ทุกครั้งที่มีการเปิดประมูลสินค้าเกษตร มักมีปัญหาส่อความไม่ชอบมาพากล จนถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกนและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งอนุกรรมการสอบสวน เมื่อตรวจพบสินค้าเกษตรบางรายการเป็นเพียงสต๊อคลม และสินค้ามีที่มาที่ไปไม่โปร่งใส ขณะเดียวกันยังเกิดปัญหาสินค้าราคาแพง ทำให้สบช่องจัดรายการ “ ธงฟ้าราคาประหยัด ” อยู่ตลอดทั้งปี

วาทะแห่งปี 2553 : ถ้าเลือกตั้งแล้วนองเลือด แล้วผมชนะ ผมไม่เอาหรอก ”

เป็นคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์

อนึ่ง ที่ประชุมสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ตัดสิทธิสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในการเข้าร่วมประชุมและเผยแพร่ฉายารัฐบาล เนื่องจากในปี 2552 ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลฉายารัฐบาลประจำปี 2552 พร้อมเบื้องหลัง ก่อนวันเวลาที่กำหนด

ไม่มีความคิดเห็น: