วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

"ชยิกา" ห่วง "กลุ่มแพทย์ชนบท" เข้าใจผิด ตกเป็นเครื่องมือ "คนจ้องล้มรัฐบาล"

วันที่ 12 มิถุนายน 2556 go6TV - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อมูลบนเฟสบุ๊กส่วนตัว https://www.facebook.com/Sand.Chayika  เตือน "กลุ่มแพทย์ชนบท" ระวังเข้าใจผิด โดยระบุว่า “เป็นห่วง” ว่าการ “เข้าใจผิด” ในครั้งนี้จะนำไปสู่ “การตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง” ของ “คนบางกลุ่ม” ที่ “ตั้งแง่เพื่อล้มรัฐบาล” โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะ“หาทางออกร่วมกัน” จริงๆ สักเท่าไร !!! 

ทั้งนี้ นางสาวชยิกา โพสต์ข้อความดังนี้


ระวัง “เข้าใจผิด” !! โดย น.ส. ชยิกา วงศ์นภาจันทร์

วันที่ 11 มิถุนายน 2556

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพในการไกล่เกลี่ย “สร้างความเข้าใจ” ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข และ ชมรมแพทย์ชนบท ภายหลังจากที่ชมรมแพทย์ชนบท ออกมา “เรียกร้อง” ให้ยกเลิก “พีฟอร์พี” หรือการจ่ายเงินตามผลงาน เนื่องจากต้องการใช้ระบบเดิมที่เป็นระบบเหมาจ่าย 

โดยในวันนั้นผู้แทนแพทย์ชนบท ที่เข้าร่วมประชุม มาจาก 3 กลุ่มคือ (1) กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ (2) กลุ่มสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม (3) กลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน 

การประชุมในวันนั้นเป็นการประชุมเปิด ซึ่งมีสื่อมวลชนเข้ารับฟังอย่างคับคั่ง ซึ่งก็เป็นเพราะความตั้งใจภาครัฐ ที่ต้องการจะแสดงให้เห็นถึง “ความจริงใจในการเปิดรับฟัง” ข้อมูลจากฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบ จากการปรับปรุงการให้บริการของกระทรวงสาธารณสุข 

ผู้แทนแพทย์ชนบททั้ง 3 กลุ่ม ได้ยื่นข้อเสนอรวมทั้งหมด 12 ข้อ ทว่า “สาระสำคัญ” ของการประชุมหารือในครั้งนี้ ก็คือเรื่อง “พีฟอร์พี” 

ซึ่งทาง “เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน” ได้ชี้แจง ในฐานะ “ผู้ได้รับผลกระทบ” ได้ชี้แจงว่า แพทย์ในกลุ่มโรงพยาบาลชุมชนในบางพื้นที่ อาจได้รับค่าตอบแทนที่ลดลง กรณีที่มีการปรับการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P) พร้อมยื่นข้อเสนอทั้งหมด 4 ข้อ คือ (1) การคงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ 6 เหมือนเดิม (2) การปรับปรุงระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เป็นธรรมกับวิชาชีพอื่นๆ (3) การตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมทบทวนการกำหนดพื้นที่ (4) การยกเลิกการใช้ P4P ในโรงพยาบาลชุมชน 

เมื่อได้ฟังข้อร้องเรียน น.พ. ประดิษฐ ก็ชี้แจงทันทีว่า “หลักการของระบบค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P) นั้นที่สำคัญที่สุดคือจะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพการบริการต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน การคงบุคลากรทางการแพทย์ให้อยู่ในชนบทเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งมาตรการหนึ่งที่จำเป็นคือมาตรการทางการเงิน ต้องมีมาตรการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ไม่ได้คิดจะดึงผู้ที่มีรายได้สูงให้มีรายได้ต่ำลง แต่จะหาวิธีฉุดผู้ที่มีรายได้น้อยให้มีรายได้มากขึ้น ซึ่งพีฟอร์พี เป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยได้” 

ที่ประชุมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การทำพีฟอร์พี จะเป็นไปตามบริบทของพื้นที่ ที่จัดให้เหมาะสม ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 โดยให้กระทรวงสาธารณสุขไปปรับปรุงรายละเอียด หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและเตรียมความพร้อมให้กับโรงพยาบาลชนบททุกแห่งสามารถทำพีฟอร์พีได้

และระหว่างนี้ ในโรงพยาบาลที่ได้ดำเนินการมาแล้ว ตั้งแต่ 1 เมษายน 2556 อาจมีผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นก็จะต้องได้รับการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี 

สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลที่ยังไม่ได้ดำเนินการ อันเนื่องมาจากความไม่พร้อมของกระทรวงสาธารณสุข หรือความไม่ชัดเจนของข้อมูลจนไม่สามารถที่จะทำได้ ก็จะได้รับการชดเชย 

ภายหลังที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกัน ก็จะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทำหน้าที่ 2 ประการ คือ

1) ปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรคหรือไม่สอดคล้องแต่ละพื้นที่หรือระดับของหน่วยบริการให้ชัดเจน เพื่อเป็นหลักการที่ทุกคน “สามารถร่วมปฏิบัติได้” เพื่อพัฒนาพีฟอร์พีให้เหมาะสมกับบริบทของหน่วยบริการแต่ละระดับ และให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอยู่ในระบบได้ 
2) คิดมาตรการชดเชย เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตาม ฉบับ 8 และการทำพีฟอร์พี ตามฉบับ 9 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ได้มีการดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ 1 เมษายน 2556 
โดยคณะทำงาน จะต้องมาจากบุคลากรทุกวิชาชีพ สถานบริการแต่ละระดับ เนื่องจาก “พีฟอร์พี” เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหลายวิชาชีพ เพื่อพัฒนาการให้บริการด้านสุขภาพต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม กลับมีข่าวตามมาว่า ภายหลังการประชุมหารือกับทางกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556 แล้ว “ชมรมแพทย์ชนบท”ได้กลับไปพูดคุยกับแนวร่วม และเกิดเสียงแตกออกเป็น 2 สาย คือ “กลุ่มที่เห็นด้วยกับมติที่ประชุม” และ “กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย” ซึ่งเป็นที่มาของเหตุผลการขอดูท่าทีของ น.พ.ประดิษฐ ว่าจะนำข้อสรุปดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือไม่ และจะรายงานผลการประชุมหารือต่อคณะรัฐมนตรีอย่างไร และหากเกิดกรณี “บิดพลิ้ว” กลุ่มแพทย์ชนบท ก็จะออกมาเคลื่อนไหวด้วยการชุมนุมหน้าบ้านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 20 มิถุนายน 2556 แน่นอน

วันนี้ 11 มิถุนายน 2556 แอดมินเฟซบุ๊ก “ชมรมแพทย์ชนบท” ได้ทำการโพสต์มีข้อความตอนหนึ่งว่า “หลังการเจรจาวันที่ 6 แพทย์ชนบทก็ยังทำงานกับทีมเลขา เพื่อให้ได้เอกสารเข้า ครม.ที่ชัดที่สุด และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็ได้เอกสารเข้า ครม.ครบและตรงตามที่ฝ่ายเราตั้งใจไว้ และมติ ครม.ก็รับทราบตามเอกสารผลการเจรจาที่นำเสนอ แต่หลังการประชุม ครม. ประดิษฐกลับกลอก ออกมาบอกแต่ประเด็นในมุมของตนเอง นำเอกสารแนบนำเข้าที่มาจากปีกกระทรวงสาธารณสุขมาชี้ประเด็น ซึ่งตรงกันข้ามกับเอกสารสรุปผลการเจรจา ตอนนี้จึงพอจะเห็นชัดแจ้งแล้วครับ ว่าคนที่หักหลังทำตัวกลิ้งกลอกคือประดิษฐ ออกมาดิ้นแถไถนอกวง ครม.คงเพราะทำอะไรไม่ได้ในวง ครม.ไม่ได้ แบบนี้เราชาวโรงพยาบาลชุมชนและเครือข่ายออกมาไล่ประดิษฐก็ถูกต้องแล้ว สงสัยว่านอกจากไปฟ้องนายกปูให้ปลดประดิษฐแล้ว ยังต้องไปชุมนุมที่หน้าบ้านประดิษฐด้วย จะได้ไปตะโกนดังๆว่า pradit get out ครับพี่น้อง” 

เห็นทีคราวนี้ คงต้องใช้สำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “Lost in Translation” หรือ ข้อมูลตกหล่น หลงทางระหว่างการตีความ จนทำให้เกิดการเข้าใจผิดระหว่างทางเป็นแน่ เพราะสรุปมติที่ประชุมในวันที่ 4 และ 6 มิถุนายน 2556 ทั้งหมดได้ถูกบันทึกเป็นเอกสารประกอบ1-6 ในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันจันทร์ ที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อต้องการแสดงเจตนาว่า “ผู้แทนรัฐบาล” พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของ “กลุ่มแพทย์ชนบท” อย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะประนีประนอมเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อทั้ง “ประชาชนผู้ให้บริการ” ที่ทำงานเสียสละ และ “ประชาชนผู้รับบริการ” ผู้เจ็บป่วย ด้วยการจัดประชุมสืบเนื่อง 

ในวันนี้ (วันที่ 12 มิถุนายน 2556) เวลา 16.00 น. รมว. สาธารณสุข จะเป็นประธานเพื่อหารือในการจัดตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินหน้าเร่งทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงเรื่องโครงสร้างอายุ ขนาดโรงพยาบาล และพื้นที่ในการทำงาน และหาข้อสรุปสำหรับแนวทางในการเสนอมาตรการเยียวยา เพื่อสามารถทำหลักเกณฑ์ให้แพทย์ชนบทอยากทำพีฟอร์พีได้ก็จะเป็นเรื่องที่ท้าทายของกระทรวงสาธารณสุข โดยยึดหลักประชาธิปไตย เป็นอิสระในการเลือกของแต่ละกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งหมายถึงการ “ไม่บังคับกัน” และในขณะเดียวกันไม่เกิดผลกระทบกับคนอื่นๆด้วย

การงานนี้ไม่รู้อะไรเป็นอะไร เหตุใดจึงเกิดการเข้าใจผิด แต่ที่แน่ๆ “เป็นห่วง” ว่าการ “เข้าใจผิด” ในครั้งนี้จะนำไปสู่ “การตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง” ของ “คนบางกลุ่ม” ที่ “ตั้งแง่เพื่อล้มรัฐบาล” โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะ“หาทางออกร่วมกัน” จริงๆ สักเท่าไร !!!

credit ภาพ: http://www.facebook.com/photo.php?fbid=664372873589873&set=a.628247020535792.1073741827.142436575783508&type=1&theater

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ชยิกา" FB เผยผลหารือแพทย์ชนบท ข้อมูลเอกสาร "การสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ"
http://www.go6tv.com/2013/06/fb_11.html

ไม่มีความคิดเห็น: