วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

“เพื่อไทย” แถลง 8 ข้อ ชี้ เลือกตั้ง 2 ก.พ. ไม่ “โมฆะ”



วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 go6TV – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น.ที่พรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย รวม 8 ข้อ ดังนี้

1.การเลือกตั้งที่ผ่านมาเกิดจากพระราชกฤษฎียุบสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 108 บัญญัติให้วันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

2.การกำหนดให้วันเลือกตั้งต้องกำหนดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรนั้น มีการบัญญัติเป็นครั้งแรกโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 มาตรา 97 และเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดบังคับว่าบุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 68 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 72

3. เมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และพ.ศ. 2550 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ที่บุคคลต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ก็ได้กำหนดให้มีกฎหมายลงโทษไว้ด้วย นั่นคือ การเสียสิทธิต่างๆ ในหลายกรณี เช่น การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกหรือฝ่ายบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเป็นส.ส.หรือ ส.ว. การเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ การเข้าชื่อถอดถอน และการเสนอร่างกฎหมาย

4.การใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นเพียงสิทธิ ไม่ใช่หน้าที่ จึงไม่มีกฎหมายลงโทษ และการเลือกตั้งทั่วไปก็กำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งในต่างประเทศและการเลือกตั้งล่วงหน้า หากในวันเลือกตั้งทั่วไปหน่วยเลือกตั้งใดมีปัญหา เช่น การจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็น ก็สามารถเลื่อนวันลงคะแนนได้ ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นและได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่เคยถือว่าไม่ใช่การเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

5.เมื่อกำหนดให้การใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งตั้งแต่พ.ศ. 2541 จึงกำหนดให้มีการเลือกตั้งในต่างประเทศและการเลือกตั้งล่วงหน้า ดังนั้น ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา การเลือกตั้งทั่วไปจะมี 3 ช่วงคือ การเลือกตั้งในต่างประเทศ ซึ่งมีช่วงวันเลือกตั้งประมาณ 78 วันแล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละประเทศ วันเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งกำหนด 1 วันคือ 1 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้งที่พระราชกฤษฎีกากำหนด และวันเลือกตั้งที่พระราชกฤษฎีกากำหนด ที่เรียกว่าวันเลือกตั้งทั่วไป

6.การเลือกตั้งทั่วไปที่พระราชกฤษฎีกากำหนดมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จึงไม่เคยมีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เพราะมีวันสำหรับการเลือกตั้งในต่างประเทศ และวันเลือกตั้งล่วงหน้ามาโดยตลอด

7.การที่กกต.ไม่อาจจัดให้มีการรับสมัครใน 28 เขตและการลงคะแนนในอีกหลายหน่วยเลือกตั้งนั้นมีสาเหตุหลัก 2 สาเหตุคือ กกต.ไม่พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วง ทั้งๆ ที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเต็มที่ และมีกลุ่มอนาธิปไตยและพรรคการเมืองบางพรรคไม่ร่วมมือและขัดขวางแม้ด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เองถึงกับประกาศไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่พรรคประชาธิปัตย์เห็นชอบ และพ.ศ.2550 กำหนดให้เป็นหน้าที่ ด้วยเหตุนี้ที่ทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 ไม่อาจดำเนินการไปได้ จึงเกิดจากความจงใจสร้างเหตุการณ์ทั้งหมดโดยกลุ่มบุคคลและพรรคการเมืองที่กล่าวมา เมื่อเป็นเช่นนี้ยังกล้าร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะอีกหรือ อีกทั้งยังอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เช่นเดิมอีก


8.ข้อที่น่าสังเกตคือ มีบุคคลหลายคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 อย่างต่อเนื่องว่า การกระทำของกลุ่มกปปส.และแนวร่วม เข้าข่ายความผิดฐานกบฏ ต้องการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งแสดงหลักฐานและข้อเท็จจริงมากมายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยกคำร้องโดยไม่ไต่สวนไปหลายคำร้อง ขณะที่บางคำร้องที่ยังคงอยู่ก็ไม่เคยนัดไต่สวนจนกระทั่งบัดนี้ จึงได้แต่หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยึดหลักประชาธิปไตยและหลักรัฐธรรมนูญที่เป็นสากลโดยเคร่งครัด

ไม่มีความคิดเห็น: