วันนี้ ( 1 ตุลาคม 2556 )
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
เปิดเผยถึงกรณี การทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา
ซึ่งรัฐสภาได้ผ่านวาระ 3 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2556 ว่า ขณะนี้
นายกรัฐมนตรีได้ลงนามเพื่อทูลเกล้าฯตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว
และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำลังดำเนินการตามขั้นตอน
โดยย้ำว่าการดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
โดยเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันถึงการลงนามของนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯนั้น
มีความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบ ที่ให้ความเห็นว่า
“รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑
ได้บัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้โดยเฉพาะว่า “เมื่อมีการลงมติแล้ว
ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๐ และมาตรา ๑๕๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
จึงเห็นได้ว่า เมื่อมาตรา ๒๙๑
ดังกล่าวได้บัญญัติไว้ชัดเจนโดยให้นำเฉพาะมาตรา ๑๕๐ และมาตรา ๑๕๑
มาใช้บังคับเท่านั้น โดยมิได้ให้นำมาตราอื่นใดของรัฐธรรมนูญมาใช้ ดังนั้น
เมื่อรัฐสภาได้เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว
นายกรัฐมนตรีจึงมีหน้าที่ตามมาตรา ๒๙๑ ประกอบกับมาตรา ๑๕๐
ที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐสภาเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
โดยมิอาจนำมาตรา ๑๕๔
ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการตราพระราชบัญญัติมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญโดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์วินิจฉัยมาใช้บังคับได้ มิฉะนั้น นายกรัฐมนตรีอาจจะถูกกล่าวหาได้ว่าไม่ได้ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้”
“สำหรับกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา
๖๘ ของรัฐธรรมนูญนั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ดังกล่าว
มิได้บัญญัติให้ระงับการดำเนินการตามมาตรา ๒๙๑ ของรัฐธรรมนูญ
และมิใช่กรณีตามมมาตรา ๑๕๔ ของรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา ๑๕๔
เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา
๒๙๑ ของรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติให้นำมาใช้บังคับด้วยแต่อย่างใด
ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๒๓
กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๔ กรณีการร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา ๑๕๔
วรรคหนึ่ง (๑) ว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “มาตรา ๒๙๑ (๗)
ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติเฉพาะมาตรา ๑๕๐ และมาตรา ๑๕๑
มาใช้บังคับโดยอนุโลม ไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา ๑๕๔
ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการตราพระราชบัญญัติมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรวินิจฉัยมาใช้บังคับ ดังนั้น
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวประกอบกันแล้ว กรณีตามคำร้องนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา
๑๕๔ วรรคหนึ่ง (๑) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยได้”
ทั้งนี้
เลขาธิการนายกรัฐมนตรีชี้ให้เห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต่างกันกับร่างพระราชบัญญัติ
ที่กระบวนการและขั้นตอนได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ
เมื่อรัฐสภาดำเนินการตามหน้าที่เรียบร้อยแล้ว
นายกรัฐมนตรีก็มีหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่มีการระบุไว้
คือนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างฯจากรัฐสภา
สำหรับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นแตกต่าง หรือมีคำวินิจฉัยที่แตกต่าง
ก็ต้องมาพิจารณากันว่าคำวินิจฉัยนั้นมีสาระอย่างไร เพราะการตีความกฏหมายมีหลากหลายแนวคิด
แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกคนทำบทบาทให้ครบถ้วนตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ และไม่ว่าใครจะมีบทบาทใด
การตีความกฏหมายจะเป็นอย่างไร ก็ต้องให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ อย่าให้ประเทศต้องถึงทางตันที่ไม่สามารถหาทางออกได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น