นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย เปิดเผยว่า
ขณะนี้ชาวนาส่วนใหญ่กำลังหวั่นวิตกรัฐบาลจะทบทวนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกซึ่งเกษตรกรจะได้รับผลกระทบแน่นอน
ในฐานะตัวแทนเกษตรกรได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำ
โดยไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะยกเลิกโครงการรับจำนำเพราะโครงการดังกล่าวช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศได้
อย่างไรก็ตาม
เกษตรกรส่วนใหญ่เข้าใจการกำหนดกรอบเพดานรับจำนำข้าวเปลือกที่ 15,000 บาท และ
20,000 บาทต่อตัน ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินมหาศาล
เพื่อช่วยให้ชาวนาสามารถขายข้าวตามเพดานที่กำหนด ซึ่งข้อเท็จจริงขณะนี้การกำหนดเพดานรับจำนำ
15,000 บาทต่อตัน เกษตรกรจะขายข้าวได้จริง 12,000-13,000 บาทต่อตัน
หากมีความชื้นสูงจะขายได้ 10,000-12,000 บาทต่อตัน
แต่เกษตรกรก็พอใจอัตราดังกล่าวแม้จะไม่สามารถขายข้าวได้ตามเพดานที่รัฐบาลกำหนด
ถือว่าขายไม่ขาดทุนพอมีเงินเหลือเลี้ยงครอบครัว จึงเห็นว่ารัฐบาลควรจะเดินหน้าโครงการรับจำนำ
แต่อาจจะปรับเกณฑ์วิธีการหรือเพดานรับจำนำลง และเท่าที่มีการสอบถามเกษตรกรส่วนใหญ่
หากรัฐบาลกำหนดเพดานการรับจำนำข้าวสุทธิ 10,000 บาทต่อตัน เกษตรกรรับภาระตรงนี้ได้
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการปรับตัวของเกษตรกรทั่วประเทศ
ทางสมาคมฯ เตรียมหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ต่าง ๆ
ด้วยการลดต้นทุนการผลิต โดยจะเชิญสมาชิกร่วมจัดทำโครงการร้านสวัสดิการชาวนา
จะให้มีการจัดตั้งร้านโบนัสจะจำหน่ายสินค้าปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง
และอื่น ๆ ให้เกษตรกรเข้าร่วมเป็นสมาชิกราคาต่ำกว่าท้องตลาด เช่น ปุ๋ย ราคา 800
บาท ร้านสวัสดิการเหลือ 700-750 บาท
เมื่อดำเนินการสักระยะหากมีกำไรสมาชิกจะได้สินค้าราคาถูกและเงินปันผล
ซึ่งในอนาคตจะพยายามลดต้นทุนการเพาะปลูกของชาวนา
จากปัจจุบันต้นทุนต่อไร่ในการเพาะปลูกข้าว 6,000-7,000
บาท เมื่อมีการปรับตัวและดูแลกันเองน่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตเหลือ 4,000 บาทต่อไร่ ทำให้เกษตรกรชาวนาทั่วประเทศอยู่รอดได้ โดยเร็ว ๆ
นี้จะนำร่องร้านโบนัส มีนบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น