วันนี้ (27 ม.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสมาน ศรีงาม แกนนำกลุ่มธรรมยาตรา ทวงคืนเขาพระวิหารและมณฑลบูรพา พร้อมนายสุนทร ชัยยา ทนายความ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร อดีตรมว.ต่างประเทศ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐาน ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ,กระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 และมาตรา3
คำฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 5 มิ.ย.-9 พ.ย. 2543 จำเลยที่ 1 เป็นรมว.ต่างประเทศ จำเลยที่ 2 เป็นนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 3 เป็นรมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กระทำผิดหลักรัฐธรรมนูญ ปี2550 มาตรา 3 โดยจำเลยได้ปฏิบัติราชการแผ่นดินโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ขัดรัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ. 2540 มาตรา 224 และประมวลกฎหมายอาญา ทำให้ประเทศชาติเสียหาย กล่าวคือได้ร่วมกันทำสัญญาบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่า ด้วยการสำรวจการจัดทำเขตแดนทางบก ปี พ.ศ. 2543 มีสาระสำคัญว่าการสำรวจจัดทำหลักเขตแดนทางบก จะต้องทำโดยบรรดาเอกสารที่ผูกพันไทย-กัมพูชา ตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาฉบับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904 และ ฉบับวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907 และแผนที่แสดงเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา มาตรา 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสเพียงฝ่ายเดียว อันเป็นการแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศไทยหรือการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตอย่างชัดเจน
นอกจากนี้จำเลยยังได้ทำหนังสือสัญญา ที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ โดยไม่ผ่านรัฐสภา ส่งผลให้การทำสัญญาและบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยู 2543 ตกเป็นโมฆะ เพราะขัดรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 และพ.ศ.2550 ดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงไม่สามารถนำบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยู ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อื่นใด หรือดำเนินการใดๆ ได้ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อระหว่างวันที่ 1 ม.ค.52 -ปัจจุบันจำเลยที่ 3ได้กระทำมิชอบ โดยใช้บันทึกข้อตกลงดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งตกเป็นโมฆะไปแล้ว นำไปใช้หรือสนับสนุน เพื่อบรรลุผลในการบังคับเปลี่ยนแปลงแนวเขตแดนของประเทศจากแบ่งตาม “สันปันน้ำ” แต่เพียงอย่างเดียว ก็เปลี่ยนเป็นแนวอื่นเช่น ตามแผนที่ 1 :200,000 ที่ฝรั่งเศสทำฝ่ายเดียว นำมาใช้บังคับ ทำให้เขตแดนไทย มีปัญหา ต้องสูญเสียพื้นที่ในเขตไทยไปนับพันไร่ ในเขต 4.6 ตารางกิโลเมตร บริเวณเขาพระวิหารและนับแสนไร่ บริเวณติดชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ขัดรัฐธรรมนูญและผลตกเป็นโมฆะ ท้ายคำฟ้องโจทก์ยังได้ยื่นเอกสารประกอบเช่น หนังสือสำคัญระหว่างประเทศ เอกสารเกี่ยวกับเอ็มโอยู 2543 ประกอบการพิจารณา เบื้องต้นศาลรับคำฟ้องไว้เพื่อมีคำสั่งต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น