อดีตรมช.คลัง 'พิชัย นริพทะพันธุ์' แนะ รัฐบาลหารายได้เพิ่ม ทดแทนรายจ่ายจากนโยบายประชานิยม ที่ทำกระเป๋าฉีก...
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมช.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลระบุเศรษฐกิจไทยครึ่งแรกของปีนี้ เติบโตถึง 10.6% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกปีก่อนว่า การขยายตัวที่ดูเหมือนจะสูง ส่วนหนึ่งมาจากช่วงเดียวกันปีก่อนติดลบถึง 6% เท่ากับการเติบโตที่แท้จริงเพียง 3.96% ส่วนในครึ่งปีหลังที่รัฐบาลระบุจะไม่ดีเท่าครึ่งปีแรกนั้น เพราะครึ่งหลังของปีก่อน การเติบโตเป็นบวก ไม่ได้ติดลบเหมือนครึ่งปีแรก โดยไตรมาส 3 ติดลบ 2.8% ส่วนไตรมาส 4 ขยายตัว 5.8% ดังนั้น การเจริญเติบโตในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายจะไม่สูงแน่นอน และการที่คาดว่า ในปีนี้จะเติบโตถึง 7.5% นั้น เมื่อคำนวณกับปีก่อนที่ติดลบ 2.3% ก็จะทำให้การเจริญเติบโตในปี 53 มีเพียง 5% เมื่อเทียบกับปี 51 หรือถ้าเฉลี่ย 2 ปี เท่ากับขยายตัวปีละ 2.5% ซึ่งไม่สูงเลย
ดังนั้น ตามที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้เกินเป้า จนอาจขาดดุลไม่กี่หมื่นล้านบาท หรืออาจจะเป็นงบประมาณสมดุลนั้น ไม่จริง เพราะปีที่แล้วมีการคาดประมาณการจัดเก็บต่ำมากเพียง 1.35 ล้านล้านบาท หรือเพียง 13.8% ของรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ซึ่งต่ำกว่าปี 52 ที่เก็บได้ 1.60 ล้านล้านบาท หรือ 18.1% ดังนั้น การจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจึงเป็นเรื่องปกติ เพราะตั้งเป้าต่ำมาก ส่วนการที่งบประมาณปีก่อนเป็นงบประมาณปีแรกที่การทำงบประมาณลดลงคือ เหลือ 1.7 ล้านล้านบาท จากปี 52 ที่ 1.95 ล้านล้านบาท หรือลดลง 250,000 ล้านบาท โดยรัฐได้ โยกงบลงทุนไปอยู่ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 400,000 ล้านบาท และนายกฯระบุว่า อาจเป็นงบประมาณสมดุล จึงไม่เป็นความจริง เพราะหนี้สาธารณะต้องไม่เพิ่มขึ้น แต่ความจริงคือหนี้สาธารณะกลับสูงขึ้นมาก จึงไม่อยากให้นายกฯให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ประชาชน
"สิ่งที่รัฐควรทำในช่วงเศรษฐกิจฟื้นคือ หารายได้ เพิ่มเพื่อทดแทนรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมากจากนโยบายประชานิยม จนทำให้เงินลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันในอนาคตของประเทศลดลง แต่รัฐกลับทำตรงข้าม ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจากการที่รัฐใช้เงินเพิ่มขึ้น ราคาข้าวของแพง ประชาชนยากลำบาก ซึ่งเมื่อเกิดเงินเฟ้อ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องขึ้นดอกเบี้ยควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้ ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มขึ้น และยังทำให้ค่าเงินบาทสูงขึ้น จนกระทบต่อผู้ส่งออก"
นายพิชัยกล่าวถึงงบประมาณปี 54 ที่เพิ่งผ่านสภาว่า ในงบปี 54 มีงบ 2.07 ล้านล้านบาท สูงกว่างบปี 53 ถึง 370,000 ล้านบาท โดยมีการกู้เงิน 420,000 ล้านบาท มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่กลับมีงบใช้หนี้น้อยลงเพียง 32,554.6 ล้านบาท ขณะที่ปีงบ 53 มีถึง 50,920.9 ล้านบาท อีกทั้งดอกเบี้ยจากเงินกู้ในอดีต 178,000 ล้านบาท ยังต้องมีการกู้มาชำระดอกเบี้ยของหนี้ ซึ่งเท่ากับ 42.38% ของเงินกู้ในปีงบ 54 หากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ ประเทศจะมีหนี้เพิ่มขึ้นมาก โดยตั้งแต่ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึงกว่า 800,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 43% ของรายได้ประชาชาติ และภายในสิ้นปีนี้ รัฐจะต้องกู้หนี้เพิ่มขึ้น ทำให้ หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นถึง 50% ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือทางการเงินการคลังของประเทศลดลง
"หนี้สาธารณะที่ 50% บางคนอาจอ้างว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่อย่าลืมว่า ประเทศไทยมีฐานรายได้จากภาษีเพียง 17% หากหนี้สาธารณะสูงเกินไป จะทำให้การใช้หนี้ของประเทศมีปัญหา โดยแบงก์ชาติได้ออกมา เตือนเป็นครั้งที่ 2 แล้วสำหรับการใช้งบเพื่อ ประชานิยมมากเกินไปของรัฐ โดยไม่รู้วิธีการหารายได้เพิ่ม ซึ่งจะสร้างปัญหาการคลังให้กับประเทศ หากไทยยังมีผู้จ่ายภาษีจริงเพียง 2.3 ล้านคน จากขึ้นทะเบียน 9 ล้านคน และมีเพียง 60,000 คนที่เสียภาษีถึง 37% และในจำนวนนี้ มีเพียง 2,400 คนที่เสียภาษีเกิน 10 ล้านบาท ประเทศไทยคงจะไม่พัฒนา และที่สำคัญคือ อย่าให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่อยากจ่ายภาษีเพื่อให้ไปคอรัปชันกัน".
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น