สัมภาษณ์พิเศษ ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรมช.กระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคม
Palrak : ในฐานะเคยเป็นสื่อที่เข้าสู่การเมือง และเป็นที่ชื่นชมในสังคมปฏิบัติตัวอย่างไร?
ลดาวัลลิ์ : เดิมเป็นสื่อมวลชนสายสังคม ทำสารคดีเชิงข่าวและรายงานพิเศษเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นจึงได้มาเป็นโฆษกรัฐบาล เป็นการเข้ามาการเมืองโดยไม่ได้ตั้งใจ ได้สัมผัสกับสื่อเพราะมีการคาดเดาตัวเต็งที่จะได้มาเป็นโฆษกรัฐบาล ว่ากันว่าเป็นคนนั้นคนนี้ ส่วน ลดาวัลลิ์ เป็นม้านอกสายตา พอได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกรัฐบาลหญิงคนแรกของประเทศก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อ และเราก็ได้เห็นความน้ำเน่าของสื่อบางคน ที่เขียนว่า “ เราได้ตำแหน่งนี้มาเพราะความสวย” และเขียนไปถึงขนาดมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายกรัฐมนตรี เขียนกันไปถึงขนาดนั้น แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมของสื่อบางคนยังใช้ไม่ได้ ยังเอาความรู้สึกนึกคิดที่ไร้สาระเข้ามาเกี่ยวข้องในหน้าที่การงานของตนเอง ถือว่า วงการสื่อมีอะไรที่ไม่เหมาะสมอยู่ ในฐานะที่เราเคยเป็นสื่อมา มีแต่การนำเสนอที่ตรงไปตรงมาในข้อมูล อย่างเรื่องการพัฒนาเราก็นำสภาพปัญหา ความเป็นจริงในชุมชน สังคม มาสะท้อนให้รัฐบาลได้รับทราบ ส่วนราชการได้รับรู้ผ่านสื่อของเรา ตอนนั้นอยู่ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. (ปัจจุบันคือ MCOT)
ต่อมาอยู่ ช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ (ปัจจุบันคือ NBT) ซึ่งในตอนนั้น ช่อง9 เป็นผู้เริ่มต้นและโด่งดังมากๆ โดยเฉพาะทีมข่าวของ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เมื่อรัฐบาลได้รับรู้ก็เอาไปขยายผล กำหนดเป็นนโยบายและแผนงาน และก็แก้ไข แม้กระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ท่านก็ติดตามรายงานคุณภาพชีวิต ข่าว 9 อ.ส.ม.ท. ของลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ เวลามีปัญหาอะไร ท่านก็บัญชาให้รัฐมนตรีคนนั้นไปแก้ไข เราก็ชื่นใจ เพราะประชาชนที่เป็นแหล่งข่าวก็รายงานผลเชิญให้เรากลับไปดูอีกครั้ง ผลจากที่เสนอข่าวมีการพัฒนา หน่วยงานต่างๆ มาสนใจจนเกิดเป็นรูปธรรม ปัญหาก็หมดไป เราก็ชื่นใจที่เราเป็นสื่อที่รับผิดชอบต่อสังคม เราเสนออะไรที่ไม่บิดเบือน ตรงไปตรงมา เราหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งข่าว ถ้าเราได้ข่าวมาแต่คนอื่นบอบช้ำ เราจะไม่ทำเด็ดขาด
Palrak : มุมมองของ การเมืองในยุค คุณ ทักษิณ ในสายตา ลดาวัลลิ์?
ลดาวัลลิ์ : วิกฤตการเมือง วิกฤตประชาธิปไตย เราอับอายสายตาชาวโลกมาก เคยรับรู้รับทราบตั้งแต่วิกฤตประชาธิปไตย แล้วมาเป็นประชาธิปไตย นายทหารต่างๆก็เข้ามาสู่การเมือง และมาเจริญรุ่งเรืองที่สุดในยุคของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่เจริญจากรากหญ้าขึ้นมา จนนานาชาติยอมรับการเจริญเติบโต เกียรติและศักดิ์ศรีประเทศไทย ผู้นำของประเทศไทย ข้าราชการ นักธุรกิจ ไปต่างประเทศ สามารถแสดงออกได้อย่างสง่างาม พอวูบไปอีก
Palrak : อยากจะบอกอะไรสื่อ ในสภาวะปัจจุบัน?
ลดาวัลลิ์ : สื่อมวลชนต้องเข้าใจต้องช่วยกันสร้างความน่าเชื่อถือ ความสง่างามในสายตาโลกแต่กลับมายิ่งเหมือนกับการซ้ำเติม การเสนอข่าวมีผลได้ผลเสีย สื่อบางคนก็เล่นการเมือง มีผลประโยชน์ด้านการเมือง เลยสร้างผลงานสื่อของตนเองบิดเบือน เขียนโน้มน้าวชี้นำ ใส่ร้ายป้ายสี เพื่อให้ประชาชน ผู้บริโภคได้เกลียดชัง เข้าใจผิด เหมือนที่ตนเองตั้งใจ อันนี้ จะไม่ใช่สื่อที่มีจรรยาบรรณ และก็ค่อนข้างจะผิดหวังกับสื่อที่มีพฤติกรรมประเภทนี้ ซึ่งอยากให้คำนึงภาพรวมของประเทศ สื่อถ้าเป็นกลางจริงๆ ผลได้ผลเสียของทั้ง 2 ฝ่ายต้องเป็นกลางจริงๆไม่ใช่เอาตนเองไปคลุกกับเขาด้วย ไม่ใช่เก็บเกี่ยวผลมาโยชน์มาเพื่อตนเอง ซึ่งเป็นที่น่าห่วงมากๆ สำหรับประชาชนบริโภคสื่อที่ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นกลางและสื่อที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
Palrak : สาเหตุที่เปลี่ยนจากประชาธิปัตย์ โดยการพลิกขั้วมาเป็นไทยรักไทย?
ลดาวัลลิ์ : บทบาททางการเมืองเป็นบทบาทที่ไม่ได้ตั้งใจ และไม่ค่อยชอบมาตั้งแต่ต้น จากเป็นโฆษกรัฐบาล โฆษกประจำสำนักนายกฯรัฐมนตรี ท่านนายกฯเป็นผู้เชิญและแต่งตั้ง และทางครอบครัวสนับสนุน พี่น้องสื่อก็ไปช่วยกัน แต่พอปลายสมัยท่านนายกฯรัฐมนตรี ท่านก็บอก ท่านก็บอกให้ไปสมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนะท่านโฆษกฯ ท่านธารินทร์ นิมมาเหมินทร์ และคุณสนั่น ขจรประศาสน์ ก็มาเชิญชวนให้ไปสมัครลงรับเลือกตั้ง ตอนแรกเขาปฏิเสธไปแล้ว แต่สามีรักและสนใจการเมือง คุณสุวิทย์ วงศ์ศรีวงศ์ ก็โน้มน้าวสารพัดให้เรามาทำงานการเมือง บอกว่าเป็นโอกาสดี ชื่อเสียง ประสบการณ์อะไรก็มีมากพอสมควรแล้ว
ปัญหาที่เข้ามาสู่บ้านเราก็ปวดหัวไปด้วย แต่ถ้าเป็นนักการเมือง เรามีโอกาสเสนอนโยบายจะได้ลองไปแก้ปัญหาเลย ให้ลองดู เราก็เลยเชื่อฟังสามีดูหน่อย แต่เราต้องไม่ซื้อเสียงนะ แล้วเราก็ไปลงที่บ้านเกิดก็ชนะได้ที่ 1 ของพรรคประชาธิปัตย์ ตอนนั้นที่ 1 ของจังหวัด ที่ 1 ของพรรคประชาธิปัตย์ และที่ 5 ของประเทศ โดยไม่ซื้อเสียงเลย ไม่ซื้อรายหัว ไม่ซื้อรายกลุ่มเลย เป็นคะแนนบริสุทธิ์ล้านเปอร์เซ็นต์ เราก็มีความภาคภูมิใจ ที่นี้ก็เร่งทำงาน เราก็สงสัยอะไรที่ประชาชนเขารักเรา เขาศรัทธาเราถึงขนาดนี้ อะไรคือสิ่งที่เขาอยากพึ่งเรา ก็นั่งทบทวนว่ามีปัญหาอะไรที่รุนแรงมาก ที่เขาต้องการให้เราแก้ไข สรุปปัญหาเขาคือ “การขายลูกสาวกิน” หรือ “ตกเขียว” ขายลูกไปเป็นโสเภณี เป็นปัญหาวิกฤตรุนแรงที่สุด เรื่องนี้เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ ทั้งที่ที่รู้ว่าทำยากและอันตราย เราก็เอาข้อมูลมาประมวล และมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์
Palrak : การอยู่ประชาธิปัตย์ เป็นเรื่องที่น่าอับอาย..หรือไม่?
ลดาวัลลิ์ : เราอยากทำงานด้านสังคม ก็ไปบอกผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ทำงานด้านสังคมของพรรค ว่า มีข้อเสนอแนะเรื่อง เด็กและสตรีจำนวนเยอะมาก เมื่อไหร่จะประชุมกำหนดนโยบาย เราอยากเสนอเพื่อให้รัฐบาลทำ ก็ได้รับคำตอบว่า เดี๋ยวประชุมแล้วจะบอก จนรอ 8 ปี ไม่เคยได้ประชุมแม้แต่ครั้งเดียว ที่พรรค มันไม่มีการประชุมที่เป็นกิจจะลักษณะ เขาไม่เรียกเราเลย ประกอบกับมีปัญหาขัดแย้งระหว่างนักการเมืองด้วยกันเอง แล้วในช่วงนั้นปี พ.ศ. 2543 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้นมา ท่านก็มาชวนโดยไปคุยกับคุณพ่อ โดยจะคิดใหม่ ทำใหม่ เห็นว่าลูกสาวมีประสบการณ์ ทำงานเป็นชิ้นเป็นอัน ทำดีเพื่อสังคม สตรี และเด็กมามาก อยากจะให้มาช่วยงานด้านนี้ในนามพรรค ไทย รัก ไทย เราก็ยังไม่รับปากทันที เราก็บอกว่า ขอกลับไปถามประชาชนก่อน เราก็กลับไปทำประชามติ สอบถามความคิดเห็น อภิปรายกันทีละอำเภอ โดยถามด้วยตัวเอง ผลปรากฏว่า เป็นเอกฉันท์ในทุกอำเภอว่าควรจะย้าย อยากให้คิดใหม่ทำใหม่ เพราะช่วย นายกฯชวน หลีกภัย คนใต้เป็นนายกฯมาแล้ว การพัฒนาก็เคยเห็นฝีมือมาแล้ว ตอนนี้คนเหนือของเรายังไม่เคยเป็นนายกฯรัฐมนตรีเลย อยากจะให้โอกาสคนเหนือ “หมู่เฮาชาวเหนือ” ดูบ้าง น่าจะลองดูนะ เราก็เลยลาออก และมาสมัครพรรคไทยรักไทย ท่านก็เลยตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการยกร่างนโยบายของพรรคด้านครอบครัวและสตรี ซึ่งเราหามา 8 ปี พอได้ก็ชื่นใจ นโยบายที่ภูมิใจที่สุด คือ การจัดตั้งศูนย์พัฒนาชุมชน 8,000 ชุมชนทั่วประเทศ โดยมีภาคประชาชนเข้ามาเป็นคณะทำงาน ตรงนี้จะเป็นตัวประมวลปัญหาเบ็ดเสร็จตั้งแต่เด็กจนถึงคนชรา เขาจะจัดลำดับปัญหาก่อนหลัง และเสนอเป็นนโยบายได้ รงนี้ ปัญหาสังคมจะทุเลาเบาบางลงไป ตรงนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนด้านสังคม จนประกาศเป็นนโยบายรัฐบาล และบรรจุอยู่ในแผนงานหลักของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งตอนพิจารณาแยกรายกระทรวง ท่านนายกฯก็ตั้งให้เราในฐานะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นประธานคณะทำงานแยกจากกระทรวงนี้อีก จึงเป็นโอกาสทำให้เราได้รับใช้สังคม พอคิดใหม่ทำใหม่ ทำให้รู้ว่า คิดถูกที่เรามา เป็นความประทับใจที่เราได้คุ้มครองแรงงานประมาณ 8 ล้านคน คุ้มครองไปสู่กองทุนประกันสังคม และเราก็ได้ปราบหัวคิวแรงงาน ที่เดิม “ไปเสียนา มาเสียเมีย” โดยมีคณะที่สูบเลือดอยู่ในกระทรวง เป็นข้าราชการชั้นสูงเสียเอง สู้กันมา เจอสารพัด แต่เราคิดว่า เราตายครั้งเดียว ไม่มีใครตาย 2 ครั้ง และเป็นคนไม่ค่อยกลัว คิดว่าถ้าตายก็เป็นการพลีชีพเพื่อชาติ สุดท้ายทั้ง 8 คนก็ถูกนายกฯไล่ออกฐานผิดวินัยร้ายแรง เราก็ถือว่าเราชนะแล้ว แม้ว่าจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา แต่เราก็ชนะ เพราะเราไม่ได้ทุจริต แต่เอาข้อมูลเท็จมาอภิปรายเรา เราก็แก้ข้อกล่าวหาได้สบายมาก จนโพลออกมาว่า เราตอบได้ยอดเยี่ยม ประชาชนมั่นใจ ลดาวัลลิ์ไม่ได้ ทุจริต
Palrak: ปัญหาของประเทศไทย และทางออกที่ควรดำเนินการ?
ลดาวัลลิ์ : เรื่องนี้ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งมองจากประสบการณ์ว่า การที่เป็นนักการเมืองมา วิกฤติประชาธิปไตยในขณะนี้ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวของกลุ่มบุคคล ดังนั้นการแก้คือ ลดวางเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวลง เพราะมันจะเสียหายต่อคนทั้งประเทศในสายตาชาวโลกที่บอบช้ำมาแล้ว ถ้าลดเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวแล้วก็มาแก้ แต่จะแก้อย่างไร ก็ต้องมาแก้ที่รัฐธรรมนูญเป็นอันดับแรก รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ต้องปรับปรุงนิดหน่อยมาใช้แทน ฉบับ 2550 เพราะ ฉบับ 2550 เป็นตัวบั่นทอน ประชาธิปไตยของประเทศไทยทั้งหมดเลยตัวปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และก็ลดราวาศอกในเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวมันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่แล้ว อำนาจความเป็นเผด็จการมันแฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถ้าหากรัฐธรรมนูญ 2550 เลิกไป ระบอบเผด็จการก็จะหมดไปด้วย และความเป็นประชาธิปไตยก็จะกลับคืนมา มีการตรวจสอบรัฐโดยองกรค์อิสระก็จะเป็นมาตรฐานที่เป็นสากล สบายใจกันทุกฝ่าย จะได้ไม่คิดว่ามีการเข้าไปแทรกแซง มันต่างกับปี พ.ศ.2550 องค์กรอิสระอย่าใช้คำว่าถูกแทรกแซงเลย แต่เขามีการเอาคนของเขาไปนั่งเลย มันร้ายกาจยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 อำนาจการบริหารของปวงชนชาวไทยขาดไป 1 อำนาจ (โปรดติดตามฉบับเต็ม)
อ้างอิงจาก นสพ.ไทยเรดนิวส์ ฉบับที่26
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น