วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บทความพิเศษ พิชิต ชื่นบาน :ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย หรือปัญหาการตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 go6TV - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชิต ชื่นบาน ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พิชิต ชื่นบาน (https://www.facebook.com/pichitofficial) โดยมีเนื้อหาดังนี้



บันทึกที่เห็นต่าง เรื่องเลือกตั้ง : ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย หรือปัญหาการตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง

เรื่องการดำเนินการเลือกตั้งกรณีไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 28 เขตเลือกตั้ง (8 จังหวัดภาคใต้) ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ ให้มีการกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้งเพิ่มเติม โดยการตราพระราชกฤษฎีกา โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้ง

ในเรื่องนี้ หากนำมาเรียบเรียงสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 และ กกต.ได้มีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 กำหนดวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2556 ถึงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 นั้น

ณ วัน เวลา ที่กำหนดให้มีการรับสมัครข้างต้นรวม 5 วันทำการ ใน 28 เขตเลือกตั้ง (8 จังหวัดภาคใต้) มีผู้สมัครไม่ใช่ไม่มีผู้สมัคร และเนื่องจากมีการชุมนุมประท้วงขัดขวางการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งการสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถรับสมัคร และผู้สมัครไม่สามารถยื่นหลักฐานและใบสมัครได้ ข้อเท็จจริงในเวลานั้น ผู้สมัครต้อง ดิ้นรนเพื่อให้เกิดสิทธิเป็นผู้สมัคร 
โดยนับแต่วันที่ 1 ม.ค. 57 บรรดาผู้สมัครก็ได้ขอความเป็นธรรมและขอร้องต่อ กกต.เพื่อ ขยายระยะเวลารับสมัครออกไป และขอให้แก้ไขประกาศ ระเบียบ และวิธีการรับสมัครเสียใหม่ ให้สามารถยื่นหลักฐานและใบสมัครได้ แต่ กกต. ไม่เคยมีคำตอบให้แก่ผู้สมัคร 

อีกทั้งเลขา กกต. ยังแนะนำให้ผู้สมัครไปใช้สิทธิทางศาล โดยยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครก็จำยอมปฏิบัติตาม โดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ได้สิทธินั้น แม้ศาลจะยกคำร้องของผู้สมัคร แต่ในคำสั่งของศาลก็ยังคงมีคำวินิจฉัยที่สำคัญต่อทางออกของปัญหาที่ผู้สมัครมายื่นคำร้องต่อศาล คือ อำนาจหน้าที่ในการควบคุม หรือจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญโดยมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 

เหตุที่ต้องเรียบเรียงข้อเท็จจริงรวมทั้ง วัน เวลา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อันเป็นสภาพปัญหาก็เพื่อจะให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดพิจารณาว่า ตกลงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากบุคคลผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย หรือปัญหาการตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง คือ 

1. การขยายระยะเวลารับสมัครสามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ทำไมเพิกเฉยไม่ดำเนินการ


นับตั้งแต่มีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ยังมีประกาศคณะกรรมการ
การเลือกตั้งอีก 3 ครั้ง คือ วันที่ 14 , 24 มกราคม และ 6 กุมภาพันธ์ 2557 ในเรื่องการย่นหรือขยายระยะเวลา หรืองดเว้นการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งเสียใหม่ในหลายกรณี และประการสำคัญคือมีการขยายระยะเวลาในการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ซึ่งเป็นปัญหาที่เล็กน้อยกว่า การที่ผู้สมัครรับสมัครไม่ได้ กกต. ยังยอมขยายระยะเวลาให้ และโดยข้อเท็จจริงแล้ว นับแต่เมื่อมีผู้สมัครร้องขอให้ขยายระยะเวลาการรับสมัคร และศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำวินิจฉัยยกคำร้องนับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม ต่อเนื่องติดต่อกันจนถึงวันที่ 24 มกราคม 2557 รวม 23 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาพอสมควร 


