ในวันที่ 1-2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่แพทย์จบใหม่ทุกคนจะมารวมตัวกันเพื่อจับสลากเลือกสถานที่ใช้ทุนซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ หรือเขตทุรกันดาร จนไปถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขเลือกสถานที่ปฐมนิเทศและจับสลากเป็นที่อิมแพคเมืองทองธานี
แน่นอนว่าในพื้นที่สว่างไสวท่ามกลางแสงสีแห่งไฟนีออน พ่อแม่ของแพทย์จบใหม่อนาคตไกลตั้งคำถามว่า “ทำไมแพทย์จบใหม่จึงต้องทำงานชดใช้ทุนในชนบท ขณะที่วิศวะ สถาปัตย์ บัญชี ไม่เห็นต้องใช้ทุนในชนบทเลย ทำไมลูกของฉันต้องออกไปลำบากลำบนในพื้นที่ชนบท” พ่อแม่หลายคนที่มีเงินพออาจจะจ่ายเงิน400,000 บาทเพื่อให้ลูกสุดที่รักไม่ต้องไปทำงานในที่กันดารห่างไกล
แต่ขณะเดียวกัน ในเงามืดอีกมุมหนึ่งท่ามกลางแสงเทียนวิบวับ ผู้ป่วยและคนยากไร้ในชนบทตั้งคำถามด้วยความไม่แน่ใจว่า “ปีนี้จะมีหมอมาตรวจรักษาฉันหรือไม่”
ในบริบทของสังคมไทยที่มีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนสูง ย่อมมีมุมมองจากวิถีชีวิตที่แตกต่าง ทุกคนมีสิทธิ์ตั้งคำถาม และมีสิทธิ์เลือกทางเดินชีวิตของตนเอง แต่เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของความเป็นความตาย ไม่ใช่เรื่องความจนหรือความรวย วิชาชีพสุขภาพจึงเป็นวิชาชีพที่ต้องมีอุดมการณ์ มีจรรยาบรรณ และมีกรอบคิดที่แตกต่างจากวิชาชีพอื่น นั่นคือเหตุผลที่ยังคงต้องมีแพทย์ใช้ทุนในชนบท แต่ไม่มีวิศวะใช้ทุนในชนบท
นับเป็นเวลา 39 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2515 ที่ประเทศไทยริเริ่มให้มีแพทย์ใช้ทุนไปทำงานในชนบทเป็นเวลา 3 ปี เป็นเพราะว่า ช่วงเวลานั้นช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท ห่างกันไกลมาก แม้ว่าชนบทในวันนี้ห่างไกลจากชนบทเมื่อ 39 ปีก่อนอย่างคาดไม่ถึง แต่ช่องว่างด้านการรักษาพยาบาลที่มีอยู่กลับถ่างออกเรื่อยๆเช่นกัน จนถึงทุกวันนี้แพทย์ที่ยินดีและเต็มใจอยู่ในชนบทจึงยังมีไม่เพียงพอ แพทย์ที่ทำงานเกินจากระยะใช้ทุนมีเพียง 53% ของแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด เมื่อแพทย์คนใหม่มาแพทย์คนเก่าก็ไปเรียนต่อ วนเวียนไปอย่างนี้ไม่มีสิ้นสุด ดังนั้นจนวันนี้สังคมไทยจึงยังจำเป็นต้องมีแพทย์ใช้ทุนอยู่
ในวันนั้นของเมื่อ 39 ปีที่แล้ว ในท่ามกลางภาวะที่สังคมไทยถามหาประชาธิปไตย และความเท่าเทียมกันในสังคม แพทย์ใช้ทุนส่วนหนึ่งไม่ได้ถูกบังคับให้ไปใช้ทุน แต่ยินดีที่จะไปใช้ทุนด้วยความฝันและอุดมการณ์ที่อยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่เท่าเทียมกันไม่แบ่งชนชั้น ยากดีมีจน ชนบทหรือในเมือง
เมื่อ 39 ปีผ่านไป ณ วันนี้ สังคมไทยยังฝากความหวังว่าแพทย์ใช้ทุนรุ่นใหม่จะไม่คิดว่าการไปใช้ทุนคือการบังคับใช้ทุน แต่เป็นการอาสาไปใช้ทุนเพื่อมอบโอกาสให้กับคนที่ยังขาดโอกาสในพื้นที่ห่างไกลในชนบท เพราะโอกาสนั่นแหละที่แยกความแตกต่างระหว่างคนเมืองกับคนชนบท ไม่ใช่เพราะพวกเขาโง่ หรือขี้เกียจ แต่เป็นเพราะพวกเขาขาดโอกาส การใช้ทุนจึงเป็นการมอบโอกาสด้านการแพทย์และการสาธารณสุข โดยผู้ที่มีจิตอาสา และเป็นผู้ที่มีโอกาสเหนือกว่าคนอีกหลายคน
แต่ในการประชุมจับสลากเลือกที่ใช้ทุนของทุกปีเมื่อแพทย์จบใหม่จับสลากไม่ได้ดังที่ปรารถนา ก็จะลาออก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวขาดแพทย์ไปทำงาน ทั้งๆที่พื้นที่เหล่านั้นกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรเงินค่าตอบแทนไปชดเชยให้จำนวนมาก แต่ก็ยังไม่คุ้มกับความเสี่ยงและความกังวลของพ่อแม่แพทย์จบใหม่อยู่ดี ในทุกปีช่วงท้ายของการจับสลากจะเป็นบรรยากาศเศร้าเคล้าน้ำตาของแพทย์จบใหม่ที่ผิดหวังในการเลือกสถานที่ และจบลงด้วยการไม่ขอรับบรรจุเป็นข้าราชการ
ส่วนสำคัญในการตัดสินเลือกสถานที่ และตัดสินใจไม่บรรจุรับราชการที่ห่างไกลนั้น ก็คือพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพราะปัจจุบันเด็กที่สอบเข้าเรียนแพทย์ได้เป็นผู้หญิงถึงร้อยละ 65-70 และเด็กที่เข้าเรียนได้ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ่อแม่จึงไม่อยากปล่อยให้ลูกไปอยู่ห่างไกลและเสี่ยงอันตราย
เพราะระบบการสอบเข้าเรียนแพทย์ที่เน้นความเก่ง มากกว่าความเสียสละและอยากไปบริการผู้ป่วยในชนบท เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่อยากให้ลูกเรียนหมอเพื่อจะได้รวยและมีคนนับหน้าถือตา เพราะเด็กสอบเข้าเรียนแพทย์เพียงเพื่อให้เพื่อนๆรู้ว่าตัวเองก็เก่งเหมือนกันไม่ใช่เพราะอยากเป็นหมอ เพราะระบบการศึกษาที่ทำให้คนชนบทมีโอกาสเรียนแพทย์น้อยกว่าคนในเมือง ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุให้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบทยังคงอยู่และจะยังคงอยู่อีกหลาย10ปี
น่าแปลกใจว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมเรียกร้องหาหมอที่มีอุดมการณ์ หมอที่เสียสละ หมอที่มีใจอยากช่วยผู้ป่วย เป็นหมอที่มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ แต่คนเดียวกันนั้นเมื่อเวลาเป็นพ่อแม่กลับบอกให้ลูกเอาตัวรอดโดยลาออก ไปเรียนต่อ หรือหางานทำในโรงพยาบาลเอกชน โดยไม่ต้องไปใช้ทุนในชนบท
พ่อแม่เองกลับไม่รู้ว่า การไปทำงานในชนบทนั้น ทำให้ลูกได้พบกับชีวิตจริง เข้าใจชีวิตคนยากจนในชนบท เปลี่ยนมุมมองของชีวิต คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตน เปลี่ยนจากภาวะเด็กที่ต้องพึ่งพิง เป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งในเวลาไม่กี่ปี และเป็นหมอที่เข้าใจผู้ป่วยได้มากขึ้น
จริงๆ ในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ และย่อมไม่มีอะไรเสียไปฟรีๆ เวลา 3 ปีของการใช้ทุน จึงไม่ใช่เวลาแห่งการเสียโอกาสในการไขว่คว้า กอบโกย เพื่อจะก้าวหน้าเป็นศาสตราจารย์ แต่เป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ชีวิตของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนเมืองและคนชนบท
พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรสนับสนุนให้ลูกได้เติบโตและเรียนรู้โดยการไปใช้ทุนในชนบท เพื่อที่เขาจะได้พัฒนาตัวเองและกลายเป็นแพทย์ที่ดีของสังคมต่อไปในอนาคต
ถ้าในมุมแห่งแสงสีของไฟนีออนไม่ได้ตั้งคำถามว่า “ทำไมฉันต้องไปใช้ทุน” ในเงามืดที่มีแต่แสงเทียน ย่อมสว่างขึ้น และการไปใช้ทุนในชนบทจะเป็นการบรรจบกันของความดี ความงาม และการแบ่งปันที่มีให้กันและกันของมนุษยชาติ และที่นั่นย่อมเป็นที่ซึ่งระบบทุนนิยมอ่อนกำลังลง เป็นที่ซึ่งสัตว์ที่แข็งแรงกว่าไม่จำเป็นต้องกัดกินสัตว์ที่อ่อนแอกว่า แต่พวกเขาเกื้อกูลกัน และเป็นที่ซึ่งพวกเราทุกคนไม่ได้อยู่เดียวดายในโลกแห่งวัตถุนิยมอีกต่อไป
( เรื่องและภาพ โดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น