และก่อนวันเริ่มลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 26 มกรามคม 2557 ที่ กกต. สามารถจะขยายระยะเวลารับสมัคร และแก้ไขประกาศระเบียบ และวิธีการเพื่อให้เกิดการรับสมัครได้ โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายโดยเฉพาะ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 9 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจย่นหรือขยายระยะเวลาในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ แต่ทำไมไม่ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งมีอยู่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อันเป็นเหตุให้เกิดปัญหาที่ต้องมาจัดการเลือกตั้งภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 

ข้ออ้างที่ว่า การขยายระยะเวลาจะกระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง ต่อมาอ้างว่าการดำเนินการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ กรณีไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งแม้ที่ผ่านมาไม่เคยมีแนวทางปฏิบัติมาก่อน และการเลือกตั้ง ส.ส.ตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ยังไม่เสร็จสิ้น หรืออำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 235 และ 236 (1) มีขอบเขตจำกัดให้กระทำได้เท่าที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น และไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจและอาจเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ข้ออ้างทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่เป็นข้อขัดแย้งต่อการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งทั่วไปทั้งสิ้น 
เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ใช้อำนาจตามกฎหมายมีประกาศให้ย่นหรือขยายระยะเวลาการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งในเรื่องอื่นๆ รวม 3 ครั้ง ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งทั่วไป และหลังวันเลือกตั้งทั่วไป เช่น ประกาศเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2557 แต่ในเรื่องนี้กลับละเลย เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจที่มีอยู่ 

ดังนั้น ระหว่างการออกประกาศให้ขยายระยะเวลาในการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งกระทำผิดรัฐธรรมนูญเพราะไม่ไปเลือกตั้ง กับการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะให้ขยายระยะเวลาในการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เรื่องใดสำคัญกว่ากัน และหากขยายระยะเวลารับสมัคร ณ เวลาที่ตนสามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้ ก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป ( 2 ก.พ. 2557) ก็จะไม่มีปัญหาที่ กกต. ต้องมาทำหนังสือขอให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ใช่หรือไม่

2. อำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย


พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เป็นกฎหมายเพื่อเป็นประตูให้มี ส.ส.จำนวน 500 คน การใช้อำนาจหน้าที่เพื่อให้มี ส.ส. 500 คนนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ซึ่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้ไว้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะใช้อำนาจเพื่อเป็นเครื่องมือของตนในการผลิต ส.ส.จำนวน 500 คน เพื่อให้มีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 127 ประกอบมาตรา 93 


ดังนั้น เมื่อมีการขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้งทำให้ไม่สามารถรับสมัครได้ คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องออกประกาศขยายการรับสมัครเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ผู้สมัคร ส.ส.ครบทั้ง 375 เขต ในเวลาที่มีปัญหาเพื่อให้การจัดการรับสมัคร ส.ส.ครบทุกเขตก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป (2 ก.พ.57) ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น ผู้สมัครก็จะไม่เสียสิทธิ กกต.ก็ได้ทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามกฎหมาย และมีข้อคิดว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ประกอบ พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. รวมทั้งประกาศและระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งใช้บังคับกับการเลือกตั้งมาหลายครั้งแล้ว โดยไม่มีปัญหาในเครื่องมือที่ใช้แต่ประการใด เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องนำมาพิจารณาด้วย ทำไมครั้งนี้จึงเป็นปัญหา

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันพิจารณาและหาคำตอบว่า ปัญหาจากการเลือกตั้งที่ไม่เสร็จสิ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เกิดจากปัญหาการบังคับใช้กฎหมายภายหลัง พ.ร.ฎ.ยุบสภา 2556 หรือเป็นปัญหาการตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ฯ หากถือเป็นปัญหาที่ต้องตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้ว จะเป็นการตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ที่ซ้ำซ้อน ฟุ่มเฟือย และสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากเห็นว่า ปัญหาเกิดจากตัวบุคคลผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ใช่เกิดจากปัญหาการตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้ว หากเอาประเทศเป็นตัวตั้ง ต้องช่วยกันทำความถูกต้องครับ

ไม่มีความคิดเห็น: